ปฏิรูปกฎหมายตำรวจ ปรับโครงสร้างอำนาจ กรองระบบตั๋ว

ปมร้อน “ตั๋วตำรวจ” ที่ “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล นำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจหัวหน้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทำเอาสะเทือนไปทั้งสภา ลุกเป็นไฟในโลกทวิตเตอร์

เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับข้าราชการตำรวจที่ไม่มีตั๋วพิเศษในการเลื่อนชั้นยศ

ทว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภา อันเป็นวาระส่งท้ายสมัยประชุมปกติ ก็จะหยิบยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอมาพิจารณา

มิได้นำมาพิจารณาเพราะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ ส.ส.ก้าวไกล ซักฟอกผู้นำรัฐบาล แต่เป็นวาระค้างจากการประชุมรัฐสภาครั้งก่อน ที่บังเอิญประจวบเหมาะ ทันสถานการณ์ร้อนพอดี

การปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ มีปฐมเหตุจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้การปฏิรูปตำรวจต้องทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี ที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้

เพราะที่ผ่านมา พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ถูกบังคับใช้มา 16 ปี ปรับปรุงแก้ไขมา 10 ครั้ง ยังมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายและลักลั่น

การแต่งตั้งโยกย้าย การจัดลำดับอาวุโส อันเป็นหัวใจการบริหารบุคคลตำรวจ ไปใส่ไว้ในกฎ ก.ตร. (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) รวมทั้งระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ จึงเกิดความเข้าใจผิด ความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะความไม่คงเส้น คงวา คงที่ ในแต่ละยุคสมัย จึงต้องปรับปรุงให้ทันสมัย

ในการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายกฎหมายรัฐบาล ต่อหน้าองค์ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ สรุปสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ได้ 10 ประการ ดังนี้

1.กำหนดให้ตำรวจเป็นตำรวจที่มียศ และไม่มียศ เช่นเดียวกับทหาร จะปฏิบัติให้มีความชัดเจนมากขึ้น

2.แบ่งอัตรากำลังตำรวจที่มีคนครองบรรจุแล้ว 210,000 อัตรา เป็น 5 กลุ่มสายงาน 1.กลุ่มอำนวยการ 2.กลุ่มธุรการและการสนับสนุน 3.กลุ่มสอบสวน 4.กลุ่มป้องกันและปราบปราม 5.กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ

“ต่อไปนี้ไม่ว่าตำรวจชั้นประทวน หรือสัญญาบัตรต้องอยู่ใน 5 กลุ่มนี้ กลุ่มที่มีความสำคัญมากและจัดอยู่ในกลุ่มพิเศษคือกลุ่มสายงานสอบสวน ประกอบด้วย พนักงานสอบสวนแท้ ๆ มีโอกาสเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ แต่ไม่ใช่เป็นการเลื่อนไหลอย่างที่มีในอดีต คนที่เป็นพนักงานสอบสวนจะต้องมีคุณสมบัติมีคุณวุฒิ มีประสบการณ์พิเศษจึงอยู่ในกลุ่มนี้ได้ และเพื่อรักษาคนที่เป็นพนักงานสอบสวนไม่ให้เคลื่อนย้ายไปอยู่ที่อื่นได้กำหนดไว้ว่ากลุ่มนี้มีโอกาสเคลื่อนย้ายไปอยู่ 4 กลุ่มได้ไม่ลำบาก แต่อีก 4 กลุ่มสายงานจะย้ายมากลุ่มสอบสวนนั้นยาก เพราะจะต้องผ่านคุณสมบัติหลายข้อ เพื่อเก็บพนักงานสอบสวนไว้ในสายงานนี้โดยเฉพาะ”

“และยังกำหนดว่า หากพนักงานสอบสวนเติบโตขึ้นไปจะมีโอกาสได้รับความดีความชอบ ได้รับเงินพิเศษอย่างใดเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจคนที่อยู่ในกลุ่มพนักงานสอบสวน”

4.รับรองสถานภาพสถานีตำรวจเป็นครั้งแรก ข้าราชการตำรวจที่อยู่ในสถานีตำรวจจะถูกสั่งไปช่วยราชการที่อื่น หรือปฏิบัติงานอื่นไม่ได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะจัดตำรวจอื่นมาเสริมแทน เพื่อไม่ให้กำลังตำรวจในสถานีตำรวจขาดแคลน

5.ผ่องถ่ายภารกิจบางภารกิจ เช่น ตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ ตำรวจที่ดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โอนกลับไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาที่กำหนด

6.การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจต้องคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ ความสามารถ และความประพฤติ นำเอาความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่ประเมินแล้วนำมาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ ในขั้นต้นกำหนดว่าตำรวจตั้งแต่ชั้นผู้น้อยสุดไปถึงรองผู้กำกับ ให้ยึดหลักอาวุโสร้อยละ 33 ขณะที่ผู้บังคับการยศนายพลขึ้นไปถึงผู้บัญชาการ คือ พลตำรวจตรีจนถึงพลตำรวจโท ให้ยึดหลักอาวุโสร้อยละ 50 และในลำดับผู้ช่วย ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. ให้ยึดหลักอาวุโส 100%

“สัดส่วนเปอร์เซ็นต์เหล่านี้มีการกำหนดไว้ชัดเจน ซึ่งปัจจุบันมีกำหนดไว้แล้วในกฎก.ตร. แต่ครั้งนี้มาใส่ไว้ในพระราชบัญญัติ หากมีข้อยกเว้นโดยเหตุจำเป็นพิเศษ แต่จะต้องอาศัยความเห็นชอบของ ก.ตร.ด้วย ‘มติเอกฉันท์’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่หนัก แต่ถ้าผ่านด่านเอกฉันท์ไปได้ก็ยอมยกเว้นให้เถอะครับ” วิษณุกล่าว

7.ตำรวจคณะกรรมการใหญ่ ๆ คือ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ซึ่งกำหนดให้นายกฯเป็นประธานโดยตำแหน่ง และมี ก.ตร.กำหนดให้มีการบริหารงานบุคคล ซึ่งทั้ง 2 ชุด อำนาจหน้าที่เหลื่อมล้ำ และหน่วงกัน จึงยุบรวมกัน เรียกว่า “คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ” และมีอำนาจทั้งหมด

8.กำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ของข้าราชการตำรวจ องค์ประกอบ 7 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่ตำรวจ การสรรหามาจากประธานศาลปกครอง รองประธานศาลฎีกา และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นที่ไม่ใช่ตำรวจ มาประกอบเป็น ก.พ.ค.พิจารณา รับเรื่องร้องเรียนจากตำรวจในเรื่องการบริหารงานบุคคล

9.ให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนข้าราชการตำรวจ (กร.ตร.) ประกอบด้วยจากบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ตำรวจ แต่มีจเรตำรวจแห่งชาติ มาเป็นเลขานุการ รับเรื่องร้องเรียนของประชาชน

10.กำหนดให้มี “กองทุน” ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … อาจเป็นจุดเริ่มต้น ล้างระบบ “ตั๋วตำรวจ” ก็เป็นได้