“เพื่อไทย” จ่าย 3 เดือน 1.5 หมื่น ตั้งกองทุนอุ้ม SMEs

ในยามวิกฤตโควิดรอบ 2 เป็นศึกท้าทายรัฐบาลตั้งแต่ต้นปี 2564

2 กูรูเศรษฐกิจ เพื่อไทย จึงออกมาเสนอแผนมาตรการทั้งด้านการเงิน-การคลัง ให้นำไปใช้

“กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ เสนอให้ใช้มาตรการทางการเงินที่ไม่ใช้ในยามปกติ ให้รัฐตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 1 ล้านล้านบาท โดยไม่ผ่านกลไกของสถาบันการเงินพาณิชย์

เชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยลดความเสี่ยงของหายนะทั้ง 4 ด้าน คือ 1.คนตกงานจำนวนมาก 2.ภาคธุรกิจต้องปิดกิจการ 3.ภาคธนาคารขาดเสถียรภาพ จนไม่สามารถทำหน้าที่ได้ และ 4.การคลังของประเทศจะล้มละลาย

การใช้มาตรการทางการเงินจึงขยับเข้ามาช่วยในยามที่วิกฤต ในการสร้างสภาพคล่อง เพราะที่ผ่านมา มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ที่รัฐบาลออกมานั้นไม่สามารถผลักดันเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ เพราะตั้งเงื่อนไขมากมาย ซึ่งรัฐต้องผ่อนปรน แก้ไขข้อจำกัดและเงื่อนไขที่เข้มงวด เพื่อทำให้มาตรการทางเงินสามารถเข้าถึงผู้ประกอบการให้ได้มากที่สุด

รัฐบาลควรให้ความรู้ ให้ประชาชนใช้ชีวิตประจำวันให้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด ก็จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้เสียหาย

“หากเกิดอะไรขึ้นกับกองทุนนี้ไม่ได้รับเงินคืนมาบางส่วนไม่ทำให้ระบบการเงินของประเทศเสียหาย”

ขณะที่มาตรการทางการคลัง “พิชัย นริพทะพันธุ์” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ เสนอมาตรการเยียวยา 1.กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีประกันสังคม เช่น อิสระ ลูกจ้าง กลุ่มเปราะบางและเกษตรกร คนละ 15,000 บาท แบ่งจ่ายเดือนละ 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน

สำหรับนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของรัฐ และเงินสนับสนุนคนละ 18,000 บาท แบ่งจ่ายเดือนละ 6,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับในพื้นที่ควบคุมสูงสุด

2.อุดหนุนภาระดอกเบี้ย สำหรับผู้ที่ผ่อนรถยนต์ คอนโดมิเนียม และบ้านอยู่อาศัย ผู้ได้รับผลกระทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน 3.ขยายระยะเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมวันที่ 31 มี.ค. 2564 เป็นวันที่ 31 ส.ค. 2564 4.ลดค่าน้ำ ค่าไฟ 3 เดือน

มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.เจรจาแหล่งก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาการทำแลนด์บริดจ์ ในพื้นที่ภาคใต้ รัฐบาลเคยรับคำแนะนำว่าจะไปดำเนินการแต่ก็หายเงียบไป

2.การลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มระบบราชการของไทยทั้งหมด โดยเริ่มจากแพลตฟอร์มทางการคลัง และระบบภาษี เพื่อให้มีประสิทธิภาพ ลดขนาดราชการ และป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น

และ 3.การแก้ไขระบบศุลกากรที่เป็นปัญหา