ศาล-84 ส.ว.ชี้ชะตารัฐธรรมนูญ ล้มเลือก ส.ส.ร. คว่ำเกมแก้ทั้งฉบับ

จุดหัวเลี้ยวหัวต่อการเมือง ที่กระตุ้นอารมณ์การเมืองนอกทำเนียบรัฐบาล-รัฐสภา
นอกจากการปรับคณะรัฐมนตรี ยังมีเกมแก้รัฐธรรมนูญ ที่เป็นหัวใจของการเรียกร้องของม็อบนอกสภา

3-4 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลรัฐธรรมนูญจะมีวาระพิจารณาเรื่องที่รัฐสภาส่งให้ศาลตีความว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับ หรือรายมาตราอันเกี่ยวพันกับการมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งจะมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่

ตามคำร้องของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และสมชาย แสวงการ ส.ว.

ร่องรอยที่ปรากฏในรัฐสภา นักเลือกตั้งอาชีพทั้งฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน อ่านทิศทางลมว่ามีโอกาส “แท้ง” สูง และมีโอกาสพลิกได้ 3 ทาง

ทางที่ 1 แท้งตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้อนุญาตให้แก้ทั้งฉบับ ทำได้เพียงแก้ไขรายมาตราเท่านั้น โดยนำเหตุผลของอดีตกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้ง มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. อุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็น 4 บุคคลที่ 9 ตุลาการขอความเห็นมาประกอบการพิจารณา จะทำให้เผือกร้อนตกอยู่กับศาล

ทางที่ 2 ล้มกระดานในวาระ 3 ทั้งนี้ผู้สันทัดกรณีในฝ่ายนิติบัญญัติอ่านการเดินเกมของ “ไพบูลย์-สมชาย” ที่สามารถระดมเสียง ส.ว. มาลงมติในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ขอให้ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ได้ถึง 230 เสียง

“กลุ่ม ส.ว.มีความกังวล เพราะเรื่องพระราชอำนาจ 39 มาตรา ที่กระจายอยู่หลายมาตราในรัฐธรรมนูญ 2560 หาก ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่มีอะไรการันตีว่าจะคงอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” ส.ส.ฝ่ายค้านที่อยู่ในกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวิเคราะห์

ซึ่งการโหวตในวาระที่ 3 จะต้องใช้เงื่อนไขพิเศษ 84 เสียง ของ ส.ว.เห็นชอบด้วย และได้รับเสียงเห็นชอบจากทุกพรรคการเมืองในรัฐสภาที่ไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรี หรือประธาน-รองประธานสภาสังกัดอยู่ ดังนั้น หากระดมเสียง ส.ว.แค่ 84 เสียง “โหวตโน” ในวาระ 3 ได้ ก็จะแท้งทันที

ทางที่ 3 ในมุม “โลกสวย” ที่สุด หากฝ่าด่านศาลรัฐธรรมนูญ และการลงมติวาระ 3 ไปได้ ก็มาถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน ที่ถูกดีไซน์มาแล้วเป็นอย่างดี

เพราะในมาตรา 256/4 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ระบุว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ใช้วิธีการออกเสียงโดยตรงและลับ ให้แต่ละเขตเลือกตั้งมี ส.ส.ร.ได้เขตละ 1 คน

“สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน มองว่า เป็นระบบซอยย่อย ให้ฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบ เหมือนกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่ออำนาจรัฐอยู่ในมือ ก็มีโอกาสที่จะล็อกคนเป็น ส.ส.ร.ได้

สอดคล้องกับ “รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ไม่เห็นด้วยต่อมติ ที่ประชุมร่วมรัฐสภา วาระ 2 ที่ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เขตละ 1 คน 200 เขต โดยผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ร.ได้ 1 คน

ระบบนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้สมัครที่มีหัวคะแนนเชื่อมโยงกับ ส.ส. และนักการเมือง เอื้อต่อผู้มีชื่อเสียง มีอิทธิพล หรือมีฐานคะแนนเสียงอยู่แล้วในพื้นที่ เปิดโอกาสให้กลไกรัฐระดมสรรพกำลังเข้ามาแทรกแซงได้ง่าย

ที่สำคัญ เป็นระบบเลือกตั้งที่ตัวแทนหลากหลายของคนกลุ่มต่าง ๆ หรือคนกลุ่มน้อย มีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับเลือกเข้าไปทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในสภาร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้เลือกตั้งมีเสียงเดียว และผู้ชนะมีเพียงคนเดียวที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด

“สิริพรรณ” เสนอว่า ระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมกว่าในการเลือก ส.ส.ร. ครั้งนี้ คือ ระบบเสียงข้างมากธรรมดา หนึ่งเขตหลายคน คะแนนเสียงเดียว ถ่ายโอนคะแนนไม่ได้ (single nontransferable vote-SNTV) เป็นระบบเลือกตั้งที่คนไทยเคยใช้มาแล้วในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2543

หลักการของระบบเลือกตั้ง SNTV คือ หนึ่งเขตเลือกตั้งมีตัวแทนได้มากกว่า 1 คน แต่ผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถลงคะแนนได้เพียง 1 เสียงเท่านั้น ผู้ชนะการเลือกตั้งคือผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุดตามลำดับลงมา เท่าจำนวนผู้แทนที่เขตเลือกตั้งนั้นพึงมี เช่น ในเขตที่มีผู้แทนได้ 5 คน ผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุดอันดับ 1 ถึงอันดับ 5 จะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง เป็นหลักประกันให้คนกลุ่มน้อยสามารถเข้ามาเป็นตัวแทนในเขตนั้น ๆ ได้

เพราะคะแนนเสียงประมาณ 1 ใน 5 ก็อาจทำให้ผู้สมัครชนะการเลือกตั้งได้ ไม่ต้องอาศัยชื่อเสียงของพรรคหรือระบบพรรคที่เข้มแข็ง นอกจากนั้นยังเป็นระบบที่ผู้เลือกตั้งเข้าใจง่าย เพราะเลือกลงคะแนนได้ 1 เสียง ให้กับผู้สมัครที่ชอบที่สุดเพียงคนเดียว

เกมแก้รัฐธรรมนูญกำลังจะถึงจุดตัดสำคัญ