3 มรสุมการเมือง เดือน พ.ย. บีบ คสช.ปลดล็อกเลือกตั้ง

ในเดือนพฤศจิกายน 2560 การเมืองจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง และจะกลับมาเขย่ารุนแรงขึ้นกว่าเดิม

เพราะทั้งกระดานการเมืองต้องขยับเข้าสู่โหมดเลือกตั้งตามที่ 2 บิ๊กในรัฐบาล คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมกับ คสช.ว่า จะประกาศวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “คสช.จะคำนวณช่วงเวลาในการจัดกิจกรรมทางการเมืองที่เหมาะสมเพื่อผ่อนคลายในสิ่งที่จำเป็น ไม่ต้องการหน่วงเวลาอะไรทั้งสิ้น ขอให้นักการเมืองอยู่ในความสงบ จะประกาศวันเลือกตั้งประมาณเดือนมิถุนายน 2561 และคาดว่าในพฤศจิกายน 2561 จะมีการเลือกตั้ง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า รับทราบกรณีที่พรรคการเมืองออกมาเรียกร้อง แต่ต้องดูสถานการณ์ ขอให้ผ่านพ้นช่วงเดือนตุลาคมนี้ไปก่อน

เมื่อเดือนตุลาคมผ่านพ้นไป ทำให้บรรดานักการเมืองจึงเรียกร้องให้ คสช.ปลดล็อกเสียที

เหตุเพราะการ “ปลดล็อก” ให้พรรคการเมืองทำตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง สิ่งที่พรรคการเมืองทั้งเก่า-ใหม่ จะต้องทำขั้นตอนอย่างน้อย 7 ขั้น 1.แจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกพรรคใหม่ภายใน 90 วัน 2.พรรคที่ตั้งตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 ที่ยังมีสมาชิกพรรคไม่ถึง 500 คน ต้องหาสมาชิกให้ครบจำนวนภายใน 180 วัน 3.ให้พรรคต้องมีทุนประเดิม 1 ล้านบาท ภายใน 180 วัน

4.ให้สมาชิกไม่น้อยกว่า 500 คน ชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 180 วัน นับตั้งแต่กฎหมายประกาศใช้ 5. ให้สมาชิกไม่น้อยกว่า 5 พันคน ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายใน 1 ปี

6.จัดให้มีการประชุมใหญ่แก้ไขข้อบังคับ จัดทำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองให้ถูกต้องภายใน 180 วัน นับตั้งแต่กฎหมายประกาศใช้ 7.จัดตั้งสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดให้ครบภายใน 180 วัน นับตั้งแต่กฎหมายประกาศใช้

ยังไม่นับขั้นตอนการ “ไพรมารี่โหวต” แม้พรรคใหญ่จะไม่สะเทือน เพราะมีทั้งบุคคลที่จะลงสมัคร ส.ส. และสมาชิกพรรคที่พร้อมยกมือโหวต

แต่สำหรับพรรคเล็ก…พรรคเกิดใหม่ ที่มีกระแสข่าวการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่มีทหารเป็นแบ็กอัพหนาหูในกระดานการเมือง พรรคเหล่านี้ย่อมต้องอาศัยเวลาที่จะต้องทำตามเงื่อนไขในการหาสมาชิกต่าง ๆ ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

ยิ่งปลดล็อกช้า…เวลาเตรียมตัวยิ่งน้อย และถ้าพรรคการเมืองจัดการตัวเองไม่ทัน อาจถึงขั้น “แพ้ฟาวล์”

นอกจากในมุมพรรคการเมืองที่จะขยับ คอการเมืองยังต้องจับตาการพิจารณากฎหมาย 2 ฉบับสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่จะยกร่างเสร็จเรียบร้อย และส่งต่อมาให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

ก่อนหน้านี้ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กางปฏิทินการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับว่า ในชั้นแรกต้องผ่านภายใน 60 วันนับแต่วันที่ กรธ.ส่งมา กรธ.บอกว่าจะส่งมาวันที่ 28 พฤศจิกายน สนช.ใช้เวลาพิจารณาเดือนธันวาคม 2560 และมกราคม 2561

เมื่อพ้นจาก สนช.แล้ว ยังต้องมีการส่งร่างกฎหมายไปให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและ กรธ. เพื่อให้พิจารณาว่าจะเห็นด้วยกับการแก้ไขของ สนช.เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่ายหรือไม่ต่อไป และเมื่อสิ้นสุดของ สนช.แล้ว จะเป็นหน้าที่ในการพิจารณาของนายกรัฐมนตรีเพื่อนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า สนช.จะยื้อ 2 ร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อขยับโรดแมป คสช.ออกไป เพราะต้องการให้เวลา คสช.เปลี่ยนผ่านโดยสะเด็ดน้ำ อาจจะต้องรอ “สัญญาณสุดท้าย” จากผู้มีบารมีใน คสช.ก่อนว่าจะเยสหรือโน

ยังไม่นับปัญหา ในการสรรหาองค์กรอิสระที่ถูก set zero อย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่จัดเลือกตั้ง แต่ผ่านวันรับสมัครมาเกิน 10 วัน ยังเงียบเชียบ ทั้งที่จะต้องได้ กกต.ใหม่ 7 คน ใน 12 ธันวาคม

เพราะคุณสมบัติการเป็น กกต.ในรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น เป็นคุณสมบัติขั้นเทพ ต้องเป็นอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นศาสตราจารย์ไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือต้องทำงานภาคประชาสังคมไม่น้อยกว่า 20 ปี แถมต้องมีคุณสมบัติเฉพาะ คือ “ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”

แน่นอนว่า ทั้ง 3 มรสุมแรงกดดันจากบ่วงการเมืองทั้งหมดจะตกไปอยู่ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร 2 ผู้มีอำนาจในรัฐบาล