เบื้องหลังอุ้ม อิตาเลียนไทย “ดอน” ยันเดินหน้าโครงการทวาย-ทุกฝ่ายต้อง win-win

แฟ้มภาพ : ดอน ปรมัตถ์วินัย

“ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ เผยเบื้องหลัง กต. ช่วยเหลือ บริษัท อิตาเลียนไทย กรณีถูกยกเลิกสัมปทานพัฒนาโครงการทวาย หารือ กต.ไทย-กต.เมียนมา ก่อนรัฐประหารเมียนมา ฟื้นข้อตกลง-สัญญาสัมปทาน ITD ในทวาย ให้ win-win ทุกฝ่าย ยืนยันเดินหน้า เพราะเห็นว่ายังเป็นประโยชน์ต่อการค้าการลงทุนทั้งในทวายยาวไปถึงอีอีซี

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรณีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ถูกคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (DSEZ MC) ยกเลิกสัญญาสัมปทานพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย จำนวน 7 ฉบับ ว่า

ช่วยอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ตั้งแต่ต้น พยามยามให้รับรู้ว่า บทบาทของประเทศไทยที่เกี่ยวโยงกับประเทศอื่นเรื่องการพัฒนาทวายเชื่อมโยงกันอยู่ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่ามีการสร้างถนนจากทวายมาบ้านน้ำพุร้อน และข้อสำคัญลงมาถึงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ ลงมาที่อ่าวไทยได้ เรื่องเหล่านี้ทางไทยเองเข้าไปช่วยทำให้มีการหารือระหว่างญี่ปุ่น เมียนมา และไทย มาโดยตลอดหลายช่วงเวลาที่ผ่านมา ในช่วงที่เงียบไปก็เพราะว่า ITD อาจจะต้องการเวลา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังจะฟื้นกลับมา

“ก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงต่างประเทศช่วยภาคธุรกิจทุกธุรกิจอยู่แล้ว กำลังคุย การยกเลิกสัญญากับ ITD เป็นสิ่งที่มีสัญญาณมา แต่ในขณะนี้กำลังคุยให้ทุกอย่างเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย win-win”

เมื่อถามว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมา ส่งผลกระทบต่อการเดินหน้าโครงการทวายมากน้อยแค่ไหน นายดอนกล่าวว่า ต้องใช้เวลาตาม ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะยังคลุ้งกันอยู่

“ก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ มีการคุยกันแล้ว ระหว่างกระทรวงต่างประเทศไทยและกระทรวงต่างประเทศเมียนมา ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป เพียงแต่รับรู้ว่า ข้อตกลงเดิมที่เกี่ยวข้องกับ ITD ในเรื่องทวายน่าจะยังคงอยู่ แล้วเราจะหาทางให้อยู่ได้อย่างไร มีวิธีการใด และท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในด้านนี้อยู่ด้วย แต่ช่วงวันที่ 1 กุมภาพันธ์มีปัญหาการเมืองภายในเมียนมา หลายอย่างเลยเงียบไป เพราะฝุ่นคลุ้งในบ้านเขาอยู่ เราต้องปล่อยให้สถานการณ์คลี่คลายก่อน”

ถามย้ำว่า จุดยืนของรัฐบาลไทยอยากให้โครงการทวายเดินหน้าต่อไปใช่หรือไม่ นายดอนกล่าวว่า ถ้าเดินหน้าต่อไปเป็นประโยชน์ ประโยชน์ต่อเมียนมา ประโยชน์ต่อประเทศไทย เป็นประโยชน์ต่อประเทศต่าง ๆ ที่ใช้เส้นทางนี้ โดยเฉพาะที่มาลงทุนอยู่ในอีอีซี

“ปกติแล้วปัญหาที่เกิดกับนักธุรกิจ หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ เขาจะคิดถึงสถานทูต คิดถึงผู้ที่ทำงานด้านต่างประเทศ เป็นปกติธรรมดาที่จะมาติดต่อ หรือถ้าเรารับรู้ว่า เกิดปัญหาอันใดก็เชื่อมโยง เพราะหน้าที่ของเรา คือ ดูแลผลประโยชน์ของประเทศไทยอยู่แล้ว เป็นงานด้านหนึ่งของสถานทูต งานสถานทูตไม่ใช่เป็นเรื่องของการดูแลคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องครบวงจร ทั้งเรื่องการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ ธุรกิจ สิ่งแวดล้อม ล้วนแล้วแต่อยู่ในงานของสถานทูต” นายดอนกล่าว