“ยิ่งลักษณ์” สู้เฮือกสุดท้าย ยึดทรัพย์ จำนำข้าว-3 คดีใน ป.ป.ช.

รายงานพิเศษ

มหากาพย์คดีจำนำข้าว ที่มี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลยสำคัญ ยังไม่จบบริบูรณ์

แม้ในทางความผิดอาญา “ยิ่งลักษณ์” ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก 5 ปี

ทว่าคดีเรียกความเสียหายทางแพ่งยังไม่จบ ยังตามถูกเช็กบิล

แต่แล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ “ยิ่งลักษณ์”
ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท

และเพิกถอนคำสั่ง ประกาศ หรือการดำเนินการใด ๆ ของกรมบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร ที่ยึดอายัดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาด รวมทั้งคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ยกคำร้องขอกันส่วนในฐานะเจ้าของร่วมของ อนุสรณ์ อมรฉัตร สามีของยิ่งลักษณ์

หลังคำวินิจฉัยศาลปกครองกลางที่พลิกกลับตาลปัตร “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายกฎหมายรัฐบาล กดปุ่มสั่งอุทธรณ์ทันที ตามช่องเวลา 30 วัน

ขณะที่ “กระทรวงการคลัง” หารือกรมบัญชีกลางและอัยการสูงสุด ปรับแผนการสู้คดี ทั้งนี้ ย้อนกลับไปอ่านสาระคำวินิจฉัยศาลปกครองกลาง ที่ให้ถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง อาทิ

– นโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ลำพังอดีตนายกฯไม่มีอำนาจยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวได้

– ยิ่งลักษณ์มีอำนาจหน้าที่เพียงการกำกับดูแลนโยบายโดยทั่วไประดับมหภาคของโครงการ มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ไม่อาจรับรู้รับทราบข้อมูล การปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายของผู้กระทำผิดในระดับปฏิบัติ

– มีการใช้มาตรการทางอาญากับผู้ทุจริตหรือผู้กระทำผิดควบคู่กับการใช้มาตรการทางปกครองตัดสิทธิผู้สวมสิทธิเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว กรณีจึงถือได้ว่า

ยิ่งลักษณ์มิได้เพิกเฉยละเลย แต่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์ เพื่อป้องกันยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวแล้ว

– ไม่มีหลักฐานแน่ชัดในชั้นการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งว่า ยิ่งลักษณ์เป็นผู้สั่งการทำให้เกิดความเสียหายหรือเป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในการกระทำละเมิด

ขณะที่แหล่งข่าวจากทีมทนาย “ยิ่งลักษณ์” ประกาศความพร้อมที่จะสู้คดีต่อในชั้นศาลปกครองสูงสุด เมื่อผู้มีอำนาจยื่นอุทธรณ์

และถือเป็นสัญญาณดีที่ศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยดังกล่าวออกมา โดยปราศจากอคติ

ส่วนที่ศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยที่ต่างไปจากคำวินิจฉัยทางอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น เพราะศาลแต่ละศาลมีอำนาจที่อิสระต่อกัน และมีหลักในการพิจารณาที่ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม “ยิ่งลักษณ์” ยังไม่พ้นบ่วงกรรมแห่งคดี “ทีมทนายความ” ของ “ยิ่งลักษณ์” สรุปคดีที่จ่อคอหอย “ยิ่งลักษณ์” รอการเชือดอีก 3 คดี

คดีที่ 1 ร่วมกับคณะรัฐมนตรีรวม 34 ราย ถูกกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติไม่ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของประเทศ จำนวน 1,921,061,629 บาท

กรณีจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 โดยไม่มีอำนาจ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ และช่วยเหลือพวกพ้องของตนเอง

สืบเนื่องจาก 10 มกราคม 2555 และเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2555 คณะรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์ เห็นชอบให้มีการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง

