ศาลอาญา สั่งยกฟ้อง “พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม” และพวก คดีเจตนาฆ่าผู้อื่น ในเหตุการณ์สลายชุมนุม “เสื้อแดง” ปี 2553 ชี้พยานโจทย์ไม่น่าเชื่อถือ
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 มติชนรายงานว่า ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีฆ่า พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม กับลูกน้อง หมายเลขดำ อ.857/2562 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 และนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุขเสก หรือเสก พลตื้อ
นางพรกมล บัวฉัตรขาว หรือนางกนกพร ศิริพรรณาภิรัตน์ อดีตผู้ดำเนินรายการทีวีสถานีประชาชน ช่องเอเชียอัพเดต และนายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าและสนับสนุนให้ฆ่าผู้อื่นฯ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ
โดยโจทก์ฟ้องระบุพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 15 พ.ย. 2552 – 20 พ.ค. 2553 กลุ่ม นปช. ได้ร่วมกันชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อขับไล่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ลาออกจากตำแหน่ง
จนวันที่ 7 เม.ย. 2553 นายอภิสิทธิ์ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร และออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ บริเวณ ถ.ราชดำเนินกลาง ตั้งแต่แยกคอกวัวมุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
กระทั่งวันที่ 10 เม.ย. 2553 จำเลยที่ 1 และ 3 กับพวกร่วมกันมีลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบ M.67 คนละ 3 ลูก ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนด้านการเงิน และจัดหาระเบิดให้
โดยพวกจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้อื่นด้วยการขว้างระเบิดสังหาร 2 ลูก ใส่เจ้าหน้าที่ทหารขณะปฏิบัติหน้าที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถ.ดินสอ เป็นเหตุให้ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รอ.(ขณะนั้น) กับนายทหารรวม 5 นายเสียชีวิต และมีนายทหารอีกหลายนายได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยพวกจำเลยให้การปฏิเสธ
วันนี้ศาลเบิกตัวนายสุขเสกและนายสุรชัย จำเลยที่ 1, 3 จากเรือนจำมาศาล ส่วน นางพรกมล ที่ได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาล
โดยศาลได้อ่านคำพิพากษาที่มีการบรรยายพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบอย่างละเอียดแล้ว คำเบิกความพยานโจทก์มีข้อพิรุธ อ้างเป็นผู้ติดตามจำเลยแต่ไม่มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ไม่รู้จักกลุ่ม นปช. ไม่มีแรงจูงใจทางการเมือง เชื่อว่าให้การทั้งที่ไม่รู้เห็น แต่ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการเข้าโครงการคุ้มครองพยาน ประจักษ์พยานโจทก์จึงไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้
และศาลพิจารณาคำฟ้องจำเลยเปรียบเทียบกับคดี นปช.ก่อการร้าย ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกัน มูลเหตุช่วงเวลาเดียวกัน ถือเป็นการฟ้องซ้อน พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1-3