อภิสิทธิ์ : รัฐบาลประยุทธ์รักษาอำนาจ มวลชนสะสมกำลังสู้เกมแก้รัฐธรรมนูญ

สัมภาษณ์พิเศษ

ปิยะ สารสุวรรณ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยเร่งการอยู่-การไปของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนาพิเศษ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี-หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 2 สมัย ประเมินเกมการต่อสู้ทางการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อาจจุดชนวนไปสู่วิกฤตการเมืองอีกครั้ง

Q : เส้นทางของการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีปลายทางนำไปสู่การแก้ได้หรือไม่

ตอนนี้ทุกคนเต้นไปตามการเคลื่อนไหว รัฐธรรมนูญนี้ถูกออกแบบมาเพื่อ คสช.กับกลไกของ คสช. รวมถึงพลังประชารัฐกับวุฒิสภาค้ำอำนาจซึ่งกันและกัน จะไปคาดหวังให้คนกลุ่มนี้แก้รัฐธรรมนูญคงจะยาก เพราะกระทบกับประโยชน์ของตัวเอง ปัญหาคือ ช่วงการเลือกตั้งทุกพรรคการเมืองหาเสียงว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ ยกเว้นพลังประชารัฐ แต่บังเอิญว่า พรรคที่บอกว่าจะไม่แก้มาเป็นแกนนำแก้รัฐธรรมนูญ

ส่วนพรรคที่จะไปร่วมรัฐบาล เช่น ประชาธิปัตย์มีเงื่อนไขว่าต้องแก้ พรรคภูมิใจไทยก็พูดในทำนองเดียวกัน ปัญหาคือ ที่ผ่านมากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมด ไม่เคยมีบทบาทของรัฐบาลเลย นายกฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้มีจุดยืน ทุกคนปัดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของสภา สุดท้ายก็จบลงที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความและก็คว่ำ

ถ้าอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ ประการแรก ครม.เป็นเจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ถ้าเป็นนโยบายรัฐบาล ประการที่สอง พรรคการเมืองทุกพรรค อาจจะยกเว้นพลังประชารัฐ ต้องพร้อมที่จะคุยกันเองและขอพบนายกฯ ตกลงจะทำตามนโยบายรัฐบาล ให้รัฐธรรมนูญผ่าน ไม่ใช่พูดแค่ว่า ไปแก้กันมาสิ แก้ให้ได้ก็แล้วกัน

ประการที่สอง รัฐธรรมนูญออกแบบมาถ้าผู้มีอำนาจไม่ให้แก้ มันแก้ไม่ได้ พรรคการเมืองและประชาชนต้องมุ่งกลับมาตรงนี้ก่อน ประชาชนตอนนี้ก็อยากไปล่าชื่อ แก้เป็นรายมาตราบ้าง ใจหนึ่งก็อยากไปทำประชามติด้วย

พรรคการเมืองก็ไปทำรายมาตรา พลังประชารัฐก็ชิงเสนอแก้รายมาตรา แต่มาตราที่เสนอแทบไม่เกี่ยวอะไรกับความเป็นประชาธิปไตยเลย

วันนี้ทุกฝ่ายที่อยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมุ่งเข็มกลับมาที่ว่า ตกลงรัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าแก้ ผู้นำต้องมีท่าทีที่ชัดและต้องดำเนินการ ถ้าไม่มี หรือปฏิเสธ คราวนี้ก็ต้องกลับมาที่พรรคร่วมแล้วว่า ยืนยันแค่ไหนว่า ที่ร่วมรัฐบาลมีเงื่อนไขนี้

Q : การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้อาจจะเป็นจุดเริ่มของวิกฤตการเมืองรอบใหม่

เป็นอยู่แล้ว เพราะความไม่ยอมรับในกติกาอยู่ในใจคนมากขึ้น แต่รัฐบาลพยายามรักษาแนวกติกาแบบนี้ โดยหวังว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะใช้กลไกแบบเดิมก็มีแต่จะเติมความไม่พอใจและความขัดแย้งที่จะรุนแรงขึ้น ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญเลยก็เป็นปัญหา ทำเป็นจะแก้แต่ไม่แก้ก็ยิ่งเติมปัญหาเข้าไปอีก

