สุพัฒนพงษ์ 6 เดือน ในทำเนียบ ไม่ได้ขอให้ปีนเขา-ดิ่งพสุธา 31 ขาต้องเดินพร้อมกัน

“สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี-รมว.พลังงาน “ก้าวเท้าแรก” เข้าทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางสาธารณสุข – ความไม่เชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ

ตลอด 6 เดือนในทำเนียบของ “สุพัฒนพงษ์” ทำอะไรไปแล้วบ้าง ?

3 เดือนของการแพร่ระบาดโควิด 19 – ล็อกดาวน์ ระลอกแรก ออกมาตรการเยียวยา-ปั๊มหัวใจเศรษฐกิจ กว่า 8 แสนล้านบาท แบ่งเป็น มาตรการเยียวยาโดยตรง-แจกเงินให้กับคนตัวเล็ก จำนวน 33 ล้านคน 4 แสนกว่าล้านบาท

มาตรการเสริมสภาพคล่อง-สินเชื่อซอฟท์โลน 2.5 แสนล้านบาท และลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน เช่น ค่าน้ำ-ค่าไฟ คืนค่าประกันมิเตอร์น้ำ-ไฟ 5 หมื่นล้านบาท รวมถึงพักชำระหนี้ ปลอดเงินต้น-ดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน มูลหนี้กว่า 7 ล้านล้านบาท จำนวน 12.8 ล้านคน

“สุพัฒนพงษ์” ต้นตำหรับนโยบาย Co-pay คลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคต่อ-ประยุทธ์นิยม ไล่เรียงตั้งแต่ โครงการคนละครึ่งเฟสแรก-เฟสที่สอง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการช้อปดีมีคืน และโครงการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่-จ่ายค่าจ้างแรงงาน “คนละครึ่ง” ระหว่างรัฐกับบริษัทผู้ประกอบการ

3 เดือนหลังการแพร่ระบาดโควิด 19 “ระลอกสอง” เขาต้องทุบกระปุก “เงินกู้” กวาดทุกเก๊ะ “งบฉุกเฉิน” เพื่อมากระชากเศรษฐกิจจากอาการช็อก ทั้งโครงการ “เราชนะ” แจกคนละ 7,000 บาท 31 ล้านคน 2.1 แสนล้านบาท โครงการ “ม33เรารักกัน” สำหรับแรงงานผู้ประกันตนมาตรา 33 เกือบ 10 ล้านคน 3.7 หมื่นล้านบาท รวมแล้วเยียวยาประชาชน กว่า ก558,000 ล้านบาท

ปัจจุบันเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เยียวยาประชาชน-อนุมัติโครงการไปแล้ว 256 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 7.5 แสนล้านบาท คงเหลือ 2.5 แสนล้านบาทสำหรับเยียวยาประชาชนในช่วงที่เหลือ

“สุพัฒนพงษ์” ประเมินผลงาน 6 เดือนที่ผ่านมา ว่า “ผมไปคลุกอยู่กับการประคับประคองเยอะ แต่เดี๋ยวจะปิดละ เรื่องการประคับประคอง น่าจะจบละ วันนี้เขาทำได้แล้ว เมื่อก่อนลงรายละเอียดเยอะ ใช้เวลากับมันเยอะ”

นโยบายเศรษฐกิจหลังจากนี้จะค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านและเปลี่ยนถ่ายระหว่างการฟื้นกับการเติบโตในปี 64 คู่ขนานไปกับปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อหาจุดอ่อนประเทศไทยและดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศในปี 65
หลังจากนี้ทั้งปี 64 ลากยาวไปถึงปี 65 “สุพัฒนพงษ์” จะผันตัวเองไปลงมือทำ ร่วมกับทีมปฏิบัติการเชิงรุกที่มี

“ม.ล.ชโยทิต กฤษดากร” เป็นหัวหน้าชุด ในการออกแพ็กเกจดึงดูดนักลงทุนในประเทศ-ต่างประเทศ อาทิ การปรับกฎเกณฑ์ ปรับอัตราดอกเบี้ย ปรับลดอัตราภาษีให้แข่งขันกับสิงค์โปร ฮ่องกง มาเลเซีย เวียดนาม หรือ ประเทศที่เป็นคู่แข่ง

ผนึกกำลังกับ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ในการกีโยตินกฎหมาย-ลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ อาทิ การตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) การขอวีซ่า (visa) ใบอนุญาตทำงาน (work permit) พิธีศุลกากร เป็นสิ่งที่ทำอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้ดีขึ้น การได้วีซ่าอาจจะเร็วขึ้น แต่ได้วีซ่าไปแล้ว การดำรงอยู่ไม่สะดวก เพราะต้องมารายงานตัว ต้องมาแสดงตน ต้องตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกไป

“ไม่ใช่การตบมือสองข้างแล้วดัง แต่เป็นการวิ่ง 31 ขา และต้องวิ่งไปพร้อมกัน วิ่งให้นานที่สุด อย่าล้ม และเร็วด้วย นั่นคือความท้าทาย ถามว่ายากไหม ไม่ยาก ถามว่าเยอะไหม เยอะ เพราะต้องผูกขาติดกันและทำไปพร้อมกัน”

