เกาะติด 4 ท่าที รัฐสภาโหวตวาระ 3 แก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญ

REUTERS/Chalinee Thirasupa

เข้าสู่ช่วงไคลแมกซ์ ชี้ชะตาการลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่….) พ.ศ…. วาระที่ 3

สถานการณ์ยังอยู่ในช่วง “ฝุ่นตลบ” แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญนัดถกด่วน กระทั่งออกคำวินิจฉัยกลางมา 11 หน้า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ก่อนถึงเวลานัดลงมติวาระ 3 ถึง 2 วัน ทั้งที่ ใจความของคำวินิจฉัยกลาง ไม่แตกต่างไปจากคำวินิจฉัยฉบับย่อที่ออกมาเมื่อ 11 มีนาคม

ในคำวินิจฉัยกลาง หน้า 10 และ 11 ศาลรัฐธรรมนูญระบุย้ำไว้ 2 ครั้ง

โดยหน้า 10 ระบุว่า “หากรัฐสภาประสงค์จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

และย้ำในหน้า 11 ว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

กล่าวคือ หากจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน หาก “ผลประชามติเห็นชอบด้วย” ถึงจะมีการ “ดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต่อไป”

แต่ทั้งพรรคการเมืองในฝ่ายรัฐบาล พรรคการเมืองฝ่ายค้าน และ ส.ว. 3 ตัวละครที่จะลงมติในวาระที่ 3 ยังแสดงความเห็นไปคนละทาง

ที่ถกเถียงกันหนักคือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่….) พ.ศ. …จะลงมติในวาระ 3 กันได้หรือไม่ อย่างไร

เพราะคำวินิจฉัยของศาลระบุตอนหนึ่ง “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 (ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว) ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 อันเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้”

4 ท่าทีก่อนลงถึงนาทีดีเดย์

ดังนั้น เมื่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หมวด 15/1 กำหนดไว้ว่าย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้เกิดการตีความผลกระทบหากลงมติวาระที่ 3 ที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.เห็นไปคนละทางดังนี้

1. ตีตก – ถอนญัตติ ได้แก่ ส.ว.

นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ฐานะเลขานุการวิปวุฒิสภา กล่าวว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จะลงมติวาระ 3 ในวันที่ 17 มี.ค.นี้ ถือว่าเป็นโมฆะเรียบร้อยแล้ว เพราะถ้าดูจากคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าศาลวินิจฉัยชัดเจนว่าเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งทำไม่ได้

ทางออกให้ร่างดังกล่าวตกไปเลยตามคำวินิจฉัยของศาล หรือให้ประธานรัฐสภาใช้ดุลยพินิจชี้ขาดให้ร่างดังกล่าวตกไป ขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภาจะหารือกัน แต่ไม่สามารถใช้วิธีแช่แข็งร่างแก้ไขให้ค้างวาระไว้ แล้วไปรอทำประชามติ เพราะร่างดังกล่าวเป็นโมฆะไปแล้ว ถึงอย่างไรก็ต้องตกไป

พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ระบุว่า จากคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ มีความชัดเจนว่าหากจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับต้องนำไปถามประชาชนผ่านการทำประะชามติ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้สอบถามประชาชน เพราะเป็นการยื่นญัตติของสมาชิกรัฐสภา และมีเนื้อหาสำคัญ ระบุไว้ในร่างหมวด 15/1 ว่าด้วยกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งตนมองว่า ไม่ถูกต้อง

“สำหรับแนวทางนั้นมีความเป็นไปได้ว่า จะเสนอให้ผู้ที่เสนอญัตติถอนเรื่อง หรือให้ที่ประชุมพิจารณาให้ตกไป ส่วนการลงมติวาระสามนั้นเป็นไปไม่ได้ เว้นแต่ดื้อดึงให้โหวต บุคคลนั้นต้องรับผิดชอบ”

2.งดออกเสียง คือ พรรคพลังประชารัฐ

น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. ในฐานะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคได้พูดคุยถึงความเป็นไปได้ในกรณีที่หากมีการลงมติ เพื่อเป็นการเคารพคำวินิจฉัยของศาลและดำเนินการให้ถูกต้อง ไม่ให้ขัดกับหลักกฎหมาย พรรค พปชร.อาจของดออกเสียง