Q : จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตการเมืองรอบใหม่ได้

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความแตกต่างของปีที่แล้วในช่วงกลางถึงปลายปี รัฐบาลจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็แล้วแต่ แต่ก็ถูกบีบให้เดินในเส้นทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ทันทีที่รัฐบาลประเมินว่ามวลชนข้างนอกอ่อนแรง เสียแนวร่วม เพราะไปชูประเด็นอื่น ขึ้นมา ก็ชิงที่ไม่ทำเลยยิ่งเอากฎหมายมาจัดการอีก รัฐบาลจึงอยู่ในความคิดเดิมว่า มวลชนทำอะไรไม่ได้

Q : รัฐบาลประเมินถูกหรือว่าผิด

ไม่มองว่าถูกหรือผิด แต่เป็นความต้องการและเป็นสิ่งที่รัฐบาลเชื่อว่าสามารถยันอยู่ในสถานะแบบนี้ไปได้ ขณะเดียวกันมวลชนก็มองว่า ถ้ารัฐบาลเป็นแบบนี้ก็ไม่เป็นไร เพียงแต่เติมเชื้อให้กับเขาในวันข้างหน้า เพราะเขามองว่าสิ่งที่เรียกร้องเป็นการเปลี่ยนแปลงระยะยาว และคิดว่าเวลาอยู่ข้างเขา เพราะนับวันแนวร่วมก็ยิ่งจะเพิ่มขึ้น ๆ มันก็กลายเป็นสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย รัฐบาลมองสั้นที่จะอยู่ในอำนาจ มวลชนมองยาวว่า ดีสิ ทำอย่างนี้ ยิ่งเพิ่มกำลังให้กับเขาในวันข้างหน้า

Q : สถานการณ์เฉพาะหน้า รัฐบาลสูญเสียความชอบธรรม

รัฐบาลตอนนี้ไม่ได้อยู่ในสภาวะที่สนใจเรื่องพวกนี้เลย และบังเอิญมีเรื่องโควิดด้วย จึงคิดว่าอยู่ในอำนาจได้

Q : รัฐบาลได้เปรียบเกมแก้รัฐธรรมนูญ จึงไม่ต้องทำตามคำเรียกร้องมวลชน

ใช่ แต่มวลชนก็ไม่ได้มองว่า ตัวเองเสียเปรียบ มวลชนมองว่า ก็ดี ให้มันชัด (เค้นเสียงดัง) ขึ้นเรื่อย ๆ

Q : มวลชนสะสมชัยชนะ

ใช่ ต้องการสะสมกำลังมากขึ้นเพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ รัฐบาลไม่ยอมสละความได้เปรียบในสิ่งที่ตัวเองสร้างไว้

Q : สุดท้ายพลังประชารัฐอาจจะประคองเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุบสภาก่อนครบวาระ 1 ปีหรือไม่

ใช่ ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ วันนี้โอกาสที่จะทำเสร็จก็ใกล้เลือกตั้งอยู่ดี ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม แต่ถ้าแก้รายมาตราก็ขึ้นอยู่กับว่าแก้อะไร ได้เปรียบ เสียเปรียบ วุฒิสภาคงยังอยู่

Q : การเมืองครึ่งปีหลังจะเกิดอะไรขึ้น

เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องพรรคร่วมรัฐบาลก็จะอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปอีกระยะ ต่างคนต่างทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่า ทำแล้วตรงกับสิ่งที่ตรงกับความเคลื่อนไหว แต่ไม่มีอะไรขยับแบบจริงจัง ประคองกันไป ปัญหาของรัฐบาลอยู่ที่การจัดการเรื่องวัคซีน เรื่องการเปิดประเทศมากกว่า เพราะอาจจะเป็นเงื่อนไขกระทบการเมือง

