ผลเลือกตั้งเทศบาล “สติธร” ชี้กลุ่มธุรกิจใหม่ ย้ายขั้ว-โค่นแชมป์เก่า

สติธร

“สติธร” อ่านปรากฎการณ์ ล้มช้าง-คว่ำแชมป์เก่า เลือกตั้งเทศบาล เครือข่ายธุรกิจใหม่ ผนึกกำลัง นักการเมืองท้องถิ่น ย้ายค่าย-เบอร์เดิม

ผลการเลือกตั้งนายกเทศบาล-สมาชิกเทศบาล แม้ยังไม่รู้ผลเป็นทางการ 100 % แต่ปรากฎการณ์ล้มช้าง-คว่ำแชมป์เก่าหลายสมัยที่ผูกขาดการเมืองระดับท้องถิ่นจาก “รุ่น สู่ รุ่น” จากปู่-ย่า-ตา-ทวด สู่ทายาทการเมือง-บ้านใหญ่ ฤาจะสิ้นมนต์ขลัง

“ดร.สติธร ธนานิติโชติ” นักวิชาการจากค่ายพระปกเกล้า อ่านปรากฎการณ์ล้มช้าง-คว่ำแชมป์เก่าผ่าน “ประชาชาติธุรกิจ” วิเคราะห์ “หน้าใหม่คว่ำหน้าเก่า” ออกเป็น 2 แบบ แบบที่ 1 “คนรุ่นใหม่” โค่น “แชมป์เก่า” และแบบที่ 2 คนรุ่นเก่า (แต่หน้าใหม่) โค่นกันเอง

“ดร.สติธร” วิเคราะห์-แยกแยะ ว่า “แต่ถ้าสังเกตดี ๆ ทั้งสองแบบ ไม่ใช่การโค่น (แชมป์เก่า) ประเภทหน้าใหม่ ไม่รู้จะมาจากไหน ไม่มีฐานเลย เกิดมาจากคนธรรมดาและอยากจะเล่นการเมือง อยู่ๆ เห็นเทศบาลรับสมัครแล้วอยากจะลงการเมืองแล้วมาโค่น ไม่ใช่ (หน้า) ใสขนาดนั้น”

ธุรกิจรุ่นใหม่ ผนึกการเมืองย้ายค่าย-เบอร์เดิม

ประเภทที่ 1 เป็นหน้าใหม่ที่อยู่ในคราบการเมืองท้องถิ่น-เทศบาล คว่ำวอดอยู่ในพื้นที่ หรือ แยกออกมาจากทีมเก่า-นายกคนเก่าที่ครองแชมป์มาหลายสมัย ถึงเวลาที่ต้องเติบโต-ไม่อยู่ภายใต้ร่มเงาคนเดิมอีกต่อไป เพื่อออกมาสร้างทีม-แยกตัวออกจากทีมเก่าออกมา กลายเป็น “ศูนย์กลางอำนาจใหม่”

“คนนี้เป็นศูนย์กลางอำนาจใหม่ที่เฮโลมา ย้ายพวก ย้ายค่าย ย้ายค่ายเบอร์เดิม โค่นแชมป์เก่าได้ เพราะฐานล่างเดิมที่เป็นฐานเดียวกันย้ายขั้วมา”

ประเภทที่ 2 เป็นหน้าใหม่ในวงการการเมือง แต่ไม่ใช่หน้าใหม่ในพื้นที่ เกิดจากการฟอร์มทีมขึ้นมาใหม่-รวมพลังของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่และรวมคนเก่าบางส่วน เติบโตขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงของเมือง แต่มีฐานมาจากเศรษฐกิจ-ธุรกิจและสังคมระดับหนึ่ง ผนึกกับกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่เห็นโอกาส เพื่อโค่นแชมป์เก่า