3.เดินหน้าลงมติวาระ 3 คือพรรคฝ่ายค้าน

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย แกนหลักฝ่ายค้านมีมติในที่ประชุมพรรค ให้เดินหน้าลงมติวาระที่ 3 ทั้งนี้ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในตัวเอง

ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องยกเลิกกระบวนการทั้งหมดที่ทำมาเพื่อไปเริ่มถามประชามติประชาชนก่อน แต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ผ่านการลงมติของประชาชนและประกาศใช้ เป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้วเท่านั้น

โดยหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค หารือในช่วงเช้าก่อนเข้าห้องประชุมโหวตอีกครั้งหนึ่ง

4.ยังลังเล ดูทิศทางลม ได้แก่พรรคร่วมรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ – ภูมิใจไทย

“องอาจ คล้ามไพบูลย์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค แถลงผลประชุมพรรคว่า พรรคยังไม่มีข้อยุติแต่อย่างใด โดย ส.ส.แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าให้รอการหารือของฝ่ายกฎหมายรัฐสภาก่อน ขณะเดียวกันอีกฝ่ายเห็นว่าให้ยึดจุดยืนของพรรค ที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหากสภาให้โหวตวาระ 3 ส.ส.พรรคก็ควรต้องโหวตเห็นชอบ

ทั้งนี้ ผู้ใหญ่ของพรรค เช่น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาพรรค ได้แสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยว่าควรรอฝ่ายกฎหมายของสภาก่อน แต่ความเห็นส่วนตัวคิดว่าพรรคต้องยึดถือจุดยืน คือเดินหน้าโหวตเห็นชอบวาระ 3

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคจะมีการหารือใน 17 มีนาคม โดยเบื้องต้นได้มีการวางแนวทางไว้ 2-3 แนวทาง ซึ่งต้องรอดูมติที่ประชุมอีกครั้ง ส่วนแนวโน้มในการลงมตินั้นเจตนาของพรรคแต่เดิมคือการให้มี ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น แนวทางการโหวตของพรรคคงไม่ใช้การให้ร่างต้องตกไป แม้จะเป็นการงดออกเสียงตามที่บางพรรคมีการประกาศ ยอมรับว่า หากท้ายที่สุดแล้วรัฐสภายืนยันที่จะให้มีการลงมติวาระ 3 พรรคก็อาจจะลงมติให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขดังกล่าว

ล้อมโหวตวาระ 3

ที่สุดแล้ว ในช่วงค่ำของวันที่ 16 มีนาคม “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ได้เผยคำวินิจฉัยของฝ่ายกฎหมายรัฐสภาว่า โดยเห็นว่าไม่ควรลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ควรต้องมีการทำประชามติก่อน ส่วนจะทำประชามติในขั้นตอนใดนั้น จะต้องหารือในที่ประชุมวันพรุ่งนี้ โดยจะเปิดโอกาสให้สมาชิกได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ ก่อนจะตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

ยืนยันว่าการบรรจุระเบียบวาระประชุมรัฐสภา เพราะเป็นการ ทำหน้าที่ตามกฎหมายบังคับไว้ ว่าเมื่อผ่านการพิจารณาในวาระที่ 2 จะต้องรอ 15 วัน และเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 3 และจากปัญหาดังกล่าวแต่ละฝ่ายมีความเห็นที่หลากหลาย ทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย แต่ฝ่ายกฎหมายของสภานั้น ไม่ได้มีประโยชน์ไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ดังนั้นน้ำหนักของฝ่ายกฎหมายสภาจึงมีความหมายมาก

แปลความได้ว่าการลงมติวาระที่ 3 โอกาสริบหรี่เต็มทน แนวโน้มที่จะถูกตีตก – ถอนญัตติตาม ส.ว.มีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า

ทั้งนี้ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 37 ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมญัตติหรือการถอนญัตติที่ประธานรัฐสภาสั่งบรรจุเข้าระเบียบวาระ การประชุมรัฐสภา จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของที่ประชุมรัฐสภา

ขณะนี้ เสียงในรัฐสภามี 737 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 487 และ ส.ว.250 เสียง หากจะถอนญัตติจะต้องได้เสียงข้างมาก 369 เสียงขึ้นไป