“เราชนะ” แจกเงินประกันสังคม ม.33 “ประยุทธ์” จ่ายต้นทุน รับมือสารพัดม็อบ

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ไม่ใช่น้องใหม่ทางการเมือง” บริหารราชการแผ่นดินต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืดยาวมากว่า “ครึ่งทศวรรษ”

แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้ “เสื้อคลุมประชาธิปไตย” จะอยู่ในวาระมาเพียง 1-2 ปี แต่ประชาชนรับรู้ได้ว่า “รัฐบาลภาคต่อ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ “อยู่นาน” สวนทางกับ “ผลงาน”

ทว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เปรียบเสมือนเป็น “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” ถ้าไม่มี “วิกฤตโควิด” ใครจะการันตีว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะยืนระยะ “แลกหมัด” กับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” มาถึง 12 ยก-อยู่ครบเทอม

ทั้งการจัดอันดับความโปร่งใสของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ประกาศผลคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2020 จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก ไทยอยู่อันดับที่ 104 เป็น “ประเทศรั้งท้าย”

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดปม-ไส้ในรายงานผลคะแนน-การจัดอันดับดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยที่ได้ 36 คะแนนจากเต็ม 100 คะแนน

รายงานของ TI ระบุว่า แม้ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย ในปี 2563 จะเท่ากับปี 2562 แต่พบว่า จากแหล่งข้อมูลทั้ง 9 แหล่ง ประเทศไทยได้คะแนนลดลง 1 แหล่ง และได้คะแนนคงที่ 8 แหล่ง

“คะแนนลดลง 4 คะแนน เนื่องจากผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า ยังมีปัญหาการให้และรับสินบนและการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐยอมรับสินบนในการลักลอบเปิดบ่อนการพนัน ปัญหาสินบนจากการลักลอบเข้าประเทศของแรงงานผิดกฎหมาย” ไส้ในผลคะแนน CPI ระบุ

ป.ป.ช.ตอกฝาโรงรัฐบาลประยุทธ์อีกครั้ง หลังจาก “พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ” หัวขบวน ป.ป.ช. กล่าวปาฐกถาบนเวที “วันคอร์รัปชั่นสากล” ยอมรับว่าสถานการณ์การทุจริตเข้าขั้นวิกฤต จน พล.อ.ประยุทธ์ต้อง “ต่อสาย” ไป “ป้องปราม”

มิหนำซ้ำ “ข่าวแจก” ของ ป.ป.ช.ยังถูก “เซ็นเซอร์” ทันทีที่ข่าวหลุด (ปาก) ออกไป

ยังไม่นับเรื่องการ “เรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” จำนวน 16,000 กว่าคน แบ่งออกเป็น อยู่ระหว่างเจรจาเรียกคืน 11,111 คน ดำเนินการไปแล้ว 4,052 คนอยู่ระหว่างดำเนินการ 1,000 กว่าคน กลายเป็นเรื่อง “ดราม่า-สะเทือนอารมณ์”

แม้ “ผลทางกฎหมาย” จะออกได้ 2 ทาง ทางที่หนึ่ง เป็น “ติดตามทรัพย์คืน” ต้องเรียกคืนทั้งหมด และทางที่สอง เป็น “ลาภที่มิควรได้” ต้องชดใช้เงินเท่าที่เหลืออยู่ทั้งหมด เป็น “เหรียญสองด้าน” ระหว่าง “บกพร่องโดยสุจริต” หรือ “รับเบี้ยซ้ำซ้อน”

ขณะนี้กลายเป็น “ทุกข์ของตาสีตาสา” ที่ต้องถูก “เรียกคืนเงินเบี้ยชรา” ให้ต้องมารับ “เคราะห์กรรม” จากกลไกของ “ระบบราชการ” และกฎหมายที่ไม่เอื้อความยุติธรรม