โดยให้ใช้งบประมาณจากเงินงบฯกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,000 ล้านบาท โดยออกหลักเกณฑ์และอัตราการเยียวยาขึ้นใหม่ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีกฎหมายใดมารองรับการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าว

ทั้งที่มิใช่เป็นการจ่ายเงินเกี่ยวกับปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเป็นไปเพื่อบริการสาธารณะแห่งรัฐ หรือเป็นกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่หากไม่ดำเนินการจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการตาม พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ. 2502

แต่เป็นการจ่ายในลักษณะเงินสงเคราะห์ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง จะต้องมีกฎหมายมารองรับกับกรณีนี้โดยเฉพาะ ซึ่ง ป.ป.ช.ได้แจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว

คดีที่ 2 วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด “ยิ่งลักษณ์” กับพวก กรณีใช้อำนาจโอนย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำโดยมิชอบ

ทั้งนี้ ป.ป.ช.เรียบเรียงต้นสายปลายเหตุการชี้มูลมาจากการแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว ดำเนินการอย่างเร่งรีบรวบรัด พร้อมกับคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.แทนนายถวิล

และ “ยิ่งลักษณ์” ในฐานะประธานกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่จะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายน 2555

และเป็นเครือญาติของตนเอง ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทนตำแหน่งที่ว่างลง ต่อที่ประชุม ก.ต.ช. ในการประชุมครั้งที่ 5/2554 วันที่ 19 ต.ค. 2554 ซึ่งที่ประชุม ก.ต.ช.มีมติเห็นชอบ

คดีที่ 3 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดคดีโครงการ “Roadshow สร้างอนาคตไทย Thailand 2020” จำนวน 240 ล้านบาท โดยมิชอบ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ผู้ถูกกล่าวหาคือ “ยิ่งลักษณ์” นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ มีมูลความผิดทางอาญา กระทำการเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ คดีที่ 2-3 ป.ป.ช.ชี้มูล “ยิ่งลักษณ์” ภายในเดือนกรกฎาคม 2563 ทำให้อดีตนายกฯหญิงส่งเสียงสะอื้นข้ามประเทศ ถึงการทำงานของ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมปีนั้นว่า

“ทุกวันนี้ดิฉันใช้ชีวิตอย่างเงียบ ๆ ในต่างประเทศอย่างปุถุชนคนทั่วไป แต่ยังต้องมาถูกกล่าวหาในทางอาญา 2 เรื่องติดต่อกันในเวลาไม่ถึง 1 เดือนอีก เพื่อให้มีการพิจารณาคดีลับหลังดิฉัน”

“ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองในวันนี้ช่างสอดคล้องหรือเหมือนกับความโชคร้ายในชีวิตของดิฉัน ที่โหยหาความยุติธรรมว่าเมื่อไหร่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองอันเป็นที่รักของดิฉันเช่นกันเสียที ดิฉันไม่อยากให้ความยุติธรรมต้องเลือกข้าง”

“ความยุติธรรมต้องไม่เหลื่อมล้ำ ถ้าเป็นนักการเมืองหรืออดีตนักการเมืองฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ผิดเสมอ แต่อีกฝ่ายทำอะไรไม่ผิดเลย ซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรมเสียแล้ว ไม่วันใดก็วันหนึ่งความศรัทธา ความเชื่อมั่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.อาจหมดสิ้นไป”

แม้ว่าคดีจำนำข้าวใกล้ถึงฉาก “จบบริบูรณ์” ในชั้นศาลปกครองสูงสุด ที่ “ยิ่งลักษณ์” ยังต้องลุ้นจนถึงฉากจบ

เพราะหากคดีนี้ปิดฉากลงไม่ว่าจะ happy ending หรือไม่ แต่คดีจำนำข้าวก็จะหมดจากหน้าตักของ “ยิ่งลักษณ์”

เหลืออีก 3 คดีที่เหลือยังเพิ่งเริ่มต้นยังลุ้นยาว ๆ ไป