รอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล ศึก 3 ก๊ก พปชร. จับตาขั้วใหม่หลังซักฟอก

รายงานพิเศษ

ซีนแทรกก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-10 รัฐมนตรี กลายเป็นการ “ประลองกำลัง” ของพรรคแกนนำรัฐบาล-ความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล

ก่อน “ดีเดย์” ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เกิด “แรงกระเพื่อม” ของกลุ่ม-ก๊วนภายในพรรคพลังประชารัฐ และ “คลื่นใต้น้ำ” ในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง เป็น “ศึกสามเส้า” ระหว่างพลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย

ศึกสามก๊ก พปชร. ประลองกำลัง

หลังจากกลุ่ม “สี่กุมาร” ถูกอัปเปหิออกไป-“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก้าวเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ทว่าความขัดแย้งภายในพลังประชารัฐเป็นเพียงการ “พักรบ” รอวันที่ความเห็นไม่ตรงกัน-ผลประโยชน์ไม่ลงรอย

พลังประชารัฐยังคง character ความเป็นกลุ้ม-ก้อน เกาะเกี่ยวกันด้วยผลประโยชน์ และดูเหมือนว่าจะ “เขม็งเกลียว” ขึงตึง-มัดแน่นมากยิ่งขึ้น ไม่มีการประนีประนอม พร้อมจะแตกหักได้ทุกเมื่อ

“ศึกสามก๊ก” ภายในพรรคพลังประชารัฐ ก๊ก-กทม. “เสี่ยตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ผนึกกำลังกับก๊ก-วิรัช รัตนเศรษฐ ก๊ก-ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่าแท็กทีมกับ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” และก๊ก-สามมิตร สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-สมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ยัง “ซ่อนเล็บ”

ปมขัดแย้งที่ปะทุขึ้น เร่งเร้าให้ “ศึกซักฟอก” เพิ่มดีกรีความน่าสนใจมากขึ้น ไม่ใช่การลับฝีปาก-โชว์กึ๋นการตอบ-โต้ข้อกล่าวหา-ติดปลายนวมการแถลงผลงาน ทว่าเป็นการ “ตัดกำลัง” กันเองภายในพรรคแกนนำรัฐบาล-ระหว่างพรรคร่วม

ทั้งเรื่องที่ “ณัฏฐพล” ยอม “ขัดใจบิ๊กป้อม” ดีกว่า “ขัดใจเมีย” เตรียมส่ง “ทยา ทีปสุวรรณ” เป็นตัวแทน ส.ส.กทม.พลังประชารัฐ ลงรับสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในทางพฤตินัยของพลังประชารัฐ กวาดคะแนน “สาวก กปปส.”

ขณะที่ “บิ๊กป้อม” ต้องการสนับสนุน “น้องรัก” บิ๊กแป๊ะ-พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ถึงขนาดใช้ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ (หลังเก่า) ชั้น 4 เป็นวอลเปเปอร์-วอร์รูม

ความ “ระหองระแหง” ระหว่าง “เสี่ยตั้น” กับ “บิ๊กป้อม” ทำให้เกิด “ช่องว่าง” ระหว่าง “ความเข้าใจ” เกิดเป็นยุทธการ “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว” ของ “ก๊วนรัฐมนตรีช่วย” ที่ใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร

นกตัวแรก เพื่อเป็นการ “เอาใจนาย” โดยการแสดงแสนยานุภาพ-ระดม 30 ส.ส. (ขู่) ลงมติ “ไม่ไว้วางใจ” นายณัฏฐพล เจ้ากระทรวงเสมา ที่ช่วงนี้เหมือนเป็น “ปีชง” กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” ของพรรค

นกตัวที่สอง เมื่อนายณัฏฐพลได้ “คะแนนไว้วางใจ” ไม่ผ่านเกณฑ์-ต่ำกว่ารัฐมนตรีคนอื่น และนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่งผลให้ได้ “เลื่อนขั้น” จาก “รัฐมนตรีช่วย” เป็น “รัฐมนตรีว่าการ”

