ปิดฉากแก้ “รัฐธรรมนูญ” ภูมิใจไทย-ปชป. อุ้ม “บิ๊กตู่” อยู่ครบเทอม

รายงานพิเศษ

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องแท้งลงกลางคันของช่วงค่ำวันที่ 17 มีนาคม 2563

นักการเมือง-นักเคลื่อนไหวนอกสภา ก็เริ่มปฏิบัติการนับ 1

ประกาศเจตนารมณ์แก้รัฐธรรมนูญทั้งรุก-ถอยในมุมของตนเองอีกครั้ง

พปชร.ค้ำยันประยุทธ์-ประวิตร

ในมุมฝ่ายรัฐบาล ที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นหัวหอก และมีพรรคร่วมรัฐบาลทั้งประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทยเป็นกำลังหลัก แม้ “บางพรรค” ชูธงแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น “เงื่อนไข” ในการเข้าร่วมรัฐบาลแต่กลายเป็น “แผ่นเสียงตกร่อง”

พลังประชารัฐไม่เต็มใจ-ไม่จริงจังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ “ออกแบบมาเพื่อพวกเรา” เป็น “ทุนเดิม” อยู่แล้ว การแถลงแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น 1 ใน 12 ข้อนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลต่อหน้ารัฐสภา เป็นเพียงพิธีกรรม-ข้อผูกมัดจำยอม

ดังนั้น การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 เป็นการรักษา “นั่งร้าน” รัฐบาล คสช.ภาคสอง-ต่อขาเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัยให้กับหัวหน้าคณะปฏิวัติ ค้ำยันอำนาจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร อีกคำรบ

ขณะที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ตัวพลิกเกมในรัฐสภากล่าวถึงเกมแก้รัฐธรรมนูญในชอตต่อไปว่าการแก้ไขรายมาตราจะเกิดเร็ว เปิดสมัยประชุมหน้ามาก็คงเห็นแล้ว ที่เตรียมแก้ไขรายมาตราแล้วมี 10 มาตรา เช่น แก้ไขปัญหาติดขัดการทำหน้าที่ ส.ส.ในการช่วยเหลือประชาชน แก้ไขเขตเลือกตั้ง ระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ แก้ไขเรื่องติดตามการปฏิรูปประเทศให้เป็นหน้าที่ของ “รัฐสภา” ไม่ใช่เฉพาะ ส.ว.ฝ่ายเดียว

แต่เรื่องการแก้ไขมาตรา 256 ตัดอำนาจ ส.ว. 84 คนในการโหวตกแก้รัฐธรรมนูญนั้น ต้องทำประชามติ

ถ้าจะแก้ไขมาตราที่ทำประชามติต้องแยกอีกญัตติหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการพิจารณา

ส่วนการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) “ไพบูลย์” เชื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้รัฐสภาต้องทำเอง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 156 (15) จะมอบอำนาจให้ ส.ส.ร.ทำไม่ได้

ประชาธิปัตย์ฆ่าไม่ตาย

สำหรับประชาธิปัตย์มี “ต้นทุน” ต้องจ่าย หลังการเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องกลับไป “นับหนึ่ง” อีกครั้ง ภายใต้ “จุดยืนเดิม” ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256-ปิดสวิตช์ ส.ว.ลากตั้ง 250 คนที่เปรียบเสมือน “กุญแจดอกสำคัญ” เพื่อเปิดประตูประชาธิปไตยที่ถูก “ปิดตาย” ให้เปิดกว้างออก พร้อมกับการกู้วิกฤตของพรรคที่ “ตกต่ำสุดขีด” กลับมา

51 แรงม้าของประชาธิปัตย์ ไม่สามารถเข็นวาระระดับชาติ-ชูธงแก้รัฐธรรมนูญได้เพียงลำพังพรรคเดียว ทำให้ไม่สามารถ “ถอนสมอ” ออกจาก “เรือเหล็ก” ที่มีประยุทธ์เป็น “กัปตันเรือพ่วง” 19 พรรค

ประชาธิปัตย์จึงอยู่ระหว่าง “ตั้งหลัก” หลังจากถูกรวบรัด-ตัดจบ “หักกลางสภา” โดยไม่ทันตั้งตัว ยังยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256-ปิดสวิตช์ ส.ว.ลากตั้ง “เดินถูกทาง” แต่เป็นทางที่ต้องเจอ “ด่านหิน” 250 สภาสูงยืนเป็นเงาทะมึน

“ราเมศ รัตนะเชวง” โฆษกประชาธิปัตย์ โชว์ “จุดยืน” ของพรรคหลังจากนี้ว่า ไม่เปลี่ยนแปลงต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ยังไม่ลดละความพยายาม เราแสดงความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกครั้ง

