อภิปรายไม่ไว้วางใจ หัวหน้าเพื่อไทย สัญญาไม่หักหลัง “ก้าวไกล”

6 พรรคฝ่ายค้าน เคลียร์ตัวละครฝ่ายรัฐบาลที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจกลางสภาผู้แทนราษฎรในช่วงกลางค่อนปลายเดือนกุมภาพันธ์ ไว้เบื้องต้น 11 คน

เป็นการเคาะจำนวนผู้ถูกซักฟอก – อภิปราย หลังหัวขบวนฝ่ายค้าน 6 พรรค ปิดห้องคุยลับในห้องทำงาน “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 3 อาคารรัฐสภา ติดกับห้องรองประธานสภาคนที่ 1 “สุชาติ ตันเจริญ” จากพรรคพลังประชารัฐ

หากแบ่งสัดส่วน ตัวละคนฝ่ายรัฐบาลที่ฝ่ายค้านจองกฐินซักฟอก มีชื่อที่ปรากฏออกมาแล้ว แบ่งตามพรรค – พวก ดังนี้

ผู้นำรัฐบาล ไม่สังกัดพรรคการเมือง คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

ในประเด็นของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ฝ่ายค้านจองตัวไว้ หนีไม่พ้นเรื่องการบริหารจัดการภาวะโควิด-19 พันกับการแก้พิษเศรษฐกิจที่ล้มเหลว การใช้กฎหมายเล่นงานฝ่ายเห็นต่างทางการเมือง เอื้อประโยชน์นายทุนนักธุรกิจในเครือข่าย ที่ฝ่ายค้าน “กุมชื่อ” เอาไว้

ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ นอกจากมีประเด็นต่อเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจคราวก่อนที่รอดตัวไปอย่างหวุดหวิด คือเรื่องโรงงานกำจัดขยะ เพราะฝ่ายค้านอภิปรายกันจนเวลาหมด มาเที่ยวนี้ มีประเด็นเพิ่มเติมคือเรื่องวุ่น ๆ ในการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว

พลังประชารัฐ โดนตั้งแต่หัวหน้าพรรค พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน

ในกลุ่มของพรรคพลังประชารัฐ ถูกซักฟอกหลายประเด็น ทั้งเรื่องแรงงานเถื่อนผิดกฎหมาย ซึ่งที่อยู่ในข่ายรับผิดชอบคือ พล.อ.ประวิตร และ สุชาติ ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส เจ้าของวลี “มันคือแป้ง” จากศึกซักฟอกรอบที่แล้ว มางวดนี้ยังปรากฏชื่อ อาจถูกซักฟอกเรื่องที่ดิน ส.ป.ก. ส่วน “ณัฏฐพล” นอกจากถูกซักฟอกนอกสภาโดยกลุ่มนักเรียนเลวเป็นประจำ เที่ยวนี้วาระการแก้ปัญหาระบบการศึกษาจะถูกฝ่ายค้านนำมาซักฟอกในสภา

รายชื่อของประชาธิปัตย์ แน่นอนว่าหนีไม่พ้นเรื่องปมทุจริตถุงมือยางที่ฝ่ายค้านออกมาตีปี๊บตั้งแต่ไก่โห่ โดยมีชื่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถูกเล็งเป้าไปที่มาตรการเยียวยาผลได้รับผลกระทบจากโควิดที่ละเลยกลุ่มเปราะบาง ส่วนนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย แอบสะกดรอยตามฝ่ายค้านไว้ล่วงหน้า จึงรู้ข้อสอบฝ่ายค้านว่าจะซักฟอก เรื่องเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา

“ที่ผ่านมาทราบว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ส.ส.พรรคก้าวไกลหลายคนได้ลงพื้นที่มาเก็บข้อมูลในพื้นที่หลายครั้งหลายคนแล้ว” นายนิพนธ์กล่าว

ฟากภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข เป็นเป้าใหญ่เรื่องการจัดการโควิด-19 รวมถึงเรื่องปัญหายุ่ง ๆ เกี่ยวกับวัคซีน ส่วนเลขาธิการพรรค นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีเรื่องที่ฝ่ายค้านขอสะสางคือ ประเด็นต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ที่บางสายที่มีปัญหาคาราคาซังไม่ลงตัวในหลายเรื่อง มีคนระดับบิ๊กเนมปริศนาอยู่เบื้องหลังหรือไม่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตาสำหรับศึกซักฟอก ไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งที่ 2 ไม่เพียงต้องลุ้นว่า 11 ตัวละครที่จะถูกอภิปรายมีนอกเหนือจากชื่อที่เปิดเผยมาหรือไม่ ญัตติที่ฝ่ายค้านจะยื่นตอน 10 โมงเช้าของวันจันทร์ที่ 25 มกราคมจะเป็นอย่างไร

