“อัศวิน-จักรทิพย์” เปิดศึก เครือข่าย “บิ๊กป้อม” ชิงผู้ว่าฯ กทม.

ปี่-กลองเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ถูกเร่งเสียง-เพิ่มระดับความดังขึ้นอีกครั้ง เมื่อ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เปิดหน้า-เปิดเพจขันอาสา “ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯเสาชิงช้า” กลางสมรภูมิโซเชียลมีเดีย

“บิ๊กแป๊ะ” สลัดคราบ “นายตำรวจมาดขรึม” สวมบท “บุคคลสาธารณะ” ภายใต้สโลแกน “ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมสร้าง สะอาด ปลอดภัย แก้ปัญหาฉับไว”

พล.ต.อ.จักรทิพย์ต้นทุนทางสังคมสูงลิ่ว หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บยส.) รุ่นที่ 14 หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 13 โรงเรียนนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่น 41 กรมการปกครอง

จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่นที่ 36 เทียบเท่ากับเตรียมทหาร รุ่นที่ 20 (ตท.20) รุ่นเดียวกับบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก

“บิ๊กแป๊ะ” เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ “บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.คนปัจจุบัน และ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์-หวานใจ มาดามแป้ง แห่งอาณาจักรเมืองไทยประกันชีวิต

คอนเน็กชั่นแน่นปึ้กกับตึกไทยคู่ฟ้า ผ่านตำแหน่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และโดยตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นน้องรัก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีชื่อติดโผคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ 1 ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ขณะที่ “ผู้ว่าฯอัศวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน แม้จะเรียก “แชมป์เก่า” ได้ไม่เต็มปาก แต่ตุน “แต้มต่อ” เลื่อนชั้นจาก “รองผู้ว่าฯ กทม.” นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ใน “สถานการณ์พิเศษ” ตั้งแต่ “ยุค คสช.” ถึง 4 ปี 2 เดือน 31 วัน

จากคำสั่งหัวหน้า คสช. 64/2559 เด้ง “คุณชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ขณะนั้น และตั้ง “พล.ต.อ.อัศวิน” ขัดตาทัพแทน “สปอตไลต์” ฉายวับสะท้อนไปยังตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

อย่างไรก็ดี “พล.ต.อ.อัศวิน” ยังมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ “ผู้จัดการรัฐบาล” สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และขยับจาก “พล.ต.ท.” เป็น “พล.ต.อ.” ในตำแหน่ง “รอง ผบ.ตร.”

หลังจาก “พล.ต.อ.อัศวิน” เกษียณอายุราชการ ยังอยู่ “ใต้ร่มเงา” นายสุเทพ-เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และเป็น 1 ใน “ทีมงานรองผู้ว่าฯ กทม” ในยุค “คุณชายหมู”

เส้นทางการเมืองของ “พล.ต.อ.อัศวิน” จึงมี “ลุงกำนัน” แห่ง “ตึกทู แปซิฟิกฯ” เป็นสายใยบาง ๆ เชื่อมต่อ-ร้อยรัดระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับ พล.อ.ประยุทธ์

ทว่า “ความแน่นอน” คือ “ความไม่แน่นอน” ที่คิดว่า “ผู้ว่าฯอัศวิน” จะเป็น “ผู้ถือตั๋วใบสุดท้าย” ประทับตราจอดรถหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ขึ้นเวทีรักษา “เข็มขัดผู้ว่าฯ กทม.” อาจต้อง “ฝันสลาย”

ปรากฏการณ์ “พล.อ.ประยุทธ์หักอัศวิน” สะท้านจากสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ไปถึง “ลานคนเมือง” เมื่อ “พล.ต.อ.อัศวิน” ถูกดึงอำนาจกลับหลังจากประกาศห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านค้าหลัง 19.00 น.

มิหนำซ้ำ ล่าสุด “ผู้ว่าฯอัศวิน” ยังลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาทตลอดสาย ทั้งที่การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปียัง “คาราคาซัง” อยู่ในห้องคณะรัฐมนตรี

การออกประกาศดังกล่าวจึงเป็นการ “หักดิบ” ครม.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ “นั่งหัวโต๊ะ” ให้เห็นชอบ “ต่อสัมปทาน” โดยปริยาย กลายเป็น “ตอกลิ่ม” รอยร้าวระหว่าง “พล.อ.ประยุทธ์” กับ “ผู้ว่าฯอัศวิน” ให้ “ร้าวลึก” ลงไปอีก

“บิ๊กแป๊ะ” “ถือตั๋ว” พรรคพลังประชารัฐ

“ผู้ว่าฯอัศวิน” มี “ใบผ่าน” จาก “ตึกไทยคู่ฟ้า”

“2 บิ๊กกากี” คือ แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. จึงถูก “เคลม” ว่าเป็น “น้องรัก” ต่างสายเลือดกับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ศึกสีกากีเวอร์ชั่นบนพื้นปฐพี “ลานคนเมือง” ยกที่ 1 โหมโรงขึ้น แต่ยังต้องลุ้นกันถึงช่วง 100 เมตรสุดท้าย

ในซีกคนที่ “ตกที่นั่งลำบาก” มากที่สุดคงหนีไม่พ้น “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร “ผู้มากบารมี” เพราะต้องบริหารจัดการ “หย่าศึก” ทั้งคนในพรรค-นอกพรรค

คนในพรรค-ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ ระหว่าง “ก๊ก กทม.” ปีก “ศิษย์เก่าประชาธิปัตย์” บี-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์- “เสี่ยตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ “อดีต กปปส.” ต้องการส่ง “ทยา ทีปสุวรรณ” ศรีภรรยา ชิง “ผู้ว่าฯ กทม.หญิง” ภายใต้แคมเปญ 1+4

กับปีก “6 ส.ส.ดาวฤกษ์” นำโดย “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ “หัวหน้าก๊วน” สมาชิกได้แก่ 1.นายศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.เขตหนองจอก 2.นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.เขตคลองเตย-วัฒนา 3.น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.เขตราชเทวี-พญาไท-จตุจักร 4.น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.เขตบางกะปิ-วังทองหลาง และ 5.น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.เขตดุสิต-บางซื่อ และคนนอกพรรค-น้องรักต่างสายเลือด ระหว่างบิ๊กแป๊ะ-ผู้ว่าฯอัศวิน

แกนนำระดับสูงพลังประชารัฐ-ขุนพลใกล้ชิด “บิ๊กป้อม” เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตรจะ “ผ่าทางตัน” ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ในพรรค โดยใช้โมเดลเดียวกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) “ตัดปัญหา” ไม่ส่งลงสมัครในนามพรรค

“ลำพัง 2 กลุ่มใน กทม.ก็อยู่คนละขั้วแล้ว ไม่เผาผีกันแล้ว ตอนนี้ กทม.แตกโพละ ตั้น บี ไม่สามารถคุม กทม.ได้ ซึ่งการใช้แนวเดียวกับการเลือกตั้ง อบจ.น่าจะเป็นทางที่ดีที่สุด เพราะเป็นเรื่อง sensitive ยกตัวอย่างในพรรคเพื่อไทย คนที่จะลงผู้ว่าฯก็ทำให้แตกกัน เหมือนกัน สุดท้ายก็ต้องไปลงอิสระ”

“บิ๊กแป๊ะมีพันธมิตรเยอะ กับประชาธิปัตย์ก็มีสัมพันธภาพที่ดี”

ในทางยุทธศาสตร์ระยะยาวพลังประชารัฐคงต้องไป “ตกลง-เจรจากันนอกรอบ” เพราะถ้าต่างคน-ต่างลง จะ “เป็นโทษ” มากกว่า “เป็นคุณ” เพราะจะทำให้ “ตัดแต้มกันเอง” และ “เสียงแตก”

แต่ถ้าให้พรรคส่งคนใดคนหนึ่งลงความขัดแย้งภายในพรรค-พรรคแตกจะเกิดขึ้น

บทสรุปสุดท้ายตัวจริง-เสียงจริง “ผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17” ในโควตาพลังประชารัฐ จะเป็นใครต้องจับอารมณ์-หัวใจบิ๊กป้อม “ผู้กุมหัวใจคนในพรรค-เสียงกระซิบคนในบ้านนรสิงห์”