ขณะที่โครงการ “เราชนะ” ที่ยังไม่ได้ “ข้อยุติ” ว่า “คนไม่มีสมาร์ทโฟน” จะ “แจกเป็นเงินสด” หรือไม่ โดยกระทรวงการคลังให้ประชาชนไปลงทะเบียนจนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564

โดยเปิดรอบให้กับ “คนไม่มีมือถือ” ไปลงทะเบียนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้วค่อย “แก้ปัญหาเฉพาะหน้า” แจกบัตรหรือคูปอง

ไม่เฉพาะคนไม่มี “สมาร์ทโฟน” เท่านั้นที่ต้องการเงินเยียวยาเป็น “เงินสด” แต่รวมถึงอีก 31 ล้านคนที่ลงทะเบียนใช้สิทธิ “เราชนะ” จนเกิดปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” ที่กระทรวงการคลัง

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของ “สุชาติ ชมกลิ่น” เจ้ากระทรวงแรงงาน ที่ได้รับ “ไฟเขียว” จาก “พล.อ.ประยุทธ์” ให้เยียวยาผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม-มาตรา 33 กว่า 9 ล้านคน คนละ 4,000-5,000 บาท

“จับกัง 1” กำลังคิดหนักว่าจะแจก 4,000 บาท หรือ 5,000 บาท หรือเดินทางสายกลาง 4,500 บาท แต่เมื่อช่วยแล้วต้องทำให้สุด ๆ เพราะรัฐบาลมี “บทเรียน” มาจากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” แจกคนละ 5,000 บาทมาแล้ว

รวมถึงการปรับเกณฑ์-เงื่อนไขให้แจกถ้วนหน้า-ทุกคน ทั้งคนที่มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาทและมีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท

ย้อนรอยโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ขณะนั้น เกิด “กระแสตีกลับ” แทนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะได้ “ดอกไม้” โกยแต้มผลงาน-คะแนนนิยมกลับเข้าทำเนียบรัฐบาล กลับกลายเป็น “ก้อนอิฐ” จาก “เสียงก่นด่า” ของชาวบ้านหน้ากระทรวงการคลังแทน

ทั้งโครงการ “เราชนะ” และเยียวยาผู้ใช้แรงงานในระบบมาตรา 33 จึงกลายเป็น “ประเด็นสาธารณะ” ของ “สารพัดม็อบ” มารวมตัวกันโดย “ไม่ได้นัดหมาย” เพื่อเรียกร้องให้เยียวยา-แจกเงินสดถ้วนหน้า

ปักหมุดวัน “ดีเดย์” วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 “ก่อม็อบ” หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ “คลายล็อก” มาตรการป้องกันระงับ-ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป สารพัดม็อบ-สารพัดปัญหาจะถูก “ปลดแอก” ให้สามารถส่งเสียงร้องแบบ “ก้าวกระโดด” รอบทำเนียบรัฐบาล

ทั้งกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ทวงถามมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้หญิงทำงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 กลุ่มนักร้อง นักดนตรีอาชีพอิสระ “เราขอทวงสิทธิ สิ่งที่รัฐควรชดเชย” นักร้อง นักดนตรี เป็นอาชีพสุจริต เหมือนดั่งอาชีพอื่น ๆ “ถึงเวลาที่พวกเรา อาชีพนักร้อง นักดนตรี จะทวงถามความเป็นธรรม”

แม้กระทั่ง “สมาคมคราฟต์เบียร์” ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจสุจริต-ผู้เสียภาษีให้รัฐ-คนดื่ม-คนขาย และผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ที่รับผิดชอบต่อตนเองและสังคมมาเสมอ ที่ไปชุมนุมกันที่กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้แคมเปญ “เททิ้งความเที่ยงธรรม” และ “คนกลางคืน” ก็ “คน” เราคือ “ประชาชน” เหมือนกัน

หลังจากนี้ม็อบแรงงาน-คนหาเช้ากินค่ำจะ “ผสมโรง” กับ “ม็อบไล่รัฐบาล”