นอกเหนือจากนั้นคือ ความสามัคคีของฝ่ายค้านด้วยกันเอง หลังอภิปรายเที่ยวก่อน ดันเกิดดราม่าอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในนาทีสุดท้าย เมื่อพรรคเพื่อไทยอภิปรายกินเวลาพวกเดียวกันเอง กระทั่งเหลือเวลาในการอภิปรายส่วนของฝ่ายค้านเหลือเวลาเพียง 3 นาที

วันนั้น “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ซึ่งในเวลานั้นยังอยู่ในทีมอนาคตใหม่เดิม อยู่เบื้องหลังคอยประสานงานวิปฝ่ายค้าน – ฝ่ายรัฐบาล ในเรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ “ปิยบุตร” ก็ไม่ถูกเรียกตัวไปร่วมประชุมกับวิปฝ่ายรัฐบาล เขาได้โพสต์เฟซบุ๊กเล่าเหตุการณ์ว่า

  • ก่อนพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ พวกเราตกลงกับพรรคร่วมฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เริ่มต้นจากให้แต่ละพรรคไปคิดกันเองว่าจะอภิปรายรัฐมนตรีคนใด ประเด็นใด
  • พวกเรายืนยันว่าอนาคตใหม่จะอภิปราย 5 คน ได้แก่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประวิตร วงษ์สุวรรณ วิษณุ เครืองาม อนุพงษ์ เผ่าจินดา และธรรมนัส พรหมเผ่า ต่อมา มีข่าวลือเรื่อง “คุณขอมา” ไม่ให้อภิปราย ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่พวกเราไม่เชื่อว่าเป็นความจริง และเริ่มมีข้อเสนอว่าให้อภิปรายประยุทธ์คนเดียวก็พอ คนอื่นไม่ต้อง
  • รายชื่อรัฐมนตรีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะถูกอภิปราย ถูกสับเปลี่ยนไปมาตลอด กว่าจะนิ่ง ต้องรอจนช่วงท้าย ๆ ชื่อของประวิตร ก็เป็นชื่อสุดท้ายที่ถกเถียงกัน และยืนยันว่า #อนาคตใหม่ จะอภิปรายประวิตร
  • อนาคตใหม่ขอให้จัดลำดับประวิตรไว้ต่อจากประยุทธ์ แต่ก็ไม่ได้ จะให้อภิปรายประวิตรเป็นคนสุดท้าย
  • เรากำหนด ส.ส. ผู้อภิปรายและจำนวนเวลาไว้ได้มา 11 ชั่วโมง เปิดอภิปรายวันแรกรัฐมนตรีใช้เวลาตอบเยอะ จึงมีการเจรจาร่วมกันระหว่างวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน ซึ่งปรากฎว่าไม่มีการชวน ส.ส. ตัวแทนวิปของเราเข้าไปร่วมด้วย
  • ผ่านการอภิปรายมาแล้ว 1 วันครึ่ง วิปฝ่ายค้านและรัฐบาล พึ่งมาตกลงแบ่งเวลากัน สรุปว่ารัฐบาลได้ 10 ชั่วโมง ฝ่ายค้านได้ 21 ชั่วโมง
  • อนาคตใหม่ใช้เวลาไปเพียง 140 นาที ยังเหลืออีกเกือบ 9 ชั่วโมง แต่วิปฝ่ายค้าน (ซึ่งไม่มีอนาคตใหม่อยู่ในนั้น) กลับไปรับข้อตกลงมาว่าฝ่ายค้านเหลือเวลา 21 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับต้องแบ่งให้อนาคตใหม่ 9 ชม.
  • เราเริ่มอ่านสถานการณ์ออกว่าจะมี ส.ส. อภิปรายประยุทธ์มาก จนไม่เหลือเวลาให้อภิปรายรัฐมนตรีคนอื่น พวกเราจึงตกลงกันว่าให้อภิปรายประยุทธ์ 3 วัน และวันสุดท้ายอภิปรายรัฐมนตรีอีก 5 คนที่เหลือ
  • ทุกพรรครับข้อเสนอนี้หมด แต่ข้อตกลงนี้กลับถูกทำลายลง เพียงเพราะว่า ส.ส. คนหนึ่งของเพื่อไทย ไม่ยอมมาอภิปรายประยุทธ์ในช่วงค่ำวันที่ 3 ดึงดันจะอภิปรายเช้าวันที่ 4 ให้ได้
  • ผมและเพื่อน ส.ส. จึงไปคุยกับอาสมพงษ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและแกนนำเพื่อไทยอีกหลายคน เพื่อขอให้เป็นไปตามข้อตกลงเดิม ด้วยความไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องยอม “ตามใจ” ส.ส. คนเดียว อีกอย่างคือเรารู้ดีว่าถ้าให้ ส.ส. คนนี้อภิปรายประยุทธ์ในเช้าวันที่ 4 เขาจะใช้เวลานาน และอภิปรายพาดพิงไปยังรัฐมนตรีอีกหลายคน และรัฐมนตรีก็ต้องตอบยาว จนกินเวลาไปถึงช่วงบ่าย และทำให้อนาคตใหม่ไม่มีเวลาอภิปรายรัฐมนตรีที่เหลือ
  • สุดท้ายเพื่อไทยก็ไม่ยอม มาขอให้เราผ่อนผัน ด้วยการอภิปรายธรรมนัสในคืนวันที่ 3 แต่ตามกติกาไม่สามารถทำได้ เพราะยังอภิปรายประยุทธ์ไม่หมด
  • การเจรจาหาข้อตกลงกับพรรคเพื่อไทย เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะ ไม่รู้ว่าศูนย์อำนาจการตัดสินใจ หรือ Final Say อยู่ที่ไหนกันแน่ ตกลงแล้ว เปลี่ยน ตกลงแล้ว เปลี่ยน คนหนึ่ง พูดอย่าง อีกคน พูดอย่าง พวกเราก็ต้องมาปรับหน้างาน โดยใช้แท็คติกอภิปรายพ่วง “ประยุทธ์-ธรรมนัส” ตามข้อเสนอของเพื่อไทย
  • ปรากฏว่าเพื่อไทยก็อภิปรายเกินเวลา และเอาคนมาแซงคิว ส.ส. อนาคตใหม่ (ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.เพื่อไทย) อีกจนเราได้เริ่มอภิปรายธรรมนัสตอน 23.00 น. ไปจบตอนตีสาม
  • พอมาวันสุดท้าย วันที่ 4 ส.ส. ที่สร้างเงื่อนไขไว้ว่าจะอภิปรายประยุทธ์ตอนเช้า ปรากฎว่าก็ไม่เข้ามาประชุมเสียที จนในสภาต้องใช้ “แท็คติก” หารือถ่วงเวลาไปหนึ่งชั่วโมง จนพอได้อภิปรายก็กลับใช้เวลาเกินคนอื่นอีกร่วมชั่วโมงจากนั้นรัฐมนตรีตอบกันอีกหลายคน หลายชั่วโมง
  • จากการประเมินผมรู้แล้วว่า “พวกเขา” ไม่ต้องการให้เราอภิปรายรัฐมนตรีที่เหลือ โดยเฉพาะ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงบอกเพื่อน ส.ส. ว่าหัวเด็ดตีนขาด ส.ส. ที่เหลือของเราต้องได้อภิปราย มิเช่นนั้น คนที่เคารพกติกา ยอมอลุ้มอล่วยให้คนอื่น ก็จะโดนเอาเปรียบ

