“ฝ่ายค้าน” ปรับแท็กติกรัฐธรรมนูญ ผนึกกำลัง ขวางขบวนการ แก้รายมาตรา

เสียงพรรคร่วมฝ่ายค้าน-การเมือง

4 มีนาคม 2564 อาจเป็นวันที่องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินเกมแก้รัฐธรรมนูญ ภายหลังนัดพิจารณาคดีที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (1)

โดยให้ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมคิด เลิศไพฑูรย์ และ อุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษก กรธ. ทำความเห็นเป็นหนังสือโดยให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันพุธที่ 3 มีนาคม 2564 มาประกอบการพิจารณา

เพื่อตีความว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้หรือไม่ หรือให้แก้ได้เฉพาะรายมาตรา โดยศาลนัดประชุมต่อเนื่องในวันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม 2564

เรื่องของเรื่อง “อุดม” อดีตโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยไปให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ พ.ศ. …. ว่า ในความเห็นส่วนตัวที่ไม่ใช่ กรธ. เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มุ่งหมายให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเท่านั้น มิได้มุ่งหมายให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ มาก่อนหน้านี้

เมื่อเกมรัฐธรรมนูญเป็นการเดิมพันทางการเมืองในอนาคต ทั้งกติกาการเลือกตั้ง ประตูสู่อำนาจ กติกาการบริหารประเทศ 6 พรรค ฝ่ายค้านจึงต้อง “รวมพลัง” ปรับแท็กทีมแก้เกมฝ่ายรัฐบาล

ปรับแผนเดินหน้าพร้อมกันทั้งองคาพยพ ไม่มีต่างคน-ต่างเดิน แยกกันโหวต แต่จะโหวตตามยุทธศาสตร์พรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อให้เกิดพลังในการต่อสู้

และอาจเป็นเพราะเป็นบทเรียนจากในอดีตที่เพื่อไทย-ก้าวไกล แยกกันเดิน ต่างฝ่ายต่างยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เป็นขบวน

มาครั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงมีมติร่วมกันยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากนักวิชาการกฎหมายคนอื่น ๆ นอกจาก 4 คนข้างต้น

“ชูศักดิ์ ศิรินิล” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีข้อสังเกตและตั้งประเด็นว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญฟังความเห็น อาจารย์มีชัย นายอุดม บุคคลต่าง ๆ เหล่านี้มีส่วนในการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ทั้งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่มีความเห็นหลากหลายจากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ มากมายในอดีต

“ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงยกร่างหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอความกรุณาจากศาลรัฐธรรมนูญให้รับฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่านี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา โดยน่าจะฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมายมหาชน และด้านกฎหมายต่าง ๆ ว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ไขได้อย่างไร เพื่อให้ศาลได้พิจารณารอบคอบมากขึ้น”

ขณะที่ “สุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้าน เผยความในใจของที่ประชุมวิปฝ่ายค้าน โดยเก็งว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ จะส่งผลทางสังคมเกิดความขัดแย้งตามมา เกิดความไม่ไว้วางใจกันมากขึ้นไปอีก

อาจเกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญได้ เพราะเป็นการหักมุมแบบ 360 องศา อุตส่าห์เดินมาไกลขนาดนี้ แต่ถูกหัก น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง แม้ศาลรัฐธรรมนูญตีตกการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ฝ่ายค้านจะหาวิธีอื่นแก้รัฐธรรมนูญต่อไป อาจเป็นการแก้รายมาตราที่ฝ่ายค้านเคยเสนอไป 6 มาตราก่อนหน้านี้ ถ้าไม่ผ่านก็ต้องสู้ต่อ

และหากสุดท้ายลงเอยที่ “แก้เป็นรายมาตรา” ก็เข้าทางฝ่ายผู้มีอำนาจที่เขาล็อกการแก้ไขมาตราที่ต้องการไว้เช่นเดิม ไม่ใช่รายมาตราที่ฝ่ายค้านหรือประชาชนอยากได้ เรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่

“สุทิน” ขยายความ “คำขอ” ของฝ่ายค้านที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่ค้านไม่ให้ฟังเสียงแค่มีชัย-บวรศักดิ์-อุดม-สมคิด ว่า “เขาก็ร่างรัฐธรรมนูญมาเองกับมือ เขาก็ไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญที่ตัวเองเขียน เพราะเขียนด้วยมือลบด้วยมือได้อย่างไร เขาอาจคิดว่าเขาคิดถูกแล้ว ถ้าศาลรัฐธรรมนูญฟังพวกนี้ก็ต้องไปทางนั้นอยู่แล้ว ทำไมไม่เชิญอย่างอาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาให้ความคิดเห็นบ้าง”

“สุทิน” คาดการณ์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะรับคำขอจากฝ่ายค้าน

การรวมพลังของพรรคร่วมฝ่ายค้าน สู้เกมแก้รัฐธรรมนูญทั้งในสภา-นอกสภา ฟื้นกระแสแก้รัฐธรรมนูญขึ้นมาอีกครั้ง