“การแก้ไขมาตรา 256 ถือว่าเป็นการแก้ไขรายมาตรา ถ้าไม่มีการตั้ง ส.ส.ร. แต่อุปสรรคเหมือนเดิม เพราะการเห็นชอบวาระที่ 1 และวาระที่ 3 ต้องใช้เสียงของ ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง”

การด่วนโหวตวาระ 3-ชิงสุกก่อนห่าม ไม่ขอคำ “ตีความของตีความ” จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ยัง “ก้ำกึ่ง” และยังไม่มีคำตอบ ทำให้ “ปิดประตูตาย” การตั้ง ส.ส.ร.ไปทันควัน

“ด่วนเกินไป เดินเกมให้พัง” ราเมศสำทับ

“หากตั้งต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องหาแนวร่วม เพราะประชาธิปัตย์มีเพียง 51 เสียง ขณะนี้ยังคลุมเครือว่าทำประชามติตอนไหน แต่หลายฝ่ายตีความว่า ให้ไปทำก่อนเริ่มวาระ 1 ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดอีก”

“เพราะฉะนั้นฝ่ายนิติบัญญัติต้องขอฝ่ายบริหารให้ทำประชามติไปถามประชาชนว่าให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ถ้ายอมก็เข้าวาระ 1 วาระ 2 วาระ 3 เสร็จวาระ 3 ก็ทำประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) ถ้าให้ผ่านก็ไปต่อ มี ส.ส.ร.ก็ยกร่าง ยกร่างเสร็จก็ทำประชามติเป็นรอบที่สาม ชาติหนึ่งก็ไม่เสร็จ”

หากเดินเส้นทางนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกินอายุขัย-วาระของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2 ทว่าถ้าหากเดินตามเส้นทาง-แก้ไขรายมาตรา-ม.256 จะรวดเร็วกว่า สุดท้ายแล้วก็ต้องไป “เจอด่าน 250 ส.ว.” เพราะคงไม่ยอมลด-ละ-เลิก อำนาจอันหอมหวานของตัวเอง

อนุทินปากกล้า-ขาสั่นยุบสภา

ขณะที่ ภูมิใจไทย-อนุทิน ชาญวีรกูล บอสใหญ่ ยังคงเป็น “เด็กดี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะ “ปากกล้า-ขาสั่น” พร้อมเลือกตั้งหากยุบสภา

“ถ้ายุบสภาก็ต้องเลือกตั้ง ถ้าเป็นพรรคการเมืองก็ต้องพร้อม ผมโดนยุบสภามา 4-5 ครั้ง ยุบก็ยุบยุบก็ไปเลือกตั้ง เราเป็นของพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว เราก็ให้พี่น้องประชาชนตัดสิน ชีวิต ส.ส.มันก็แค่นี้”

“อนุทิน” เก๋าเกมการเมืองพอที่จะปล่อยลูกพรรคสะบัดซ้าย-ขวา “วอล์กเอาต์” หลังการพลิกเกมของ “ไพบูลย์” ขณะที่ “บอสใหญ่” ยังคงอิงแอบ-แนบชิด อยู่ในวงโคจรศูนย์กลางอำนาจ
“(เรื่องรัฐธรรมนูญ) เป็นเรื่องของสภา เรื่องของ พล.อ.ประวิตร ท่านนายกฯประยุทธ์เป็นเรื่องของงานบริหาร เป็นเรื่องของรัฐบาล คนละโหมดกัน”

“อนุทิน” รู้ว่าตราบใดที่ยังเป็น “เด็กดี” ไม่ใช่ “เด็กดื้อ” โอกาสการเป็น “พรรครัฐบาล” เปิดกว้าง เพราะการเลือกตั้งภายใต้กติกาเดิม เก้าอี้ประมุขตึกไทยคู่ฟ้า คือ “พล.อ.ประยุทธ์”

“การถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เป็นคนละเรื่องกัน เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของสภา ไม่ใช่เป็นเรื่องการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล ไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่ใช่ความไม่เกี่ยวข้องกันของการบริหารประเทศ”

“นี่ (การร่วมรัฐบาล) เป็นเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน นั่น (การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ) เป็นการทำหน้าที่นิติบัญญัติ เพราะฉะนั้นคนละโหมดกัน”