“ผมเป็น investor มาก่อน เข้าสู่ความสุขของการทำธุรกิจ ผมหาไม่ได้ในประเทศที่มีท่าเรือ ถนน หนทาง คนเป็นมิตร ระบบ Labor Union ไม่เยอะ กว่าผมจะได้ความสุขจากสิ่งเหล่านี้ได้ ต้องฝ่าเรื่องอย่างนี้”

“กว่าจะฝ่าพ้นแล้วได้ความสุขมันนานเกินการทำกิจกรรมธุรกิจในยุคสมัยนี้”

“ไม่ต้องห่วง ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่และน่าลงทุน ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ ลองนึกภาพ ถ้าประเทศน่าอยู่ อยู่ได้ดี มีความสุขและอยู่อย่างปลอดภัย ทำไมเราไม่แบ่งบันพื้นที่บางส่วนให้เขามาอยู่ร่วมกับเรา ในเมื่อคนของเราเล็กลงไป ๆ เรื่อย ๆ คนวัยทำงานก็น้อยลงไป ๆ เรื่อย ๆ เราเลือกอยากจะทำงานแบบเดิม ใช้แรงงานจำนวนมากและพึ่งพาแรงงานต่างด้าวหรือไม่ เป็นปัญหาที่ต้องขบคิด แต่ไม่ใช่แก้ภายในข้ามคืน ต้องใช้เวลา”

เรื่องเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของการวิ่ง 31 ขา วิ่งแบบผูกขาติดกัน วิ่งให้พร้อมกัน ซิงโครไนซ์ แค่นี้ประเทศไทยก็โคตรน่ากลัวเลย วิ่ง 31 ขา ถ้าทำได้ดี วิ่งพร้อมกันก็จะเร็วมาก ผมคุมไม่ได้ 31 ขา

“สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้ เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ เรื่องที่ขอไม่ได้ยากเลย ไม่ได้ให้ไปปีนเขา ไม่ได้ให้ไปดิ่งพสุธา ขอให้ผูกขา แล้วก็ 1 2 3 วิ่ง ซ้าย ๆ ๆ ๆ เดินก่อนก็ได้ แล้วก็ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา แค่นั้น

แม้ทุกสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจไทยในปี 64 ยังโงหัวไม่ขึ้น ล่าสุด คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ จีดีพี 1.5-3 % แต่ “สุพัฒนพงษ์” เห็นต่าง

“จะพูดอะไรก็พูด ผมไม่ยอม ทำไมเราต้องไปยอม ทุกสำนักพูดว่าเราแย่ ถ้าเรายอมรับเราก็จะติดไปกับตัวเลขเหล่านี้ เป็นแทคติกของแต่ละสำนักต้องพูดต่ำ ๆ ไว้เพื่อกดดันรัฐบาลทำให้ดีขึ้น”

“ผมนั่งดูทุกเม็ด ปีที่แล้วก็หักปากกาเซียนมาแล้ว ปีนี้ทำไมจะหักไม่ได้ ไม่ใช่รัฐบาลคนเดียว ขึ้นอยู่กับคนไทยทุกคน ขณะนี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยเดินทุก engine ปี 64 ประคับประคอง ถ้าได้ 4 % ถือว่าดีมาก ภายในปี 65 เศรษฐกิจไทยจะฟื้น”

“บริษัทเก่าของผม ครึ่งปี ขาดทุนไปหมื่นล้านบาท แต่เราเป็นกรรมการ เราบอกอย่างเดียว ต้องไม่ขาดทุน ซึ่งเขาก็ปิดได้ เขาก็วิ่ง 31 ขา ทุกหน่วยงาน”

“เอกชนจะวิ่งเร็วหน่อย รัฐบาล 31 ขาก็อาจจะเดินอยู่ แต่อย่างน้อย 31 ขาต้องเดินให้ได้ ไม่ต้องวิ่งเร็ว ช้าก่อนก็ได้ แต่เอกชน เป๊ะ ทุกเม็ด”

“วันนี้เราซ้อมให้รู้สึกว่า ไม่ยาก ถ้าขืนยอมรับกับเป้าที่ใครก็ไม่รู้มาบอกเรา เป้าจากคนที่รู้น้อยที่สุด ไม่ใช่เขาไม่เก่ง ถ้าเรายอมรับมัน ผมว่ามันง่ายเกินไป”

“เราเพิ่งจะตั้งเป้าที่จะต้องเชื่อมั่นในตัวเองและทำให้เต็มที่ อย่ายอมรับอะไรง่าย ๆ เพราะทุกอย่างในอนาคตเปลี่ยนได้ ความพยายามหลายอย่างที่เราทำ มันสะท้อนถึงผลลัพธ์ที่เป็นบวกกับประเทศ ผมถึงเฉย ๆ”

“สุพัฒนพงษ์” ยกตัวอย่างสมัยที่ยังเป็นบอร์ด บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ขึ้น “ปลุกใจ”

“ตั้งแต่ตั้งบริษัทมา 10 ปี ไม่เคยขาดทุน ปีที่ 11 ติดลบหมื่นล้าน ทำยังไงก็ได้ กูไม่ยอมให้ขาดทุน ซึ่งก็ทำได้ มันคือพลังของการวิ่ง 31 ขา”