อภิปรายไม่ไว้วางใจ 4 วัน 4 คืน ไม่จำกัดเวลาถล่ม “ประยุทธ์”

ตกลงกันได้ ฝ่ายค้านได้เวลาซักฟอก 42 ชั่วโมง ไม่จำกัดเวลาฝ่ายรัฐบาล แต่ต้องจบภายใน 4 วัน เว้นเหตุสุดวิสัย

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ที่รัฐสภา คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธาน ได้มีการหารือถึงกรอบเวลาการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยมีตัวแทนวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี คือ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมประชุม นานกว่า 1 ชั่วโมง 30 นาที

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม นายสุชาติ แถลงสรุปว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเริ่มขึ้นในวันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ โดยเริ่มเวลา 09.00 น และสามารถลงมติในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ใช้เวลา 4 วัน 4 คืน กับอีกครึ่งวัน ทั้งนี้ เวลาอภิปรายพรรคร่วมฝ่ายค้านใช้เวลา 42 ชั่วโมง

ชวน หลีกภัย

ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่ตอบจะใช้เวลาพอประมาณตามข้อกล่าวหา การใช้เวลาชี้แจงเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหาจะเป็นผู้ชี้แจง ดังนั้น คาดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะจบสิ้นในคืนวันศุกร์ และมีการลงมติในวันเสาร์ ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีการอภิปรายเป็นรายบุคคลทีละคน ตามที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

ด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ฝ่ายค้านได้เวลาอภิปราย 42 ชั่วโมง เบื้องต้นพยายาจะจบภายใน 4 วัน บวก 1 วัน ทั้งสองฝ่ายจะบริหารเวลาร่วมกัน ส่วนการชี้แจงของรัฐบาลไม่จำกัดเวลา แต่ควรจบภายใน 4 วัน ทั้งนี้ ถ้ามีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถอภิปรายจบได้ภายใน 4 วัน ก็จะเพิ่มเวลาอภิปรายเท่าที่จำเป็น ซึ่งการอภิปรายจะต้องจบ 100%

ส่วนลำดับการอภิปรายนั้น จะมีการอภิปรายตามลำดับที่กำหนด เมื่อถึงคิวรัฐมนตรีท่านใดที่เป็นเป้าหมายหลัก ก็สามารถโยงกับรัฐมนตรีที่เป็นเป้าหมายรองได้ และจะอภิปรายรัฐมนตรีที่เป็นเป้าหมายหลักทีละลำดับ รวมความกันมีรัฐมนตรีเป้าหมายหลัก 10 หลัก ส่วนรัฐมนตรีรองไม่จำกัด ถ้าเป็นเช่นนี้ เชื่อว่าอภิปรายจะเป็นด้วยความราบรื่น

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ฝ่ายค้านใช้เวลาอภิปรายวันละ 10-12 ชั่วโมงเพื่อให้ครบ 42 ชั่วโมง แต่ฝ่ายรัฐบาลอาจตอบอภิปรายวันละ 6 ชั่วโมง แต่เวลาประท้วงของฝ่ายค้านก็จะอยู่ในเวลาของฝ่ายค้าน ถ้าฝ่ายรัฐบาลประท้วงแล้วฝ่ายค้านขึ้นพูดก็อยู่เวลาฝ่ายค้าน

ขณะที่การจัดลำดับอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าอภิปรายรัฐมนตรีหลัก เช่น อภิปราย รมว.มหาดไทย โยงถึงนายกรัฐมนตรี อภิปรายถึง รมว.ศึกษาธิการ โยงถึงนายกฯ รัฐบาลอยากให้แจ้งก่อน และเรียงลำดับผู้ที่ถูกอภิปราย เพื่อที่รัฐบาลจะได้จัดรัฐมนตรีหลักและรัฐมนตรีรองมาฟังการอภิปราย ไม่เช่นนั้นจะมีการถามว่าทำไมรัฐมนตรีรองไม่มานั่งในที่ประชุมด้วย ทั้งนี้ ในส่วนการอภิปรายของนายกฯ ก็อาจข้ามไปถึงรัฐมนตรีหลายกระทรวง แต่ถ้าอภิปรายรัฐมนตรีหลักจบแล้วก็จบเลยเป็นรายบุคคล

นายพิจารย์ ก้าวไกล กล่าวเพิ่มเติมว่า ฝ่ายค้านพยายามอภิปรายเนื้อหาร้อยเรียงเรื่องราวกัน เช่น การอภิปรายเรื่องของสาธารณสุข ก็จะมีสมาชิกอภิปรายถึงนายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง แต่อภิปรายด้านสังคม แน่นอนว่าต้องกลับมาอภิปรายนายกฯ อีกครั้ง เชื่อว่าการอภิปรายตลอด 4 วัน จะมีอภิปรายนายกฯ ทุกวัน