ดุสิตโพลเผยหลังศึกอภิปราย ประชาชนให้คะแนนฝ่ายค้านมากกว่ารัฐบาล

ประชาชนให้คะแนนฝ่ายค้านมากกว่ารัฐบาล

สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจหลังอภิปราย ประชาชนให้คะแนนฝ่ายค้านมากกว่า ไม่เชื่อมั่นรัฐบาล มองการเมืองไทยยังเหมือนเดิม จุดเด่นยกให้ภาพรวมฝ่ายค้าน ชี้จุดด้อยประท้วงบ่อย คะแนนเต็ม 10 ให้ฝ่ายค้านมากกว่า

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 มติชน รายงานข้อมูลจาก สวนดุสิตโพล ว่า จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 10 คน เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ และติดตาม ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหลายๆ ด้านนั้น

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศเฉพาะผู้ที่สนใจติดตามการอภิปราย กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,712 คน ระหว่างวันที่ 17-20 กุมภาพันธ์ 2564 สรุปผลได้ดังนี้

  1. ประชาชนติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากช่องทางใด ส่วนใหญ่ติดตามผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียมากที่สุด ร้อยละ 43.81
  2. ”จุดเด่น-จุดด้อย” ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า จุดเด่นของการอภิปราย คือ ภาพรวมการซักฟอกของฝ่ายค้าน ร้อยละ 52.64 ส่วนจุดด้อย คือ การประท้วงบ่อย ทำให้เสียเวลา ร้อยละ 71.26
  3. หลังการอภิปรายเสร็จสิ้นลง ประชาชนคิดว่าการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร? ส่วนใหญ่คาดว่าการเมืองไทยจะเหมือนเดิม ร้อยละ 55.40
  4. ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อ “รัฐบาล” หลังจากผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วเป็นอย่างไร ? ส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล ร้อยละ 43.25
  5. ภาพรวมการให้คะแนนของประชาชนต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล (คะแนนเต็ม 10) ให้คะแนนเต็มสิบฝ่ายค้าน 6.90 คะแนน ให้คะแนนฝ่ายรัฐบาล 5.01 คะแนน

น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 2 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประชาชนให้คะแนนฝ่ายค้านมากกว่าฝ่ายรัฐบาล เพราะเห็นว่าภาพรวมทำงานได้ดี มีเนื้อหาน่าสนใจ เตรียมข้อมูลเชิงลึกมาอภิปรายให้เห็นภาพ โดยมองว่าหลังจบอภิปรายครั้งนี้สถานการณ์การเมืองไทยก็น่าจะยังเหมือนเดิม และที่สำคัญ ประชาชนนั้นรู้สึก “ไม่เชื่อมั่น” ต่อรัฐบาล ถึงแม้ในสภา 10 รัฐมนตรีจะได้รับการไว้วางใจก็ตาม

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดังนภสร ณ ป้อมเพชร หลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจคือ มาตรการหรือเครื่องมืออย่างหนึ่งในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ การตัดสินใจ รวมไปถึงความโปร่งใสของรัฐบาล ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของฝ่ายนิติบัญญัติในการคานอำนาจของรัฐบาล และยังเป็นการขับเคลื่อนกลไกทางการเมืองให้เป็นไปตามแนวทางในระบอบประชาธิปไตย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดังนภสรระบุว่า ความสำคัญของการอภิปรายไม่ไว้วางใจมีมากกว่าการมองเพียง “ผลโหวต” เนื่องจากผลนั้นอาจเกิดจากวิถีทางการเมือง เช่น การที่รัฐบาลมีฐานเสียงมากกว่า ฝ่ายค้านมีหลักฐานไม่เพียงพอ หรือด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม หากแต่ “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” มีความสำคัญในการที่จะสามารถเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมการเมืองที่ดี นั่นคือ การทำหน้าที่ในการใช้อำนาจของประชาชน ในการอภิปรายและชี้แจงด้วยวุฒิภาวะของผู้นำทางการเมือง การนำประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงมาอภิปราย การใช้หลักฐานข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ การเชื่อมต่อการตรวจสอบกับภาคประชาชน เหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะก่อให้เกิดกลไกในการสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้แก่สังคมไทยอย่างแท้จริง