“ต้องยอมรับว่า เทศบาล คือ พื้นที่เมือง การเมืองท้องถิ่นที่ถูกแช่แข็งมา 7-8 ปี มีพัฒนาการบางอย่าง เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ เกิดนักธุรกิจ gen 3 gen 4 สืบทอดกิจการของพ่อ-แม่ เกิดเป็นคนที่อยู่ในสมาคมการค้า-อุตสาหกรรม-ท่องเที่ยวในจังหวัด ที่เกิดเป็นคนรุ่นใหม่ขึ้นมาผนึกกำลังกัน

และมองว่า นายกแชมป์เก่าหลายสมัยที่ครองอยู่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการเชิงพื้นที่ของผู้ประกอบการหน้าหน้า นักธุรกิจรุ่นใหม่ ๆ ในเทศบาลแล้ว”

“นักวิชาการจากรั้วพระปกเกล้า” ย้ำว่า ปรากฎการณ์ หน้าใหม่ล้มหน้าเก่า-แชมป์เก่า จึงไม่ใช่หน้าใหม่-โนเนม แต่มีฐานทางเศรษฐกิจ-การเมืองและสังคม เป็น “ต้นทุนเดิม” และมีพลังมากพอที่จะโค่นแชมป์เก่าได้

“มาจากความต้องการ เห็นโอกาสและผลประโยชน์ในพื้นที่เทศบาลที่เปลี่ยนไป และคนกลุ่มใหม่ตอบโจทย์การพัฒนาในพื้นที่ได้ดีกว่า ขณะที่ฝ่ายที่เป็นช้างโดนล้ม คือ คนที่ไม่ได้ปรับตัว จะเห็นว่า คนเก่าที่อยู่รอดก็มี ชนะขาดลอย ไม่มีคู่แข่งก็มี เพราะปรับตัวมาต่อเนื่อง จนไร้คู่แข่ง”

เทศบาล-คนเมือง “เครือข่ายอุปถัมภ์ใหม่”

“ดร.สติธร” ขยายความพิเศษที่มี “ลักษณะเฉพาะ” ในพื้นที่-โหวตเตอร์ที่ทำให้เกิดการโค่นแชมป์เก่า โดยยกทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ของ “เอนก เหล่าธรรมทัศน” ที่ใช้อธิบายการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2530 ตอนปลาย

“คนเมืองกับคนชนบทมีพฤติกรรมการลงคะแนนต่างกัน คาดหวังประชาธิปไตยต่างกัน และเชื่อว่าคนเมืองเป็นนักเลือกตั้งประเภทไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง ผลประโยชน์เฉพาะหน้า หรือ ระบบอุปถัมภ์ แต่มองการเมืองแบบอุดมคติ เป็นโหวตเตอร์ที่เป็นอิสระ ใครเสนอตัวเล่นที่ดี นโยบายดี แนวคิดที่ดี มีโอกาสเลือกคนนั้น มางานศพ-งานแต่ง มาช่วยเหลือน้ำท่วมหรือป่าว ไม่สน”

เขาขมวดประเด็น เทศบาล คือ พื้นที่คนเมือง อนุมานได้ว่า โหวตเตอร์มีอิสระในการเลือก จึงสามารถชูนโยบาย-ตัวบุคคล ขณะเดียวกันได้ “ผสานประโยชน์” ให้โหวตเตอร์ที่เป็นอิสระมาเลือก

ขณะที่โหวตเตอร์ที่ตัดสินใจบนฐานของ “ผลประโยชน์” ทางธุรกิจ ผ่านการสร้างเครือข่าย-ความสัมพันธ์ หรือเรียกว่า “เครือข่ายอุปถัมภ์ใหม่” กับนักธุกรกิจ-ผู้นำชุมชน-นักเคลื่อนไหว-นักการศึกษาในพื้นที่ที่ “ตอบโจทย์ (กว่า)” แทนระบบอุปถัมภ์เดิม

