ฝ้าย BNK48 กับความเห็น การเมือง-สังคม ก่อนหลุดสมาชิกวง

ย้อนอ่านความเห็นฝ้าย

ย้อนอ่านความเห็นทางการเมือง-สังคม ของ “ฝ้าย สุมิตตา” ก่อนที่เจ้าตัวจะพ้นสภาพการเป็นสมาชิกวง BNK48

วันที่ 19 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี ฝ้าย-สุมิตตา ดวงแก้ว หรือ ฝ้าย BNK48 รุ่นที่ 2 โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อช่วงตี 1 ที่ผ่านมา ระบุว่าพ้นสภาพจากการเป็นสมาชิก BNK48 แล้ว ขอให้ทุกคนติดตามในช่องทางใหม่ นอกจากนี้ อดีตไอดอลสาวยังได้ไลฟ์สดผ่านอินสตาแกรม ร้องไห้และขอโทษแฟนคลับ ที่ทำให้ผิดหวัง และขอโทษที่ไม่ได้บอกลาล่วงหน้าให้ดีกว่านี้

ต่อมา ทางต้นสังกัดได้ทำหนังสือชี้แจง การพ้นสภาพการเป็นศิลปินไอดอลวง BNK48 ของฝ้าย ว่า เป็นเพราะเจ้าตัวกระทำผิดต่อกฎของบริษัทอย่างร้ายแรงในหลายหัวข้อ อันเป็นการผิดสัญญาต่อบริษัทฯ พร้อมทั้งยืนยันว่าการพิจารณาครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองของฝ้าย

พร้อมทั้งให้ฝ้ายส่งมอบ Facebook Page ภายใต้ชื่อ Faii BNK48 และ Instagram ภายใต้ชื่อ faii.bnk48official คืนให้กับบริษัทนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมความเห็นและจุดยืนต่อประเด็นทางสังคมและการเมืองของอดีตไอดอลสาวมากความสามารถ ที่หลายครั้งได้สร้างความตื่นตัวในหมู่วัยรุ่นและเยาวชนจำนวนมาก

ความเห็นล่าสุด ที่ฝ้ายสะท้อนมุมมองทางสังคมผ่านเพจเฟซบุ๊ก Faii BNK48 ที่มีผู้ติดติดามเกือบ 2 แสนคน ถูกโพสต์เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 เป็นการเรียกร้องให้ผู้คนออกมาสนใจปัญหาของเกษตรกร ซึ่งมี 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่

  1. การปรับโครงสร้างหนี้ (ยืดเวลาการชำระหนี้, ลดอัตราดอกเบี้ย)
  2. ลดอัตราดอกเบี้ย ธ.ก.ส. เหลือร้อยละ 3
  3. สงวนสินทรัพย์ที่จำนอง

ในโพสต์เดียวกันนี้ ยังมีการแชร์ภาพที่เกษตรกรเรียกร้องเรื่องผลกระทบจากโครงการชลประทานอีกด้วย

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ฝ้ายโพสต์ข้อความสั้น ๆ พร้อมติดแฮชแท็ก #วันพฤหัสเพื่อวันเฉลิม ซึ่งคาดว่าเป็นการกล่าวถึง นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ต้าร์ หรือ ต้าร์-เสรีชนคนอีสาน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย ซึ่งหายตัวไปเมื่อช่วงเย็นวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ขณะลี้ภัยทางการเมืองไปพักอาศัยอยู่ในกรุงพนมเปญของกัมพูชา โดยมีกลุ่มคนพร้อมอาวุธเข้ามาอุ้มตัวไปจากหน้าคอนโด ขณะเดินลงมาซื้ออาหาร
วันที่ 16 มกราคม 2564 เธอโพสต์วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากในวันดังกล่าว ผู้ชุมนุมได้นัดเขียนป้ายผ้าความยาวกว่า 112 เมตร ต่อมาตำรวจได้เข้ามาขัดขวาง และจับกุมผู้ร่วมกิจกรรมโดยลากไปกับพื้น ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนเกิดเหตุวิวาทะ และการกระชับพื้นที่บริเวณดังกล่าว
วันที่ 9 มกราคม 2564 ฝ้ายโพสต์รณรงค์ 15,000 รายชื่อ เสนอร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ เพื่อให้สิทธิชนเผ่าพื้นเมืองถูกรับรองอย่างเป็นทางการ, ชาวชนเผ่าฯ มีโอกาสเสนอแก้ปัญหาได้เอง ตรงจุด ตรงวิถีชีวิต และ ทุกคนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
วันที่ 2 ธันวาคม 2563 ฝ้ายแชร์ข่าว นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ในขณะนั้น) จ่อแจ้งจับ-สั่งปิดเว็บ “นักเรียนเลว” ที่มีการเปิดชื่อโรงเรียนที่ห้ามแต่งชุดไปรเวท ซึ่งฝ้ายได้ตั้งคำถามว่า “แล้วเรื่องที่เด็กนักเรียนถูกล่วงละเมิดจากคุณครู ครูให้ความสำคัญและดำเนินการถึงขนาดนี้มั้ยเอ่ย”
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายความเห็นที่ฝ้ายตั้งคำถามถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ ก่อนที่ความเห็นดังกล่าวจะถูกแชร์ไปนับหมื่นครั้ง

ก่อนหน้านี้ ข่าวสด รายงานว่า ฝ้ายได้พูดถึงตนเองในฐานะศิลปินว่าเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่สำคัญ “พอเราลุกขึ้นยืนเพื่อประชาชนแล้วเ ราจะถอยไม่ได้นะเว้ย once you stand for people, you stand for them forever” นอกจากนี้ ฝ้ายยังได้สร้างกลุ่ม ไอดอลปลดแอก ขึ้น เพื่อให้เหล่าสมาชิกได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง


จนทำให้แฮชแท็ก #ไอดอลปลดแอก ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในอันดับต้น ๆ และเธอยังคงแสดงจุดยืนเรียกร้องประชาธิปไตย และอยู่ข้างกลุ่มผู้ชุมนุมมาตลอด ทั้งโพสต์ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ รวมถึงไลฟ์ผ่านอินสตาแกรม พูดคุยกับชาวเน็ต แฟนคลับ และสมาชิกไอดอลหญิง เรื่องการเมืองอยู่บ่อยครั้ง