สุพัฒนพงษ์ ปัด รัฐบาลถังแตก-ขึ้นภาษี VAT

สุพัฒนพงษ์ รองนายกฯ-รมว.พลังงาน ปฏิเสธข่าวรัฐบาลถังแตก-ขึ้นภาษี VAT ยืนยันความเสี่ยงทางการคลังต่ำ แต่ยอมรับเตรียมดึงเข้าสู่ระบบภาษี

วันที่ 31 มีนาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐบาลถังแตกและจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) เพิ่ม ว่า ยังไม่เห็นสัญญาณว่ารัฐบาลจะถังแตก

แต่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (30 มีนาคม 2564) มีการรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปี ซึ่งไม่มีความกังวลใด ๆ ส่วนความเสี่ยงเป็นปกติของการรายงานประจำปี เช่น เดียวกับการรายงานประจำปีของบริษัทเอกชนทั่วไปจะมีการกล่าวถึงความเสี่ยงต่าง ๆ แต่เป็นเรื่องธรรมดา

“เป็นการพูดถึงการใช้เงินในช่วงวิกฤตโควิด เป็นเรื่องธรรมดาเพราะเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง และมีการพูดถึงรายได้การจัดเก็บภาษีในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน เพราะจากสถานการณ์โควิดทำให้การจัดเก็บรายได้ลดลงไป”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ในบทสุดท้ายของการรายงานความเสี่ยงประจำปี มีการคำนวณตัวเลขความเสี่ยงออกมาอยู่ในระดับ 2.47 ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ไม่สูงมาก เชื่อได้ว่าในอีก 2 ปี ความเสี่ยงวิกฤตทางการคลังค่อนข้างต่ำ และย้ำว่า เรื่องการขึ้นภาษี ตนคิดว่าในเร็ว ๆ นี้ยังไม่มี และไม่ได้เป็นข้อเสนอแนะใด ๆในที่ประชุมครม.

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามสิ่งที่ครม.กังวล คือ จำนวนผู้ที่อยู่ในระบบภาษียังมีจำนวนน้อย จึงอยากให้กระทรวงการคลังไปทำการศึกษาโครงสร้างระบบภาษีที่จะดึงดูดให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษี โดยให้เกิดความเข้าใจถึงประโยชน์ของการเข้ามาอยู่ในระบบภาษี เช่น การได้ช่วยเหลือประเทศ และเงินภาษีกลับมาถึงมือประชาชน รวมถึงการศึกษาโครงสร้างภาพรวมด้านภาษี ซึ่งตนแปลกใจว่า กลายเป็นว่าข่าวออกมาในลักษณะจะไปขึ้นภาษีบ้าง รัฐบาลถังแตกบ้าง ยืนยันว่า ไม่มีสัญญาณใด ๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ มติครม.เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 มีมติรับทราบรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2563 โดยระบุความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตการคลัง ณ สิ้นปีไตรมาส 3 ปี 2563 ดัชนีรวมเตือนภัยทางการคลังภายใต้แบบจำลองระบบสัญญาณเตือนภัยทางการคลัง (Fiscal Early Warning System) มีค่าสูงขึ้นมาอยู่ที่ 2.47

แต่ยังอยู่ในระดับปกติ สอดคล้องกับอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ยังคงอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แต่มีการปรับมุมมอง (Outlook) ลงจากเชิงบวก (Positive) เป็นมีเสถียรภาพ (Stable)

นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยในปี 2563 ที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง สะท้อนถึงสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ที่ยังอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