‘นฤมล’ เปิดใจ เบื้องหลัง ตีท้ายครัวฝ่ายค้าน ดูด ส.ส.เพื่อไทย ?

นฤมล เปิดอก หมดใจ เผยเบื้องหลัง ปิดห้องคุย ส.ส.เพื่อไทย ยืนยัน “เราบริสุทธิ์ใจ”

วันที่ 22 มกราคม 2564 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แกนนำกลุ่มบ้านป่ารอยต่อ เปิดเผยเบื้องหลังการ “ปิดห้อง” รัฐมนตรีช่วยแรงงาน พบนางสิรินทร รามสูต ส.ส.น่าน และน.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย จนถูกตีความทางการเมือง เป็น “สอง ส.ส.เพื่อไทย” เตรียมเปลี่ยนขั้ว-ย้ายค่าย

ข้อเท็จจริงคือ ตนได้รับมอบหมายให้ดูจังหวัดแพร่กับจังหวัดน่าน ซึ่งจังหวัดน่านมี ส.ส.3 คนเป็นของพรรคเพื่อไทย ไม่มี ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ แต่เมื่อตนได้รับมอบหมายให้ไปดูแลจังหวัดน่าน จึงไม่แปลกที่จะต้องทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่า ฯ และส.ส.ในพื้นที่

“เขา (นางสิรินทร) มาเล่าว่า ในจังหวัดน่านมี จุดเด่นของเขา คือ มีนักพัฒนาเป็นพระ ซึ่งได้บอกเขาไปว่า ที่ทำอยุ่นี่ ตั้งแต่ได้รับมอบหมาย ได้ร่วมกับพระอาจารย์สมคิด จรณธมฺโม เจ้าอาวาสวัดโป่งคำ จังหวัดน่าน เขาก็เลยแนะนำว่า มีพระอีกหลายรูปที่ทำการพัฒนาจังหวัดน่านมีตรงไหนบ้าง มีเรื่องผ้าทอจังหวัดน่านที่เป็นของพระ ไปฝึกอาชีพ เกี่ยวกับการพัฒนาฝีมือแรงงานจนผ้าราคาขึ้นหลายเท่า เพราะพระเก่งหลายรูป คุยกันแต่เรื่องพวกนี้ และก็พูดกันถึงเรื่องถนนคนเดินที่จังหวัดน่าน เขาอยากพัฒนาจังหวัดน่าน”

แกนนำกลุ่มบ้านป่ารอยต่อยืนยันว่า “คุยแต่เรื่องนี้ พยานเพียบ ที่เขามาหาเรา (ที่กระทรวงแรงงาน) เพราะว่า เขาเห็นเราลงพื้นที่ แต่ยังไม่ได้ไปอำเภอนั้น อำเภอนี้ เขาก็อยากทำให้จังหวัดน่านได้รับการสนับสนุน เจริญมากยิ่งขึ้น”

“ไม่ได้นั่งคุยกันแค่ 3 คน มีคณะที่ปรึกษา มีคณะทำงาน เราเชิญคณะทำงานมาฟังด้วย ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานจังหวัดน่าน จังหวัดแพร่โดยเฉพาะ เพื่อให้ลงพื้นที่และทำ pilot project สนับสนุนผู้ว่า ฯ และดึงภาคเอกชนเข้าไปช่วย”

จังหวัดแพร่ มีจุดเด่นเรื่องผ้าหม้อห้อม ซึ่งมีวิสาหกิจรวมตัวกันจำนวนมาก จึงดึงบริษัทเอกชนเข้าไปช่วย เช่น ยูนิโคล ไปแนะนำการออกแบบลายให้ทันสมัย รวมถึงรับเสื้อหม้อห้อมไปขายทั่วโลก หรือ วัดโป่งคำ จังหวัดน่าน พระอาจารย์สมคิดได้รวบรวมสินค้าเกษตรจากชาวบ้านและตั้งเป็นศูนย์รวบรวมสินค้าทางการเกษตร

“ท่านพระอาจารย์สมคิดอยากต่อยอด อยากให้คนกรุงเทพฯ ได้กินของสด ๆ เช่น ผักอินทรีย์ แต่ไม่มีโลจิสติกส์ ไม่มีบริษัทขนส่งจากจังหวัดน่านมากรุงเทพ ฯ คณะทำงานจึงพาบริษัทไปรษณีย์ไทยขึ้นไปด้วย มีตู้แช่เย็นขึ้นไป รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ที่ต้องได้รับการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อินเตอร์เน็ท wifi เพื่อโหลดโปรแกรมหลักสูตรต่าง ๆ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและบริการภาครัฐอื่น ๆ ซึ่งบริษัทแคทขึ้นไปติดตั้งระบบ wifi ให้”

นอกจากนี้ยังได้ “แชร์” ให้ ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทยฟังว่า แม้จะอยู่กระทรวงแรงงาน แต่การได้รับมอบหมายจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สามารถไปสนับสนุนจังหวัดในมิติอื่น ๆ ได้ เพราะเวลาเราลงไปก็จะมีปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ เช่น เรื่องที่ทำกิน สามารถประสานกับนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องที่ทำกินที่เป็นพื้นที่ป่า ต้องเข้าคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)

“นฤมล” ให้เหตุผลที่เห็นเธอและ “ร.อ.ธรรมนัส พหรมเผ่า” รมช.เกษตรและสหกรณ์ แกนนำก๊วนเดียวกัน-ประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือ เป็น “คู่หู” ลงพื้นที่ภาคเหนือ “ถี่ยิบ” ชนิด “คาบลูกคาบดอก” ตีฐานเสียงพรรคเพื่อไทย

มิหน้ำซ้ำยังถูกตีความว่า พลังประชารัฐกำลังแสดงอิทธิฤทธิ์-พลังดูด ? เพราะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบจังหวัดน่านและจังหวัดแพร่ ส่วน “ร.อ.ธรรมนัส” รับผิดชอบจังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา ภายใต้โครงการ “ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน”

“ถ้าเป็นเรื่องสำคัญในพื้นที่บอกมาได้เลย เพราะเป็น ส.ส. อยู่กับชาวบ้านอยู่แล้ว บอกมาได้เลย ซึ่งมีโครงการดี ๆ ที่ท่านนายกฯ ให้ทำ คือ โครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน โดยมีรัฐมนตรีแต่ละท่านรับผิดชอบ”

“นฤมล” ทิ้งท้ายว่า “เราบริสุทธิ์ใจ เราทำแต่เรื่องพวกนี้ เป็นการสมานฉันท์อย่างแท้จริง ทำอะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน จริง ๆ จะให้รัฐมนตรีทำอย่างไรถ้าได้รับมอบหมายให้ดูแลจังหวัดที่มีแต่ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้าน จะไม่ยุ่งกับเขาเลยก็ไม่ได้ เราไม่ได้จะตีเขา เราลงไปทำให้ชาวบ้าน แค่นั้นเอง”