พลิกปูม “ญัตติซักฟอกล่ม” นายกฯยุบสภา-ลาออก ฝ่ายค้านซูเอี๋ยรัฐบาล

ประยุทธ์-ซักฟอกล่ม

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งที่ 43 ในประวัติศาสตร์การเมือง และเป็นครั้งที่ 2 ในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

ฝ่ายค้าน จองกฐินซักฟอกรัฐมนตรีถึง 10 คน ทว่าซีกรัฐบาลปรามาสเกมซักฟอกรอบนี้ เป็นการยื่นญัตติ “รูทีน” ตามวงรอบเท่านั้น ไม่น่ากังวล

ต่างจากฝ่ายค้าน “ผู้ยื่นญัตติ” ต้องมาตอบคำถามเรื่องญัตติซักฟอกเกี่ยวข้องกับสถาบัน ที่มีญัตติกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ว่า “ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง”

แม้แต่แกนนำในพรรคฝ่ายค้านยังยอมรับว่า ญัตติดังกล่าวอาจถูกประท้วงในสภาจนดูไม่จืด เพราะข้อบังคับการประชุมสภา ข้อ 69 วรรคสอง ระบุว่า “ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น”

หากฝ่ายค้านอภิปรายเรื่องนี้ ต้องถูกองครักษ์รัฐบาลประท้วงแน่นอน…

แม้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านมา 42 ครั้ง จบด้วยการลงมติไว้วางใจ 35 ครั้ง แต่มี 7 ครั้ง ที่เกิดอุบัติเหตุกับ “ญัตติซักฟอก” จนไม่สามารถลงมติในท้ายที่สุด

ญัตติแท้ง ไม่ถูกข้อบังคับ

เริ่มจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับการเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจมีผลทำให้ “ญัตติแท้ง” เกิดขึ้นในการยื่นอภิปรายครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2478 สมัยพล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ถูกฝ่ายค้านยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ เกี่ยวกับหลักความสงบภายใน หลักเศรษฐกิจ หลักการศึกษา โดย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมวันนั้นมีการถกเถียงเรื่องญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลถูกต้องตามข้อบังคับหรือไม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับวันประชุมและวันลงมติ ท้ายที่สุดที่ประชุมจึงยกมือให้ “ผ่านระเบียบวาระ” ด้วยเสียง 27 ต่อ 20 เสียง เท่ากับว่าการอภิปรายถูกยกเลิก

“เกรียงศักดิ์” หนีไม่ไว้วางใจ

ต่อมาคือการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งที่ 8 เมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2523 สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับปัญหาด้านเศรษฐกิจ เรื่อง น้ำมัน เงินเฟ้อ เงินตึงราคาสินค้าแพง ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ปัญหานโยบายทางการเมืองภายใน และการดําเนินการเกี่ยวกับผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กับคณะ เป็นผู้เสนอ

แต่ยังไม่ทันที่จะอภิปราย พล.อ.เกรียงศักดิ์ชิงลาออกจากตำแหน่งนายกฯไปเสียก่อน ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีจึงเป็นอันตกไป และได้เปลี่ยนมาเป็นการหารือภายในแทน

ซักฟอกแต่ไม่ลงมติ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่เกิดอุบัติเหตุ “ล่ม” บ่อยที่สุดอยู่ในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 4 ครั้ง

ครั้งแรกเกิดขึ้นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2526 พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร แห่งพรรคชาติไทย ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับปัญหาด้านการคมนาคม เรื่องการขึ้นค่าโดยสารรถไฟ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเปิดให้ พล.ต.ประมาณได้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายสมัคร ซึ่งนายสมัครได้ชี้แจง แต่ที่ประชุมลงมติให้ผ่านระเบียบวาระ ด้วยเสียง 75 ต่อ 5 เสียง โดยไม่มีการลงมติเกี่ยวกับการไม่ไว้วางใจแต่อย่างใด

ญัตติซักฟอก

ฝ่ายค้านไม่ชี้แจงอภิปราย

ต่อมาเกิดขึ้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2527 เป็นการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจครั้งที่ 12 คือ พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม การดําเนินการทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย การปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพ ยาเสพติดให้โทษ และการบริหารบ้านเมือง โดย พล.ต.ประมาณ จากพรรคชาติไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ

แต่กลายเป็นว่า ผู้เสนอญัตติคือ “พล.ต.ประมาณ” ไม่ชี้แจงในที่ประชุม ประธานสภาผู้แทนราษฎร คือ นายอุทัย พิมพ์ใจชน จึงวินิจฉัยว่าญัตติตกไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

รัฐบาลงัดแท็กติกล้มซักฟอก

ครั้งต่อมา ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 13 เมื่อญัตติการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ที่ยื่นโดย พล.ต.ประมาณ ซักฟอกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.เปรมเป็นรายบุคคล เมื่อ 29 พฤษภาคม 2528 แต่ก็พ่ายแพ้แท็กติกทางกฎหมายของฝ่ายรัฐบาล

