“เราชนะ-เราไม่ทิ้งกัน” 3 องค์กรฟอกขาว-ลุ้นฝ่าด่านฝ่ายค้าน

ถึงคราวที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กวาดเงินในเก๊ะทุกเก๊ะมาแก้ปัญหาการระบาดโควิด-19 ระลอกสอง

สู่โครงการ “เราชนะ” เป็นภาคต่อของโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน”

จ่ายให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยออกมาตรการเยียวยา 3,500 บาท ระยะเวลา 2 เดือน

ทว่า การใช้เงินกู้สู้โควิด-19 ในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” แรกเริ่มถูกจับตามองจากพรรคการเมืองซีกฝ่ายค้านว่า งบฯเงินกู้กว่า 1.9 ล้านล้าน อาจกลายเป็น “เค้กก้อนโต” จุดเริ่มต้นของการทุจริต

แต่เกมดันพลิก เมื่องบฯโควิด-19 เม็ดเงินนับล้านล้านบาท ถูกจับจ้องเป็นพิเศษ รัฐบาลจึงรัดเข็มขัด-เข้มงวดการเบิกจ่าย

สั่งองค์กรตรวจสอบทั้งอิสระ-ไม่อิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ช่วยกันครอสเช็ก

แถมยังมีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

สภาผู้แทนราษฎร ที่ริเริ่มโดยพรรคฝ่ายค้าน “ก้าวไกล” ให้ตั้ง กมธ.ขึ้นตรวจสอบการใช้งบประมาณ

อย่างไรก็ตาม แม้ประธาน กมธ.จะเป็นคนภายใต้พรรครัฐบาล คือ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ แต่ภายหลัง กมธ.เดินเครื่องไป 7 เดือนเต็ม ตั้งแต่ 11 มิถุนายน 2563 “อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์” ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ในฐานะโฆษก กมธ. “ยังไม่พบว่ามีการทุจริต พบเพียงการเบิกจ่ายที่ล่าช้า” จากการติดตามการฟื้นฟูผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบแรก พบว่าบางโครงการรัฐบาลอนุมัติแล้ว แต่ยังไม่เบิกจ่าย

ขณะที่ฟาก “ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม” ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย (พท.) ฐานะโฆษก กมธ. ระบุว่า ที่ผ่านมาไม่พบพิรุธอะไร แต่สิ่งที่ติดใจ คือความจริงใจของรัฐบาลต่อการแก้ปัญหา ส่วนการกู้เงินที่ผ่านมา เช่น พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ที่ให้ธนาคารปล่อยกู้กับผู้ประกอบการ และธนาคารได้รับส่วนต่างเป็นดอกเบี้ยนั้น เป็นการเอื้อให้กับพรรคพวกตนเอง ขณะที่ผู้ประกอบการซึ่งเดือดร้อนเข้าไม่ถึง

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ในวันพุธที่ 20 มกราคม 2564 กมธ.จะมีการพิจารณาวาระสำคัญ โดยจะมีการขอมติที่ประชุม เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 พ.ศ. …(ซอฟต์โลน) หากที่ประชุมเห็นชอบจะเสนอเข้าที่ประชุมสภาให้ความเห็นชอบ

อีกด้านหนึ่ง จะชงข้อเสนอโดยตรงไปที่นายกฯ ให้นำร่าง พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ที่คณะกรรมาธิการได้เสนอต่อสภา เพื่อให้นายกรัฐมนตรีตราเป็น “พ.ร.ก.” เพื่อแก้ปัญหาได้ทันท่วงที

แทน พ.ร.ก.ซอฟต์โลนฉบับเก่า ให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ภายหลัง กมธ.เชิญเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเข้าหารือ

ด้าน “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” หัวหอกอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคก้าวไกลไม่มองเรื่องทุจริต แต่มองเรื่องประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ

พรรคก้าวไกลไม่ได้โฟกัสเรื่องทุจริต แต่ติดตามว่าใช้งบประมาณพบว่าไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชน เช่น พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ที่ตั้งเป้าช่วยเหลือไว้สูงส่ง ว่าจะช่วยผู้ประกอบการหลายแสนรายที่ขาดสภาพคล่อง แต่ขณะนี้ผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าถึงซอฟต์โลนได้ 73,848 ราย ยังไม่นับว่าจำนวนนี้เป็นผู้ที่ต้องการสภาพคล่องจริงหรือเปล่า หรือนำเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไปรีไฟแนนซ์ วงเงิน 5 แสนล้าน สุดท้ายใช้ไปแค่ 123,139 ล้าน ถือว่าล้มเหลว

แผนฟื้นฟูจากเงินกู้ 1 ล้านล้าน ใน พ.ร.ก.พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่กันไว้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน สำหรับการจ้างงาน รองรับการตกงาน อนุมัติไปแล้ว 139,000 ล้าน ปรากฏว่าผลเบิกจ่ายไปได้แค่ 37,436 ล้านเป็นเพราะระบบราชการชัดเจน อัตราการเบิกจ่ายแค่นี้จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจ จ้างงานใหม่ สร้างงานใหม่ เพื่อรองรับการตกงานได้อย่างไร

“ที่ใช้เยอะ ใช้เร็ว ส่วนใหญ่เป็นโครงการเยียวยาประชาชน เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง แต่การฟื้นฟูเศรษฐกิจภาพใหญ่ยังใช้เงินไม่เป็นไปตามประสิทธิภาพ ถือว่าล้มเหลว”

จาก “เราไม่ทิ้งกัน” ถึง “เราชนะ” แม้ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีการทุจริตหรือไม่

แต่ฝ่ายค้านเตรียมประเด็นซักฟอกไว้ล่วงหน้า เบิกจ่ายล่าช้า-เยียวยาล้มเหลว