ยกฟ้อง “สมอล์ล บัณฑิต” ไม่ผิดมาตรา 112 กรณีคำพูดบนเวทีเสวนา

ศาลอาญายกฟ้อง “สมอล์ล บัณฑิต” ไม่ผิด ม.112 กรณีการพูดเปรียบเทียบฝุ่นละอองใต้เท้า บนเวทีเสวนาวิชาการ เมื่อปี 2558 เจ้าตัวลั่น หากโจทก์อุทธรณ์จะด่ากลับ 

วันที่ 26 มกราคม 2564 มติชน รายงานว่า ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3049/2562 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้องนายจือเซง แซ่โค้ว หรือนามปากกา สมอล์ล บัณฑิต อานียา อายุ 80 ปี นักเขียนนิยาย แนวร่วมคนเสื้อแดง เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โจทก์ฟ้องกรณีเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2558 ได้มีการจัดเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?” จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 50 คน

จำเลยได้แสดงความคิดเห็นกล่าวถ้อยคำต่อผู้เข้าร่วมเสวนาตอนหนึ่งว่า คุณค่าแห่งความเป็นคน และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องสูงกว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ที่ฝ่าเท้าของคนบางคน ทำให้ผู้ที่ได้ฟังเข้าใจได้ทันทีว่าเป็นการละเมิด หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ใส่ความในหลวงรัชกาลที่ 9

การกระทำของจำเลยทำให้พระองค์เสื่อมเสีย พระเกียรติ ทรงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในพระองค์ เหตุเกิดที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม.

สำหรับคดีนี้ เดิมถูกพิจารณาในศาลทหารตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้คดีความมั่นคงในส่วนของพลเรือนขึ้นศาลทหาร ต่อมา มีการยกเลิกคำสั่งภายหลัง จึงมีการโอนย้ายมาพิจารณายังศาลอาญาซึ่งเป็นศาลพลเรือน

วันนี้นายจือเซง จำเลย ซึ่งได้รับการประกันตัว ปัจจุบันมีโรคประจำตัวเป็นความดันสูง ภูมิแพ้ และเคยผ่าตัดมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ เดินทางมาศาล โดยมี น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน พยาบาลอาสา แนวร่วมกลุ่มราษฎร เดินทางมาดูแล ขณะที่ภายในห้องพิจารณามีทีมทนายความ ผู้แทนสถานทูต และผู้ติดตามเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษานับสิบคน

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้ว พยานโจทก์เห็นว่าคำว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ที่ฝ่าเท้า มาจากคำราชาศัพท์ว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขณะที่ฝ่ายจำเลยเห็นว่าฝุ่นละอองเป็นคำทั่วไป มีความแตกต่างจากคำว่าฝ่าละออง และไม่ได้เอ่ยชื่อผู้ใด ซึ่งอาจตีความแตกต่างกัน การใช้คำพูดดูหมิ่นหรือไม่ต้องพิจารณาภาพรวม โอกาส สถานที่ เป็นการใส่ความยืนยันหรือไม่ หมายถึงบุคคลใดโดยเฉพาะหรือไม่

ข้อความที่จำเลยกล่าวไม่มีข้อความสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นข้อความสามัญไม่ใช่ราชาศัพท์ ประกอบกับจำเลยเบิกความเป็นคนจีน คำว่าคุณค่าแห่งความเป็นคน จำเลยต้องการสื่อให้คุณค่าความเป็นคนสูงขึ้น คำว่าฝุ่นละอองมาจากหนังสือที่จำเลยอ่านใช้คำว่าใต้เท้า ไม่ได้หมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 พยานโจทก์มีหลักฐานสงสัยตามสมควรว่าหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือไม่

ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย พิพากษายกฟ้อง


ภายหลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น นายจือเซง เปิดเผยความรู้สึกว่า ที่ผ่านมาตนทำเพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน เรื่องที่ถูกนำมาฟ้องเป็นเรื่องเก่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 แล้ว เมื่อศาลยกฟ้องก็ถือว่าความยุติธรรมยังมีอยู่จริง ถ้าทางโจทก์มีการอุทธรณ์ตนก็คงจะด่ากลับ แต่หลังจากนี้ตนจะไม่ฟ้องกลับ ตนไม่ชอบเท้าความ