Q : มวลชนหลายกลุ่ม แตกประเด็นมากขึ้น ประเมินทางการเมืองอย่างไร

มองได้ 2 มุม ยังไม่ถึงจุดวิกฤต และมวลชนที่เคลื่อนไหวอยู่ก็พอรู้ว่า อาจจะยังไม่ได้สุกงอมถึงขั้นนั้น แต่เพียงพอที่จะสะสมกำลังได้มากขึ้นเรื่อย ๆ และได้เงื่อนไขเพิ่มถ้ารัฐบาลบริหารจัดการไม่ดี

ในทางกลับกัน มองในมุมของประเทศ การที่รัฐบาลประคองไปอย่างนี้ เป็นสภาพที่ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับใครเลย ในแง่ของต่างชาติและนักลงทุน เพราะบรรยากาศของสถานการณ์แบบนี้จะกวนใจตลอดเวลาว่า เอ๊ะ จะไปจบอย่างไร เพราะไม่มีความพยายามที่จะปลดเงื่อนไขที่เป็นปัญหาความขัดแย้ง

บังเอิญว่าสถานการณ์ยังไม่รุนแรงมาก ธุรกิจเบื้องต้นทำอย่างไรให้อยู่รอดก่อน และยังจำเป็นต้องพึ่งพาความต่อเนื่อง ส่วนจะถูกใจหรือไม่ถูกใจ ยังดีกว่ามีอะไรวุ่นวายตอนนี้ สามาถนำไปสู่ความเป็นปกติมากขึ้นหลังโควิด แต่มันจะยืดเยื้อกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้

ตอนนี้รัฐบาลขาดการสื่อสารให้เห็นภาพยุทธศาสตร์ของการจัดการปัญหาเกี่ยวกับโควิดกับเศรษฐกิจ ควรจะออกมาสื่อสารให้เข้าใจว่าการฉีดวัคซีนจะสัมพันธ์กับการเปิดประเทศอย่างไร และเป้าหมายหรือวิธีการขยับเรื่องวัคซีนขณะนี้ต้องชัดเจนกว่านี้ หรือกลัวว่าทำไม่ได้ หรือกลัวมีเสียงคัดค้าน

ดังนั้น ปัจจัยครึ่งปีหลังที่จะส่งผลต่อความสั่นคลอนของรัฐบาลคือแผนการฉีดวัคซีนเพราะพันกับเรื่องเศรษฐกิจด้วย ท่องเที่ยวที่ต้องเขย่ามาก

Q : รัฐบาลหวังว่าการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศจะเป็นแรงเหวี่ยงให้เกิดโมเมนตัมไปถึงไตรมาส 3 และ 4 ใช้การลงทุนจากต่างประเทศเป็นตัวดึงเศรษฐกิจทั้งปีให้จีดีพีโต 4%

ผมไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะจัดงบประมาณในปี 65 ลดลง เพราะการบริหารจัดการและความไม่แน่นอนในต่างประเทศ วางใจไม่ได้เลยว่า เอกชนจะมารับลูกการประคองเศรษฐกิจจากเงินของรัฐบาลในปัจจุบัน

ผมมองว่าอย่างน้อยอีก 1 ปีข้างหน้า รัฐต้องพร้อมที่จะเข้ามาทุ่มเทให้เศรษฐกิจได้รับการประคองและเดินต่อไป ซึ่งอาจต้องขาดดุลเพิ่ม หรือ แม้กระทั่งต้องขยับเพดานหนี้สาธารณะ มีเหตุผลเพียงพอ

การส่งสัญญาณที่จะถอนตัวเองออกมาจากการกำลังของรัฐ และคิดว่าเอกชนจะมารับไม้ต่อได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 (ไตรมาสสี่) เป็นต้นไป เสี่ยงมาก ๆ ถ้าเกิดแผนฉีดวัคซีนไม่เรียบร้อย ต่างประเทศยังมีปัญหาอยู่ เป็นการไปรอให้เกิดปัญหา หรือ มีส่วนสร้างปัญหาเสียเอง

เมื่อถึงเวลาอาจจะเก็บภาษีไม่เข้าเป้า ควรมีหน้าตักให้เห็นก่อนเพื่อสร้างความมั่นใจ ถ้าถามว่ามีสถานการณ์แบบไหนที่ต้องยกเพดานหนี้สาธารณะ ผมก็ยังนึกไม่ออกว่าจะมีสถานการณ์อะไรที่เลวร้ายไปกว่านี้ สถานการณ์ขณะนี้คิดว่าเอกชนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเดือนตุลาคมจริงหรือ เป็นไปไม่ได้

ชัดเจนอยู่แล้วว่า สภาพความไม่ปกติต้องเข้าไปอยู่ในปีงบประมาณปี 65 ทำไมต้องตัดสินใจถอนคันเร่งตอนนี้ และมีโอกาสไปไม่ถึงเป้าหมาย ให้จีดีพีโต 4% เพราะความไม่แน่นอนสูงมาก

Q : ปัจจัยการจัดการวัคซีน เศรษฐกิจ ผสมกับปัจจัยทางการเมืองเมื่อถึงกลางปีสภาพรัฐบาลจะเป็นอย่างไร

ถ้าไม่มีอะไรขยับ สภาพก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ การเมืองก็จะแย่ลง จะมีความไม่พอใจ ความขัดแย้ง ปัญหาการว่างงาน การล้มลงของธุรกิจ จะอยู่ในสภาพอึมครึมไปเรื่อย ๆ มวลชนก็จะสะสมกำลังไปเรื่อย ๆ เป็นเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

Q : ถ้าปีหน้าเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญแบบเก่า พรรคการเมืองใหญ่-กลาง-ย่อยจะเป็นอย่างไร

สิ่งที่จะเห็นคือ จำนวนพรรคมหาศาล มีการแตกแบงก์ย่อย ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อหวังคะแนนจากระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ในมุมของ 3 ป. ก็จะง่าย คิดว่าโอกาสที่ฝ่ายค้านเกิน 250 เสียง ยังน้อยอยู่ ยกเว้นภูมิใจไทย หรือประชาธิปัตย์ ประกาศไม่เอาแล้ว และการรวบรวมเสียงให้ได้ 125 เสียง เพื่อดึงทุกคนเข้ามาก็จะทำแบบเดิม แต่คนที่รู้สึกว่าไม่ชอบธรรมก็จะรู้สึกแรงขึ้นไปอีก

Q : ประชาธิปัตย์จะทำอย่างไรในสภาวะแบบนี้

พรรคจะต้องคุยกับนายกฯเรื่องรัฐธรรมนูญ ไม่ควรปล่อยให้นายกฯอยู่ในสภาพลอยตัว เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล และพรรคประชาธิปัตย์พูดเองว่า เป็นเงื่อนไขของการร่วมรัฐบาล ต้องจริงจัง การร่างรัฐธรรมนูญเอง คุยกับพรรคร่วมเองยังไม่ตอบโจทย์ ถ้ายังไม่สามารถได้ 84 เสียงจากวุฒิสภา หรือยังไม่สามารถห้ามคนของพลังประชารัฐส่งคนไปตีความที่ศาลรัฐธรรมนูญ

Q : ประชาธิปัตย์มีพลังมากพอที่จะเปิดเกมคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์

ไม่ได้มองว่า อยากจะต้องให้เผชิญหน้า หรือวัดกำลัง แต่เป็นเรื่องของการผลักดันสิ่งที่เป็นจุดยืนของตัวเอง จำเป็นต้องทำ อย่างน้อยที่สุด 2 พรรค ภูมิใจไทย กับชาติไทยพัฒนา รวมตัวกันไปพบผู้นำรัฐบาลว่า ตกลงที่เขียนไว้ในนโยบายจะให้ผลักดันกันอย่างไร ทุกวันนี้ต่างคนต่างเสนอและหวังว่ามันจะผ่าน โดยที่ไม่มีแผนเลย


จริง ๆ ทำได้หนักกว่านี้ คือ ดึงฝ่ายค้านเข้ามาด้วย ให้เห็นภาพว่า พรรคการเมืองเกือบทุกพรรคในสภาต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนให้เสียงมา แต่ติดขัดอยู่กับพรรคแกนนำ 1 พรรค กับวุฒิสภา