ทว่าตราบใดที่ “บิ๊กป้อม” ยังกุมบังเหียนหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ไม่มีใคร “กล้าแตกแถว” จนทำให้การลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “เสียงแตก” เว้นเสียแต่ว่า “พี่ใหญ่” จะส่งสัญญาณแรง “ไม่ไว้วางใจ” เสียเอง

รัฐบาลเสียงแตก-จับขั้วใหม่

นอกจากความ “ไม่เป็นเอกภาพ” ภายในพรรคแกนนำรัฐบาล-พลังประชารัฐแล้ว ความ “ไม่เป็นปึกแผ่น” ของพรรคร่วมรัฐบาลได้ “บั่นทอน” ความไว้เนื้อเชื่อใจ และกัดเซาะ “เสถียรภาพ” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ให้ “สั่นคลอน”

รูปธรรมที่สุด คือ ผลการลงมติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความรัฐธรรม-ญัตติของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ สะท้อนให้เห็นความ “ไม่ลงรอยกัน” ในทางความคิด-อุดมการณ์ทางการเมือง

จากจำนวน “เสียงแตก” ของผู้ลงมติเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยทั้งหมด 696 เสียง แบ่งออกเป็น เห็นด้วย 366 เสียง ไม่เห็นด้วย 316 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง และไม่มาโหวต 41 เสียง

อีกด้านหนึ่ง “ผลโหวต” สะท้อนถึงการ “จับขั้วการเมืองใหม่” เป็น “โซลูชั่น” ของการ “ต่อสู้” ในเชิงความคิด-อุดมการณ์ทางการเมือง ไม่มีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง เป็น “วาระซ่อนเร้นทางการเมือง” มาเป็น “องค์ประกอบ” ในการตัดสินใจร่วมรัฐบาล-ร่วมฝ่ายค้าน

“ข้อมูลใหม่” คือ มีมือที่ “เห็นด้วย” กับการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จำนวน 366 เสียง ประกอบด้วย ส.ว. 230 เสียง พลังประชารัฐ 113 เสียง พลังท้องถิ่นไท 5 เสียง รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง ประชาธิปัตย์ 1 เสียง

พลังธรรมใหม่ 1 เสียง พลังชาติไทย 1 เสียง พลเมืองไทย 1 เสียง ไทยรักไทย 1 เสียง ประชาภิวัฒน์ 1 เสียง ประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง ประชาธรรมไทย 1 เสียง ไทรักธรรม 1 เสียง ครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง เศรษฐกิจใหม่ 1 เสียง

โดยเฉพาะจำนวนพรรค-จำนวนมือ “ไม่เห็นด้วย” ซึ่งมีทั้งพรรคร่วมรัฐบาล-ร่วมฝ่ายค้าน 11 พรรค 316 เสียงประกอบด้วย เพื่อไทย 124 เสียง ภูมิใจไทย 60 เสียง ก้าวไกล 51 เสียง ประชาธิปัตย์ 47 เสียง ชาติไทยพัฒนา 12 เสียง เสรีรวมไทย 9 เสียง ประชาชาติ 5 เสียง เพื่อชาติ 5 เสียง พลังปวงชนไทย 1 เสียง ไทยศรีวิไลย์ 1 เสียง และเศรษฐกิจใหม่ 1 เสียง

งดออกเสียง-ขาดประชุม พลิกขั้ว

ขณะที่ “ตัวแปร” ในการ “ดีเลย์” การรื้อ-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คือ ตัวเลขการ “งดออกเสียง” และ “ไม่มาโหวต” ที่พร้อมจะพลิกขั้ว-ย้ายข้างได้ตลอดเวลา ประกอบด้วย

“งดออกเสียง” จำนวน 15 เสียง ได้แก่ ส.ว. 7 เสียง ชาติพัฒนา 4 เสียง เศรษฐกิจใหม่ 4 เสียง และ “ไม่มาโหวต” จำนวน 41 เสียง ได้แก่ ส.ว. 13 เสียง เพื่อไทย 10 เสียง ประชาธิปัตย์ 3 เสียง ภูมิใจไทย 2 เสียง ก้าวไกล 2 เสียง ประชาชาติ 2 เสียง เสรีรวมไทย 1 เสียง

