4 ปี รัฐธรรมนูญ’60 รุมปิดสวิตช์ ส.ว.-มรดก คสช.

ร่างรัฐธรรมนูญ

6 เมษายนปีนี้ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 บังคับใช้มาครบ 4 ปีพอดี แผลงอิทธิฤทธิ์จนสะท้านไปทั้งยุทธจักรการเมือง

ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ล้วนเจอกับดัก “มีชัย ฤชุพันธุ์” และเพื่อนคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่วางไว้อย่างแน่นหนา

ฝ่ายรัฐบาลต้องปวดกบาลกับการ “แจกกล้วย” ให้พรรคเล็ก จากพิษของสูตรเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม ที่กำเนิด “พรรคปัดเศษ” มี ส.ส.แค่ 1-2 คนรวมกันกว่า 10 พรรค กลายเป็นรัฐบาลผสมที่ไม่แข็งแรง

แถมคนในพรรคพลังประชารัฐยังจ่อคิวถูกเล่นงานขัดมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งอุบัติขึ้นใหม่มีคดีติดตัวในศาลฎีกา

ไม่เว้นแม้แต่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ผู้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ในยุค คสช. คนเดียวกับผู้ที่ “วางโครงร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ให้ “เนติบริกรมีชัย” ไปยกร่างตาม “จดหมายน้อย” ของ คสช.

ส่วนฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย นับวันก็ถูกผลพวงรัฐธรรมนูญ 2560 บั่นทอนกำลัง จากวันที่ประกาศรวมตัว 7 พรรค ฝ่ายประชาธิปไตย 255 เสียง วันนี้เหลือ 6 พรรค และเสียงในสภาหายไปเหลือแค่ 212 เสียง ในฝ่ายค้านเกิดงูเห่ากันถ้วนหน้าทุกพรรค

เมื่อ 4 ปีที่รัฐธรรมนูญ 2560 แผลงฤทธิ์ เมื่อมีอัตราเร่งเร้าให้แก้รัฐธรรมนูญมาจากม็อบนอกสภา บวกกับปัจจัยอุปสรรคการเมือง ทุกพรรคในสภาจึงลงมือชิงแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อปลดแอกรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย

แม้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในยกแรกถูกคว่ำลงในวาระที่ 3 หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่เมื่อระฆังการแก้รัฐธรรมนูญยกที่ 2 ดังขึ้น พรรคพลังประชารัฐ โดย“ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรค ซามูไรกฎหมายประจำกายบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ชงแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น 13 มาตราแบบฉายเดี่ยว

ไม่แคร์สายตาพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา

โฟกัสหลักใหญ่ ๆ ของ “ไพบูลย์” ที่แก้ปัญหาทางการเมือง แก้ปัญหากระบวนการไพรมารี่โหวตของพรรคการเมือง แก้ไขมาตรา 45 โดยได้นำรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 47 มาใช้แทน

“หากบังคับใช้เป็นกฎหมาย พรรคไหนจะทำไพรมารี่โหวต หรือไม่ทำไพรมารี่โหวตก็ได้” ไพบูลย์กล่าว

แก้ไขระบบการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 50 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โละทิ้ง ส.ส.ปัดเศษ ที่มีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของจำนวนคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ ให้ถือว่าไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคนั้น

แก้ไขมาตรา 144 การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ การจัดทำงบประมาณ ทั้งที่ “มีชัยและเพื่อน” ชูเป็นไฮไลต์ของรัฐธรรมนูญ 2560 อันเป็นมาตรา “ห้าม ส.ส.” ซื้อขายงบประมาณ โทษถึงยุบพรรค

ขณะที่ 3 พรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา แยกตัวจากพลังประชารัฐ เตรียมชงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ การขยายเรื่องสิทธิเสรีภาพ, การกระจายอำนาจ, การตรวจสอบการทุจริต, วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 และการให้อำนาจ ส.ส.เลือกนายกรัฐมนตรี และแก้ไขระบบเลือกตั้งจากเลือกตั้งใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบ

ส่วนฝ่ายค้าน “เพื่อไทย” จับมือพันธมิตรอีก 5 พรรค ชูธงแก้หน้าที่และอำนาจของ ส.ว. การปรับเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง บทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระ และเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ

แต่อีกด้าน “ก้าวไกล” จับมือกลไกแนวนอกสภา ทั้ง “คณะก้าวหน้า-ไอลอว์-Conlab” ในนาม “กลุ่ม Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่” ประกาศ “ถอดรื้อ” ระบอบประยุทธ์ออกจากระบบการเมืองไทย

ปิดสวิตช์ ส.ว. ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 269-272 เพื่อยกเลิก ส.ว. จากการแต่งตั้งของ คสช.

ยุติอำนาจพิเศษของ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี

และยุติระบบนิติบัญญัติแบบสืบทอดอำนาจที่ให้ ส.ว.มาร่วมพิจารณากฎหมายกับ ส.ส. ในกรณีที่เป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

มีข้อเสนอที่ extra ขึ้นมาคือ “สภาเดี่ยว” โละศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ-ปฏิรูปที่มา อำนาจ การตรวจสอบ

ทุกกลุ่มผลประโยชน์การเมืองรุมแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ในวันที่รัฐธรรมนูญครบ 4 ขวบ