“วราวุธ” ไม่หวั่น ชาวเน็ตเปรียบเทียบบ่อบาดาลรัฐ-พิมรี่พาย

ดราม่าบ่อน้ำบาดาล ล่าสุดวราวุธตอบแล้ว
ภาพจากเฟซบุ๊ก TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา

“วราวุธ” เผยไม่หวั่น ชาวเน็ตเทียบบ่อบาดาลรัฐ-พิมรี่พาย เป็นสิ่งดีที่หลายฝ่ายให้ความสนใจและมาช่วยชาวบ้านที่เดือดร้อนเรื่องน้ำ

วันที่ 5 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีโซเชียลเปรียบเทียบการขุดบ่อบาดาลช่วยเหลือชาวบ้านของ พิมรี่พาย-พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ แม่ค้าออนไลน์ชื่อดัง ซึ่งใช้เงินแสนกว่าบาท กับงบประมาณที่ภาครัฐใช้ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด มติชน รายงานว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์กรณีนี้ว่า แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน บางพื้นที่ขุดเป็น 100 เมตรจึงเจอน้ำ แต่บางพื้นที่ขุดเพียง 40-50 เมตรแล้วเจอน้ำบาดาล ส่วนในพื้นที่ภาคกลางขุดอย่างต่ำ ต้องลึกถึง 300-400  เมตร

โดยค่าใช้จ่ายก็มีราคาในการขุดแตกต่างกันไป ถ้าขุดตื้นราคาอยู่ในหลักแสน หากขุดลึกลงไปถึง 400 เมตร ราคาหลักแสนเป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะคุณภาพและมาตรการต่าง ๆ ที่จะต้องมีเทคนิคเข้ามาช่วย ทั้งรถเจาะ หรือเครื่องกรองน้ำที่จะต้องมากรองน้ำที่อาจมีโลหะหนักอย่างสนิมเหล็ก ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

“ยืนยันว่ากรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีราคากลางที่สำนักงบประมาณกำหนดเอาไว้ว่าอุปกรณ์ในการขุดเจาะน้ำบาดาลแต่ละอย่างมีราคาเท่าไร สามารถตรวจสอบได้ หากบางพื้นที่มีการร้องเรียนเข้ามาทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็จะลงไปตรวจสอบ” นายวราวุธ กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลกับกระแสทางโซเชียลที่ถูกนำมาเปรียบเทียบบ้างหรือไม่ นายวราวุธ ตอบว่า ไม่กังวล เพราะเวลาเปรียบเทียบก็คงเปรียบเทียบกับสิ่งที่ใกล้เคียงกัน คือ หากเจาะลงไป 40 เมตรแล้วเจอน้ำเลย จะดีใจมากเพราะงบประมาณที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีอยู่ จะสามารถนำไปเจาะได้อีกหลายพันบ่อ และปีที่ผ่านมากรมทรัพยากรน้ำบาดาลเจาะไปเกือบพันบ่อแล้ว

ซึ่งระบบที่ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการ ทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นให้ดูแลประชาชนในวงกว้าง บางแห่งสามารถดูแลประชาชนได้ทั้งตำบล เราเดินบาดาลระยะไกล พื้นที่การเกษตรเกือบพันไร่ ไม่ใช่ดูแลแค่หมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่ง

“เป็นสิ่งที่ดีที่ปัจจุบันมีประชาชนหลายฝ่ายให้ความสนใจและมาช่วยชาวบ้านที่เดือดร้อนเรื่องน้ำ แต่การทำงานอาจแตกต่างกันทั้งในลักษณะการทำงานและความยากง่ายในการทำงาน เพราะราชการก็ทราบกันดีว่ากฎระเบียบหลายอย่าง” นายวราวุธ กล่าว

เมื่อถามว่า ก่อนขุดเจาะน้ำบาดาลปกติจะมีกรมทรัพยากรธรณี ไปสำรวจก่อนหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องมีการสำรวจก่อนเพื่อดูสภาพพื้นที่โดยรวมว่าปลอดภัยแค่ไหน ถ้าเจาะแล้วพื้นที่ดังกล่าวยุบลงไปก็จะมีปัญหาได้ และต้องดูด้วยว่าโดยรอบมีแหล่งน้ำบนดินหรือไม่ ถ้ามีก็จะพัฒนาแหล่งน้ำบนดินก่อน เพราะไม่จำเป็นเราไม่อยากเอาขึ้นมาใช้ เพราะเป็นสมบัติที่ปู่ ยา ตา ทวด เก็บเอาไว้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ภาคเอกชนสามารถขุดเจาะไปได้ก่อนแล้วค่อยมาทำเรื่องขอทีหลัง นายวราวุธ กล่าวว่า อาจจะเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะอะไรก็แล้วแต่ที่มีความลึกเกิน 15 เมตร จะต้องได้รับการอนุญาตกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก่อน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ที่อาจเจาะแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา หรืออาจมีผลต่อสภาพของชั้นใต้ดิน จึงต้องสำรวจและขออนุญาตก่อน

ส่วนกรณีที่มีผู้ลักลอบขุดเจาะบ่อบาดาล เรากำลังดำเนินการตรวจสอบและปราบปราม เนื่องจากกระทบกับชั้นน้ำใต้ดินที่อาจส่งผลทำให้ปริมาณน้ำลดลงอย่างมีนัยยะ จนทำให้แผ่นดินทรุด