“ต้อง (ชนะ) ได้ทั้งสองฐาน ฐานอิสระเข้าถึงให้มากที่สุด โคบาลล้อมรั้ว มนุษย์เงินเดือน ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบการระดับนำที่ได้รับข้อเสนอที่เป็นเงื่อนไขใหม่ เจ๋งกว่า”

ขณะที่คนเก่า-ระบบเก่า ต้องคอยตอบโจทย์ “เครือข่ายเก่า” ซึ่งเป็นวิถีการผลิต-วิถีธุรกิจดั่งเดิม แต่กลุ่มใหม่เป็นกลุ่มที่ดิสรัป ดังนั้นการอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียวไม่พอ ต้องทะลุ-ต้องพัฒนาในมิติอื่นด้วย (เทศบาล) มีโอกาสที่จะล้มช้างได้มากกว่าสนามชนบท เช่น การเลือกตั้ง อบจ.

ไม่ฟันธง เลือกตั้งผู้ว่ากทม.- ระดับชาติ

“ดร.สติธร” วิเคราะห์ข้ามช็อตการเลือกตั้ง อบจ. กับสนามเทศบาล สะท้อนการเมืองระดับน้องๆ – ระดับชาติ อย่างการเลือกตั้งใหญ่ในอีก 2 ปีข้างหน้าอย่างไร ?

เขาถอดบทเรียนการเลือกตั้งเทศบาล เทียบกับการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ที่เป็น “เมืองใหญ่” และมี “คนรุ่นใหม่” เข้ามาในการเมืองการจำนวนมาก ไม่ใช่สวิงโหวต หรือ ตามกระแสเท่านั้น แต่เป็นการสร้างความเป็นพวก-คอนเนคชั่น กลายเป็นแรงสนับสนุน

“คนสมัครผู้ว่ากทม. ต้องสร้างเครือข่ายทำงานร่วมกับนักธุรกิจหน้าใหม่ Gen ใหม่ในภาคสังคมให้เป็นปาก-เป็นเสียง เป็นการเมืองแบบอุดมคติ ส่งผลไปถึงภาพลักษณ์ให้ผู้สมัครผู้ว่ากทม. ไม่ใช่การสร้างกระแส หรือ นโยบายแบบลอย ๆ”

ส่วนจะสะท้อนไปไกลถึงการเลือกตั้งใหญ่ในอีก 2 ปีข้างหน้าได้หรือไม่ ?

“ดร.สติธร” ไม่ฟันธง แต่ชี้ให้เห็น “ร่องรอย” บางอย่างจากการเลือกตั้งเทศบาล เช่น การเขย่า-แข่งกันเองของกลุ่มต่าง ๆ ในพรรคเดียวกันเอง หรือ คนคนดียวที่มีทั้งคราบของพรรคเพื่อไทย-พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย ปนเป-ผสมกันอยู่ในตัวเอง

“การแบ่งพรรค แบ่งฝ่ายกันในการเมืองระดับท้องถิ่น ถ้าชัดมากก็พอจะบอกได้ว่า พอถึงเวลาเลือกตั้งระดับชาติก็จะอยู่เป็นกลุ่มก้อน-พรรคเดียวกัน แต่ถ้าเจือ ๆ กัน แสดงว่าตลาดยังเปิด เมื่อถึงเวลาอาจจะตัดสินใจไปหนุนพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือ รักทุกคน ฉันมีเครือข่ายหัวคะแนน 3 หมื่นคะแนน พรรคละ 5 พันคะแนน 6 พรรค”

“ดร.สติธร” ทิ้งท้ายว่า สมมุติว่า คณะก้าวหน้าแพ้หมดทุกที่ การเลือกตั้งระดับชาติแพ้แน่ ไม่สามารถฟันธงได้ง่าย ๆ ขนาดนั้น พรรคการเมืองใดที่คิดว่าชนะในการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะชนะในการเลือกตั้งระดับชาติเสมอไป