“พวกเขา” เผาเวลาของพวกเราไปเรื่อย ๆ จน ส.ส. ของเราเหลือ 30 นาที จากที่เราได้ 210 นาที “พวกเขา” เผาเวลาของเราไปเรื่อย ๆ จากรัฐมนตรีที่เราต้องอภิปรายอีก 3 คน คือ ประวิตร วิษณุ อนุพงษ์ กลายเป็นได้อีกแค่ 1 คนเท่านั้น รัฐบาลเล็งเห็นโอกาสนี้ จึงใช้โอกาสนี้เต็มที่ ไม่ยอมผ่อนผันแม่แต่น้อย เพราะรัฐบาลต้องการปกป้องรักษาพลเอกประวิตรเต็มที่ พวกเราจึงต้องวอล์กเอาต์ มาอภิปรายนอกสภา”

มาถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบที่ 2 หัวหน้าพรรคเปลี่ยนมาเป็น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เขาประกาศก้องว่า จะไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย และตั้งใจกล่าวถึงสัญญาใจจาก “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

“ครั้งนี้มีบทเรียน ที่เคยมี ส.ส.4 คนอภิปรายนอกสภา ดังนั้นในฐานะหัวหน้าพรรคจะทำทุกวถีทางไม่ให้สมาชิกพรรคต้องอภิปรายนอกสภาอีก และนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้าน ได้ให้คำมั่นว่าจะช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ เพื่อเขย่าความชอบธรรมของรัฐบาล และล้มรัฐบาลให้ได้”

สัญญาลูกผู้ชายถูกขุดขึ้นมาขายหน้าจอ ป้องกันไม่ให้ถูกหักหลังซ้ำสอง