จับตา ประยุทธ์ แจงอำนาจใหม่ตามกฏหมาย 31 ฉบับ ถก 3 สภาธุรกิจ

ประยุทธ์ ถก กกร. 3 สมาคมธุรกิจเอกชน-ซีอีโอ จับตาแจง อำนาจใหม่ในกฏหมาย 31 ฉบับ คุมโรคระบาด ปรับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ-กระจายวัคซีน ก่อน ชง ศบค.ชุดใหม่ ล็อกดาวน์ 14 วัน

วันที่ 28 เมษายน 2564 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะกรรมการหอการค้าไทย เข้าพบเพื่อหารือและนำเสนอแนวทางการทำงานของหอการค้าไทยในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย

หลังจากการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ มีมติเห็นชอบ ร่างประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเฉพาะ

เป็นการใช้อำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟู ช่วยเหลือประชาชน จำนวน 31 ฉบับ เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งคาดว่าจะมีการแจกแจงการใช้อำนาจตามกฏหมาย และการออกประกาศ มาตรการที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และด้านการควบคุมโรค รวมทั้งการร่วมมือกับเอกชนในการนำเข้า และกระจายการฉีดวัคซีน และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ในระยะต่อไป

นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ในการบริหารพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง ด้วยการยกระดับ พื้นที่โซนสีแดงเป็นสีแดงเข้ม 6-7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เชียงใหม่ และชลบุรี ซึ่งอาจจะต้องมีมาตราการล็อกดาวน์เฉพาะจุด เป็นระยะเวลา 14 วัน ต่อไป ตามขั้นตอนดังนี้

1.ปรับระดับสีจังหวัดจากเดิม 2 สี ให้เพิ่มเป็น 3 พื้นที่ คือ สีแดงเข้ม ให้เป็นจังหวัดควบคุมสูงสุดเป็นกรณีพิเศษ สีแดง และสีส้มที่มีจำนวนไม่มาก เนื่องจากจังหวัดส่วนใหญ่จะให้กลายเป็นพื้นที่สีแดงเข้มและสีแดง

2.ขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปรับมาตรการในระดับจังหวัด รูปแบบทาร์เก็ตล็อกดาวน์ (Target Lock down) ซึ่งเป็นการปิดกิจการกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีผลต่อการรวมตัวของคนจำนวนมาก โดยทางจังหวัดจะต้องพิจารณาข้อกำหนดต่าง ๆ ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นพ.ปิยสกล สกลสัตยาธร ประธานคณะกรรมการจัดหาวัคซีนทางเลือก นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกโรงพยาบาล นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเปิดการประชุมว่า ประเด็นสำคัญ คือ เรื่องการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เปลี่ยนไปจากเดิม ส่งผลต่อการประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงต้องบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจไปด้วยกันเพื่อให้สอดคล้องต้องกันในสิ่งที่เป็นประโยชน์และความเข้าใจที่ตรงกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากหารือกับคณะกรรมการหอการค้าไทยเสร็จแล้ว ต่อจากนั้นในเวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อบริหารจัดการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการกระจายวัคซีน

ทั้งนี้ ผลหารือกับภาคเอกชนในวันนี้จะนำเข้าสู่การออกมาตรการ อย่างเป็นระบบในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ในวันพรุ่งนี้ (29 เมษายน 2564) เพื่อประกอบการพิจารณามาตรการยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19