เรื่องมีอยู่ว่า ก่อนหน้าวันซักฟอก 1 วัน ที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งขณะนั้นมีอำนาจ “ตีความ” ญัตติที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐสภาว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมตีความว่าญัตติของพรรคชาติไทยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 137

ดังนั้น ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 29 พฤษภาคม 2528 นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาฯ ได้นำมติรัฐสภามาแจ้งต่อที่ประชุม

โดยระบุว่า ประธานรัฐสภา (อุกฤษ มงคลนาวิน) มีหนังสือแจ้งถึงผลการพิจารณาญัตติด่วน เพื่อให้มีการตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 โดยนายเกษม ศิริสัมพันธ์ ตัวแทนจากรัฐบาลเป็นผู้เสนอ และได้ลงมติว่าญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ที่ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร กับคณะ เป็นผู้เสนอนั้นไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2521 และจะดําเนินการต่อไปไม่ได้

จากนั้น นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ ส.ส.ศรีสะเกษ ได้เสนอญัตติในนามพรรคชาติไทย แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำในญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยขอเปลี่ยนคำว่า “นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล” เป็นข้อความใหม่ว่า “ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรี ผู้บังคับบัญชาสำนักนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีอื่นเป็นรายบุคคลตามมาตรา 137”

ในที่ประชุมได้หารืออย่างกว้างขวาง โดยแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกที่ยืนยันว่าญัตติของฝ่ายค้านขัดรัฐธรรมนูญ และให้ญัตติตกไป เช่น นายประสพ บุษราคัม ส.ส.อุดรธานี พรรคกิจสังคม นายสวัสดิ์ คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคกิจสังคม

ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนการแก้ไขญัตติ และไม่ให้ตกไป เป็นตัวแทนพรรคชาติไทย เช่น นายชุมพล ศิลปอาชา ส.ส.สุพรรณบุรี แต่ที่ประชุมได้ลงมติไม่เห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำในญัตติดังกล่าว ด้วยเสียง 142 ต่อ 71 เสียง ญัตติไม่ไว้วางใจจึงตกไป

ถอนญัตติซักฟอกเปรม

ในช่วงท้ายของรัฐบาล พล.อ.เปรมมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2530 ซึ่งเป็นการซักฟอกครั้งที่ 16 ยื่นโดยบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ พรรคสหประชาธิปไตย และคณะ ปรากฏว่า ญัตติดังกล่าวต้องล่มลง ท่ามกลางกระแสข่าวเรื่องล็อบบี้ทางการเมืองอย่างหนัก

วันนั้น “เรวุฒิ จินดาพล” ส.ส.ภูเก็ต พรรคพลังใหม่ ยกมือกลางสภา ด้วยเหตุผลว่า “อยากเปิดโอกาสให้ทางฝ่ายรัฐบาลซึ่งบริหารงานมาแค่เพียง 8 เดือน”

จากนั้นที่ประชุมก็เปิดอภิปรายให้แสดงความเห็น ที่สุดแล้วมีผู้ถอนญัตติ 16 คน จากเดิมมีผู้เสนอญัตติทั้งหมด 84 คนจึงไม่ครบจำนวน 1 ใน 5 ตามมาตรา 137 ของรัฐธรรมนูญ 2521 ทำให้ญัตติไม่สมบูรณ์จึงไม่สามารถเสนอญัตติได้ และที่ประชุมก็ผ่านวาระอภิปรายไม่ไว้วางใจไปสู่วาระอื่น

ชิงยุบสภา หนีลงมติ

จากนั้นในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ซึ่งถูกฝ่ายค้านโดยนายบรรหาร ศิลปอาชา แห่งพรรคชาติไทย ยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ เป็นครั้งที่ 24 ในวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2538 กล่าวหาการบริหารราชการแผ่นดินโดยไร้ประสิทธิภาพ ขาดความรู้ ความสามารถ ขาดวิจารณญาณ และขาดความชอบธรรม ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน จากกรณี ส.ป.ก.4-01 โดยกําหนดให้วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม 2538 เป็นวันลงมติในญัตติ

อย่างไรก็ตาม หลังจากพรรคชาติไทย ฝ่ายค้านเปิดฉากอภิปรายดุเดือด ก่อนที่จะมีการลงมติในญัตติดังกล่าว

ปรากฏว่า พรรคพลังธรรม และ ส.ส.กลุ่ม 16 ประกาศไม่ยกมือสนับสนุนรัฐบาล ทำให้นายชวนประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ก่อนการลงมติ 1 ชั่วโมงเศษ จึงไม่มีการลงมติ

นี่จึงกลายเป็น 7 ครั้ง ที่ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจต้องประสบอุบัติเหตุล่มกลางคันก่อนมีการลงมติ

แต่ทั้ง 7 ครั้ง กลับส่งผลลัพธ์ทางการเมืองที่ต่างกัน อันประจักษ์ชัดอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์