พลังประชารัฐ 8 เสียง 1.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ 2.น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี 3.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 4.นายสถิระ เผือกประพันธุ์ 5.นายสันติ พร้อมพัฒน์ 6.นายสุชาติ ชมกลิ่น 7.นายสุชาติ ตันเจริญ และ 8.นายสุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์

มิหนำซ้ำยังมีเรื่องการ “หักดิบ” ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งซ่อมเขต 3 จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ “ติดใจ” กันอยู่

ไม่นับรวมถึงการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบริษัทบีทีเอส ที่ยัง “ค้างเติ่ง” อยู่ในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งกระทบชิ่งรัฐมนตรีพรรคร่วมจาก 2 กระทรวงที่ถูกซักฟอก

ทั้ง “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย-กำกับกรุงเทพมหานคร และ “เสี่ยโอ๋” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากค่ายภูมิใจไทย

วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2564 แกนนำพลังประชารัฐ จึงต้องเปิดพรรค-จองโรงแรม “ติวเข้ม” 10 รัฐมนตรี เพื่อเตรียมข้อมูลชี้แจง ไม่ให้ “ผิดคิว” และ “แฉกลางสภา” เพื่อโยนความผิดกันเอง

ล้มศึกซักฟอกตอกลิ่มรอยร้าว

ตอกลิ่มค่านิยม-รสนิยม และอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล ที่มาจาก “ร้อยพ่อพันแม่” ต่างที่-
ต่างทาง ที่มาร่วมรัฐบาลด้วยหลายเหตุผล-ต่างเงื่อนไข

ญัตติร้อนสะเทือนฝ่ายนิติบัญญัติ-ขวางการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เพื่อให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรโหวตให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าญัตติของฝ่ายค้านขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ด้วยเหตุผลเกี่ยวข้องกับสถาบัน

ไม่เฉพาะ 6 พรรคฝ่ายค้านต้องแสดงแอ็กชั่น-ทักท้วงว่าการกระทำเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรัฐสภา เตรียมยื่นเรื่องสอบ “จริยธรรม” ตัวต้นเรื่องข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบรัฐสภา

ทว่า พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลเอง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ “ค้าน
สุดตัว” ในเรื่องการ “ล้มญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ที่เป็น “กลไกตรวจสอบทางการเมือง” ของฝ่ายนิติบัญญัติ “ทางเดียว” ที่ดูจะเหลืออยู่ในเวลานี้

“แกนนำพลังประชารัฐในสภา” หารือกันว่า ญัตติดังกล่าวเป็น “ญัตติขู่” ห้ามฝ่ายค้านพูดพาดพิงสถาบัน และจะไม่แผลงฤทธิ์เฉพาะตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังหวังผลถึงการอภิปรายต่าง ๆ ในสภาสมัยประชุมถัดไปด้วย

พรรคร่วมออกห่าง

“ไพบูลย์” บอกว่า ญัตติที่ยื่นไปมิใช่เป็นญัตติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญธรรมดา แต่เป็น “คำร้องยุบพรรค” หากในสภามีการพูดเลยเถิด เพราะในญัตติได้แนบพร้อมกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2562 เรื่องการยุบพรรคไทยรักษาชาติ

เมื่อญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน 6 พรรค กล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ ว่า “ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย”

“ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง”

เป้าประสงค์คือการใช้ญัตติดังกล่าวนอกจากจะ “ซ่อนดาบยุบพรรค” ที่เป็นของถนัด-แบบฉบับของนายไพบูลย์แล้ว ยังเป็นเครื่องมือ พิทักษ์นายกฯ-ใส่เกราะประยุทธ์ ไม่ให้ถูกย้อนศร-ตีความใหม่เรื่องการดึงฟ้าต่ำ


ทั้งเรื่องการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ดีเลย์การรื้อ-ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการล้มญัตติซักฟอก จึงเป็นกระแสตีกลับ สุมไฟความไม่พอใจนอกพรรค-จุดประกายไฟในพรรคร่วมรัฐบาลให้ตีตัวออกห่าง