แม้เสียง “โหวตวาระสาม” ของพรรคร่วมรัฐบาลจะเสียงแตก-แตกคอไปคนละทิศ-คนละทาง แต่อานิสงส์ของการ “คว่ำรัฐธรรมนูญวาระสาม” ส่งผลให้ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทยยังคงกอดคอร่วมรัฐบาล-ร่วมหัวจมท้ายกับ พล.อ.ประยุทธ์ต่อไปจนครบวาระ 4 ปี

ภาคประชาชนลุยต่อ

ขณะที่ขบวนการนอกรัฐสภา ปรากฏความเคลื่อนไหวจากกลุ่ม ซึ่งเป็นการผนึกกำลังของพลังมวลชน นำโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw

ประกาศ “เดินออกจากเกม” เดินหน้ารณรงค์แก้ไขรายมาตรา ด้วยการปลด 3 อาวุธของ คสช.

ชูแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 มาตราหลัก 1.ยุบวุฒิสภา ให้สภาไทยเป็น “สภาเดี่ยว” 2.ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ทั้งที่มา-องค์ประกอบ-อำนาจหน้าที่ 3.ยกเลิกการบังคับใช้ยุทธศาสตร์ชาติ

“ปิยบุตร” ระบุว่า กลุ่ม resolution กำลังจะทำในอนาคตอันใกล้นี้ จะรวบรวมรายชื่อประชาชน เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา

“เตรียมความพร้อม เตรียมปากกา เตรียมบัตรประชาชน แคมเปญนี้คิกออฟเมื่อไหร่มาร่วมกันเข้าชื่ออีกสักครั้ง ยกเลิกนั่งร้าน คสช. ด้วยการแก้รายมาตรายกเลิกวุฒิสภา ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งหมดนี้จะคิกออฟประมาณช่วงต้นเดือนเมษายน แล้วเดี๋ยวเรามาร่วมกันแสดงพลังอีกสักครั้ง เอาให้ได้เป็นแสน เอาให้ได้เป็นล้านแล้วดูว่าจะกดดันสมาชิกรัฐสภาได้ขนาดไหน”

ปักหมุดรายมาตรา

“ยิ่งชีพ” กล่าวว่า ในส่วน iLaw ยังไม่มีแผนการในการเดินหน้า แต่สำหรับแผนการของ resolution เสนอเป็นไอเดีย แต่จะขับเคลื่อนเดินหน้าอย่างไรยังต้องได้สรุปกันอีกครั้ง

ขบวนการ resolution ปักหมุดแก้ไขรายมาตรา มากกว่ารอลุ้นการทำประชามติที่ “ยิ่งชีพ” ตั้งคำถามถึงกรณีทำประชามติก่อนยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ตามที่ ส.ส.พลังประชารัฐ-ส.ว.ตีความ

“จะแปลกมากหากไปทำประชามติก่อนยื่นญัตติวาระที่ 1 เราจะตั้งคำถามอย่างไรถามกับประชาชน และจะเกิดความสับสน หากคนต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ อยากได้ ส.ส.ร.เลือกตั้ง 100% เท่านั้น ถ้าไม่ใช่ ส.ส.ร.เลือกตั้ง แล้วเขาจะลงคะแนนได้อย่างไร”

“หรือทำประชามติแล้วประชาชนโหวตว่าอยากได้รัฐธรรมนูญใหม่ คำถามคือรัฐสภาจะพิจารณาอย่างไรในเมื่อประชาชนลงประชามติว่าต้องการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปแล้ว สภาจะพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้ไหม ในทางการเมืองจะวุ่นวายไปหมด”

ประชาชนห้ามหลงกลอีก

ขณะที่ “โคทม อารียา” ประธานอำนวยการภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย ไม่เชื่อว่าการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 จะเป็นการนับ 1 ใหม่

เชื่อว่าระยะเวลาข้างหน้าเป็นระยะเวลาที่จะต้องทำความเข้าใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากเข้ามาสนใจเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ท้อถอย และเมื่อใดที่มีความเห็นพ้องต้องกันก็แก้รัฐธรรมนูญ จะแก้อย่างไรก็ว่ากันมา

“ส่วนการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น เป็นการเขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า แล้วจะเอาเท้าเขียนอีกหรือ ไม่เชื่อน้ำยาแล้ว เพราะผู้มีอำนาจไม่ตั้งใจทำตั้งแต่ต้น เขาอุบไต๋ไว้ แต่ตอนนี้เขาเผยไต๋มาแล้ว จะไปเต้นรำทำเพลงตามเขาอย่าไปทำเลย เสียเวลา เราเดินสายยาวของเรา ศึกษาร่วมกับประชาชน”

23 มีนาคมนี้ภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย จะนัดแสดงจุดยืนต้องการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยึดทางสายยาว