“บิ๊กบี้” สั่งทหารเก็บข้าวของขึ้นรถออกจากก.แรงงาน ด้านแรงงาน-นายจ้างมองเหตุที่มาไขก๊อก

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 2 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศกระทรวงแรงงานในช่วงบ่าย มีทหารประมาณ 5-6 นาย เดินทางมาขนข้าวของเครื่องใช้ เครื่องออกกำลังกาย และเอกสารต่างๆ ของ พล.อ.ศิริชัย โดยนำขึ้นรถบรรทุกของทหาร โดย พล.อ.ศิริชัย ไม่ได้เดินทางเข้ามายังกระทรวงแรงงานแต่อย่างใด

ด้านนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและทีมงานฝ่ายบริหาร ขอลาออกจากตำแหน่งภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.มีคำสั่งย้าย นายวรานนท์ ปีติวรรณ ออกจากอธิบดีกรมการจัดหางานไปนั่งรองปลัดกระทรวงแรงงาน ว่า เรื่องนี้ตนมองว่าคงไม่ใช่สาเหตุอย่างเดียว แต่น่าจะมาจากหลายประเด็นก่อนหน้านี้ เพราะนายกฯ มีคำสั่ง คสช.ออกมาก่อนในเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว เพียงแต่ครั้งนี้มีผลกระทบ เนื่องจากสะสมมาหลายครั้ง จึงทำให้ พล.อ.ศิริชัย อาจทนไม่ไหว เพราะถูกข้ามหน้าข้ามตาหรือไม่ อย่างกรณีการเลือกปลัดกระทรวงแรงงานที่จะมานั่งแทน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานที่เกษียณไปเมื่อเดือนกันยายน ทางรัฐบาลกลับตั้ง นายจรินทร์ จักกะพาก ข้ามห้วยกระทรวงมหาดไทยมานั่งปลัดแทนอีก

“ผมมองหลายอย่าง เหตุผลที่รัฐมนตรีขอลาออก อาจไม่ใช่แค่เรื่องย้ายนายวรานนท์ แต่หลายเรื่องแล้ว และเป็นการบีบคั้นกลายๆ หรือไม่ ให้ลาออกแทนปรับ ครม. ประกอบกับที่ผ่านมาผมก็มองว่า รัฐมนตรีไม่มีแรงงานสัมพันธ์ ท่านมาจากกระทรวงกลาโหม ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องแรงงาน และฟังข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงมากเกินไป ที่ผ่านมาผมเคยได้รับโอกาสเข้าไปหารือกับท่านเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นก็ไม่เคยอีก ไม่เหมือนรัฐมนตรีคนเก่าๆ จะให้นายจ้างลูกจ้างเข้าหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ ผมจึงรู้สึกว่าท่านฟังข้าราชการมากเกินไป ทำให้การทำงานก็มุ่งไปที่จุดเดียวไม่มองมุมกว้าง อย่างนโยบายหลักๆ ก็มุ่งไปที่การปรับระดับสถานการณ์ค้ามนุษย์จากเทียร์ 3 (Tier3) ซึ่งระดับต่ำสุดจากการเฝ้าระวัง มาเป็นเทียร์ 2 วอตช์ลิสต์ (Tier 2 Watch List) ซึ่งปัจจุบันก็ยังเฝ้าระวังอยู่ดี แต่กลับไปให้ความสนใจกับแรงงานในประเทศ ซึ่งมีอีกหลายคนที่ยังไม่มีงานทำ และยังประสบปัญหาค่าครองชีพอีกเยอะ” นายชาลีกล่าว

รองประธาน คสรท. กล่าวอีกว่า ตนจึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะปฏิรูปกระทรวงแรงงานใหม่ โดยถือโอกาสที่รัฐมนตรีไขก๊อกออก และรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่มาทำงาน ซึ่งควรเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ดี และไม่ได้ฟังข้าราชการมากจนเกินไป และต้องให้ความสำคัญกับแรงงานไทยมากกว่านี้ ไม่ใช่มุ่งแต่แรงงานข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติควรเน้นแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ก็พอ แต่ที่ผ่านมาไปให้ความสำคัญกับทุนมาก พวกนี้ต้องการแรงงานข้ามชาติ เพราะค่าจ้างถูก ดังนั้น กระทรวงแรงงานต้องปรับเปลี่ยนใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่าการลาออกของรัฐมนตรี ไม่น่าแค่การปกป้องลูกน้องหรือไม่ นายชาลีกล่าวว่า ไม่น่าใช่ ตนมองว่าเรื่องนี้น่าจะมีอะไรมากกว่านี้ อาจเป็นการข้ามหน้าข้ามตาหลายครั้งแล้ว และเป็นการบีบกลายๆ ให้ลาออกหรือไม่ ขณะเดียวกันที่ต้องใช้มาตรา 44 ย้ายนายวรานนท์ ตนมองว่า เพราะหากย้ายตามปกติในที่ประชุม ครม. คงไม่ได้ เนื่องจากรัฐมนตรีคงไม่เห็นด้วย ดังนั้น การใช้มาตรา 44 ของ คสช.จึงถูกเลือกนำมาใช้จุดนี้ ส่วนจะมีอะไรนอกเหนือจากนั้นอาจจะมี เพียงแต่เราไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วมองว่านายวรานนท์ เป็นคนทำงาน แต่เรื่องการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวยังเป็นแนวคิดเดิมๆ ถ้าให้ตนเดาคิดว่าอาจจะเป็นเพราะเรื่องของการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวที่อาจจะยังไม่ความล่าช้าอยู่ ถ้าให้เดารัฐบาลคงกังวลว่าอาจจะไม่ทัน 1 ม.ค. 2561 หรือไม่ แต่การโดน ม.44 เด้งฝ่าผ่าแบบนี้ทั้งๆ ที่เรื่องการโยกย้ายข้าราชการสามารถทำได้ผ่านกระบวนการปกติของหน่วยงาน ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นหัวหน้าหน่วยงานนั้น อาจจะมีปัญหาอะไรมากกว่านี้หรือไม่ แต่เราคนนอกคงไม่สามารถเดาได้ว่ากลไกข้างในมีปัญหาอะไรหรือไม่ เพราะทีมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็ออกยกชุดเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผู้ดูแลเรื่องการจัดการแรงงานต่างด้าวกลางคันนี้ตนก็หวังว่าจะแก้ปัญหาได้ดีขึ้น เพราะอย่าลืมว่านายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ที่เพิ่งมาใหม่ก็มีแนวคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งแตกต่างลูกหม้อของกระทรวง

 

ที่มา : มติชนออนไลน์