“สมชัย”เปิด 4 แนวทางยื่นศาลรธน.-ออกปากชม ‘รธน.มีชัย’ เปิดช่องทุกฝ่ายยื่นศาลได้คล่อง

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 17 กรกฎาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการกกต. แถลงถึงช่องทางในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. ว่า มีทั้งหมด 4 ช่องทาง โดย ช่องทางแรก เป็นการยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 ( 2) ที่บัญญัติว่า ก่อนนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่ามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญสามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ เพื่อชี้ให้นายกเห็นว่า หากให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ก็จะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ช่องทางที่สอง กกต.มีมติในฐานะเป็นองค์กรอิสระยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (1) ที่กำหนดว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยกฎหมายหรือร่างกฎหมายว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ช่องทางที่สาม คือกรรมการแต่ละคนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งก็จะยื่นได้เฉพาะประเด็นเซตซีโร่กกต.
ส่วนช่องทางที่สี่ เป็นกรณีที่ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.ประกาศใช้บังคับแล้ว กกต.ก็สามารถยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 ต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งช่องทางทั้งหมดจะมีการนำเข้าหารือในที่ประชุมกกต.ในวันที่ 18 กรกฎาคม

“ต้องรอดูมติที่ประชุมกกต.ว่าจะเลือกช่องทางใด ซึ่งอาจจะเลือกดำเนินการมากว่า 1 ช่องทางก็ได้ หรืออาจจะไม่ยื่นเลยก็ได้ ” นายสมชัย กล่าวและว่า มติกกต.จะไม่ผูกพันการยื่นตีความของกกต.แต่ละคน ซึ่งตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้มีข้อดี ที่ทำให้ประชาชนมีสิทธิ มีเสียงที่แท้จริง เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายสามารถช่วยตรวจสอบกฎหมายให้มีรอบคอบสมบูรณ์ ไม่ใช่การเอาชนะซึ่งกันและกัน เพราะที่ผ่านมากกต.ได้ส่งความเห็นแย้งไปแล้วว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวหากนำไปสู่การปฏิบัติจะมีปัญหาเรื่องของการตีความ

เมื่อถามว่าหากที่ประชุมกกต. มีมติไม่ยื่นตีความ ส่วนตัวจะยื่นต่อรัฐธรรมนูญเองหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ตนยังไม่คิดอะไร และถึงตนจะยื่นก็ไม่ได้ยื่นเพื่อให้ตัวเองอยู่ต่อ แต่เป็นการยื่นเพื่อให้รู้ว่ารัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ประชาชนเพียงคนเดียวรู้ว่าสามารถยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

“เมื่อรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว กรธ.ก็บอกเองว่าประชาชนมีสิทธิยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ นี่ก็เป็นตัวอย่างถือเป็นการทดลอง อาจจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ประชาชนคนไทยจะสามารถใช้สิทธิเพื่อพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย หากศาลบอกว่าไม่สามารถยื่นคำร้องได้ ก็จะได้รู้ว่าสิทธิของประชาชนที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นอาจจะไม่เป็นจริง ”

รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาของกกต.ที่มีนายสุรินทร์ นาควิเชียร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมาทางสำนักกฎหมายของสำนักงานกกต. ได้ขอความเห็นต่อที่ประชุมคณะที่ปรึกษาว่า หากกกต. จะมีหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 ( 2) ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาฯเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้นายกฯมีหน้าที่รับหรือผ่านคำร้องให้ฝ่ายใด รวมทั้งต้องพิจารณาว่าประเด็นหลักที่ต้องการจะยื่นนั้น เป็นประโยชน์ส่วนตน หรือประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งใน 6 ประเด็นที่กกต.เห็นแย้งนั้นก่อนหน้านี้คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ เห็นว่ามีเพียงประเด็นเดียวที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญคือกรณีที่รัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรคสอง บัญญัติให้กกต.คนเดียวมีอำนาจสั่งระงับยับยั้งการเลือกตั้งของหน่วยหรือเขตเลือกตั้งได้ แต่มาตรา 26 ของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.กลับบัญญัติให้ต้องรายงานต่อที่ประชุมกกต.เพื่อมีมติ ซึ่งประเด็นข้อโต้แย้งทั้งหมดก็ได้มีพิจารณาในที่ประชุมสนช. และคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่ายไปแล้ว ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่มีประเด็นอะไรที่จะต้องมีการยื่นตีความอีก