ปิยบุตร ช้ำพ่ายเลือกตั้ง อบจ. เตรียมสู้ใหม่เทศบาล

‘ปิยบุตร’ เผย ศึกการเลือกตั้ง อบจ. ยอมรับว่ายังทำงานไม่กันไม่เพียงพอ จะเปลี่ยนแปลงการเมืองท้องถิ่นต้องใช้เวลา ปรับยุทธศาสตร์ กลับไปทำการบ้าน เตรียมสู้ศึกเลือกตั้งเทศบาล

วันที่ 8 มกราคม 2563 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์กับมติชนถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นในส่วนของนายกเทศมนตรี ว่า หลังจากเสร็จศึกการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยอมรับว่า ยังทำงานไม่กันไม่เพียงพอ แต่ท้ายที่สุด ดีใจอย่างหนึ่งคือการลงสนามครั้งนี้ แม้จะไม่สำเร็จในการชนะการเลือกตั้ง

แต่อย่างน้อยน่าจะประสบความสำเร็จในแง่ของการเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองในการเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้สมัครคู่แข่งก็ต้องทำงานหนักมากขึ้น จะนอนมาเหมือนครั้งที่ผ่านมาไม่ได้ เมื่อพวกตนลงไปแข่งในจุดนั้น ซึ่งผลประโยชน์ก็ตกอยู่ที่ประชาชน

“การเปลี่ยนแปลงการเมืองท้องถิ่น ซึ่งมีวัฒนธรรมการเมืองแบบเดิมมายาวนานจำเป็นต้องใช้เวลา ดังนั้นครั้งหน้าก็จะเริ่มทำการบ้านใหม่ จะเริ่มต้นกันใหม่และยังเชื่อว่าแม้ อบจ. เราจะไม่ประสบความสำเร็จ เทศบาลที่จะมาถึง ก็ตั้งใจทำอีก ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่อง ทุก ๆ การลงสนามการเลือกตั้งของเรา คือโอกาสการสร้างการเมืองแบบใหม่ขึ้นทุกครั้ง”

“ส่วนผลลัพธ์จะประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จนั้น ไม่เป็นไร ว่ากันอีกที ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจากบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ก็มีการพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลาว่า จะมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ คิดว่าใกล้ ๆ คงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ จากการถอดบทเรียนเลือกตั้ง อบจ. ของเรา”

นอกจากนี้ นายปิยบุตร ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการเลื่อนประชุมสภาผู้แทนราษฏร วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ซึ่งอาจทำให้กระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องของรัฐธรรมนูญ ปัญหาตรงนี้ชัดตรงกันที่สุดว่า อย่างไรก็ต้องแก้ไข เป็นฉันทามติของสังคมแล้ว แต่อยู่ที่จะแก้ให้เป็นรูปแบบใด

ในความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่า ไม่เพียงแค่เรื่องเวลาที่ถูกล่าช้าออกไป จะทำอย่างไรให้สังคมเข้าใจ ว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นความจำเป็นต้องแก้ใหญ่ทั้งหมด เรื่องระยะเวลาสำคัญมาก สังคมมองโดยตลอดว่า เสียงข้างมากในเวลานี้ในวุฒิสภา ไม่ได้มีควาามตั้งใจจริงที่อยากจะแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นเขาก็จะวิพากษ์วิจารณ์ต่อไปว่า ในท้ายที่สุดแล้วจะมีการยื้อเวลาต่อไปอีกเรื่อย ๆ หรือไม่ เริ่มต้นการแก้จริง ๆ แต่กว่าจะแก้เสร็จใช้เวลานาน

ในความเห็นส่วนตัวมองว่า การแก้ไขต้องทำอย่างสม่ำเสมอ แต่กว่าจะไปถึงวันนั้น คิดว่านาน ซึ่งอาจจะหมดวาระสภาไปแล้วซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะแก้เสร็จหรือไม่ ดังนั้นช่วงเวลาระหว่างทาง จำเป็นต้องแก้บางเรื่อง บางมาตราไปก่อน เช่นเรื่องอำนาจ ส.ว. จะทำอย่างไร เรื่ององค์กรอิสระจะทำอย่างไร เพราะถ้าหากวันดีคืนดี เกิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ลาออกหรือยุบสภา และมีการเลือกตั้งใหม่ขึ้นมา แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับยังไม่เสร็จ เท่ากับเราต้องเอากติกา 60 มาใช้ต่ออีกรอบหนึ่ง

ดังนั้น ควรวิ่งทั้งสองทาง ทางที่หนึ่ง เปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) รอไว้ก่อน ซึ่งไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่ แต่ระหว่างนี้ก็จำเป็นต้องเอาเรื่องรายมาตรามาแก้เหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งอีกเมื่อไหร่ อาจจะมีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่เห็นว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ คนที่มีส่วนในการแก้รัฐธรรมนูญมักจะคิดว่า ต้องการแก้เรื่องระบบเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมือง และมีความฝันกันว่าย้อนกลับไปสู่วันชื่นคืนสุขในอดีต นั่นคือ รัฐธรรมนูญ 40 ทำราวกับว่า ตอนนี้ไม่ไหว ถ้าอยากกลับไปสู่ประชาธิปไตย เอารัฐธรรมนูญ 40 กลับมาใช้ รัฐธรรมนูญ 40 ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในความเห็นตนสถานการณ์การเมืองเดินทางมาไกลมากแล้ว

“การแก้รัฐธรรมนูญ เพียงแค่กลับไปสู่ก่อน 19 กันยายน 2549 น่าจะไม่เพียงพอ การแก้รัฐธรรมนูญ โดยการเอารัฐธรรมนูญ 40 มาใช้น่าจะไม่เพียงพอ เพราะเสียงเรียกร้องที่อยู่ข้างนอกไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นเสียงเรียกร้องที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย เสียงเรียกร้องที่พูดคุยกันในหมู่คณะอนาคตของชาติ เยาวชน ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเรื่องของการปฎิรูปสถาบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเรื่องขององค์กรอิสระ เรื่องเหล่านี้ถ้าเราไม่เข้าไปปฏิรูป ไม่ไปแก้ไข คิดว่าไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ ดังนั้นเป็น 2 เรื่องคือ เรื่องของระยะเวลาที่จะถูกทอดยาวออกไป และอีกเรื่องคือเนื้อหา”