‘ประยุทธ์’ คุมอำนาจพิเศษ ปฏิบัติการ ศบค.ตรึงธุรกิจ-การเมือง

รายงานพิเศษ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสามเดินมาถึง “จุดตัด” ทางสาธารณสุข-เศรษฐกิจและการเมือง เป็น “ทางสามแพร่ง” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างปฏิเสธได้ยาก

เมื่อ “หัวหน้ารัฐบาล” เลือกใช้วิธี “ไม่ล็อกดาวน์” ช่วงสงกรานต์ จนกระทั่งโควิด-19 รุกคืบ-ลุกลามไปทั่วประเทศ

ความสามารถของรัฐบาลผสม ถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากทุกองคาพยพในสังคม โดยมีกลไก “รัฐราชการ” เป็นจำเลยร่วม

“แทรกซ้อน” ด้วยความ “ไม่มีเสถียรภาพ” ในพรรครัฐบาล กลายเป็นภาพสะท้อนออกนอกห้องประชุม ครม. ความลับวงใน เรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตำหนิรัฐมนตรีที่ “นินทา” ลับหลัง ขู่ยึดเก้าอี้-โควตามาเป็นโควตานายกฯ เป็นฉากที่ขับเน้นความไม่ลงรอยใน ครม. ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

บิ๊กตู่ปรามพรรคร่วม

และเมื่อโควิด-19 ระลอกสาม “ดิสรัปต์” รัฐบาล 3 ป.-เปลือยกลไกทางการเมืองของ “รัฐบาลผสม” ให้เห็นถึงการทำงานไม่เป็นเอกภาพ-ไม่สามารถรับมือวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดของโลกได้

ดังนั้น “พล.อ.ประยุทธ์” จึงต้อง ปราบพยศภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ ที่เกิดจากความร้าวลึกในพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นชนวนของความขัดแย้ง อาทิ ล้ำเส้นประชาธิปัตย์-ฐานเสียงภาคใต้ของพลังประชารัฐ

โดยเฉพาะการออกมาแสดงทรรศนะของ “ศุภชัย ใจสมุทร” ขุนพลภูมิใจไทย ต่อการ “ใช้อํานาจพิเศษ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ และ “ตัดการมีส่วนร่วมของภาคการเมืองออก” รวมถึง “ตัดคณะรัฐมนตรีออกจากการทํางานใน ศบค.”

ขณะที่ตัวต้นเรื่อง “ศุภชัย” ต้องออกมาชี้แจง แก้ตัวว่า “ต้องการส่งกำลังใจของคนพรรคภูมิใจไทยและคนที่รักใคร่นายอนุทินให้อย่าท้อ อย่าถอย โดยไม่มีอะไรสลับซับซ้อน ไม่มีนัย ไม่มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้องนอกจากการให้กำลังใจ เป็นความพยายามสื่อให้เห็นความทุ่มเทของนายอนุทินและคณะของกระทรวงสาธารณสุขทุกคนสะท้อนให้เห็นว่าคนภูมิใจไทยคิดอย่างไรเท่านั้น และยังคงเดินหน้าทุ่มเททำงานต่อไป”

แต่นั่นก็เป็นที่มาของการรวบ-ตรึงอำนาจ ยึดกฎหมาย 31 ฉบับไว้ใน “กำมือ” พล.อ.ประยุทธ์-คณะกรรมการบริหารจัดการวัคซีนแบบเบ็ดเสร็จ หรือ “single command” นักสังเกตการณ์การเมืองวิเคราะห์ตรงกันว่าเป็นการ “ปฏิวัติเงียบ”

ตามด้วยการตั้ง “ทีมไทยแลนด์” ร่วมกันระหว่างรัฐ-เอกชน เพื่อกระจาย-ฉีดวัคซีนให้ประชาชน 50 ล้านคนหรือ 70% ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ ภายในปี 2564 โดยวัคซีน “บิ๊กลอต” จะเริ่มทยอยเข้ามาในมิถุนายน 64 ประกอบด้วย 4 ทีม

team A “ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน” โดยเพิ่มสถานที่ฉีดวัคซีน-หน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ทั่วประเทศ team B “ทีมประชาสัมพันธ์” สร้างการรับรู้และความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด เชื่อมโยงแอป “หมอพร้อม”

team C “ทีมสนับสนุนและอำนวยความสะดวก” ระบบ “หมอพร้อม” ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และ team A “ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม” ตั้งเป้า 100 ล้านโดส ภายในปี’64 เพื่อเปิดประเทศให้ทันต้นปี 2565

ปฏิวัติเงียบภาค 2

ไม่ใช่ครั้งแรก-เป็น “ศบค.ภาคต่อ” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่การตัดสินใจ “ยึดอำนาจ” รัฐมนตรี-นักการเมือง เพื่อ “รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”

ศบค.ภาคแรก-ต้นธารแห่งอำนาจเบ็ดเสร็จ คือ การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19” หรือ “ศบค.” แก้ปัญหาโควิด-19ระลอกแรก

โดยมี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็น “ผู้อำนวยการศูนย์” ในฐานะ “ผู้กำกับ”

ทว่า แม้โครงสร้าง ศบค. ประกอบด้วย “รองนายกฯทุกคน” เป็น “ผู้ช่วยผู้กำกับ” แต่เป็นเพียง “พระอันดับ” ให้หัวหน้าพรรคในพรรคร่วมรัฐบาลได้สวมเป็น “หัวโขน” เพื่อไม่ให้เสมือนประหนึ่งว่า “ข้ามหัว” พรรคการเมือง-นักการเมือง

เพราะกลไกหลักในการแก้ปัญหาโควิด-ขับเคลื่อน ศบค. คือ ปลัดกระทรวง-กองทัพและบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็น “ตัวกลาง” ในการเชื่อมต่อการทำงาน และผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นแขน-ขา

ต่อจากนั้นยังมีการออก “คำสั่งพิเศษ” เพื่อแก้ปัญหากักตุนสินค้า-เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และแก้ปัญหา “หน้ากากอนามัยขาดแคลน” จนถูกมองว่าเป็นการ “ยึดอำนาจจุรินทร์” หัวหน้าประชาธิปัตย์ รองนายกฯ-เจ้ากระทรวงพาณิชย์

ล่าสุด คือ การตั้งคณะกรรมการจัดหาวัคซีนทางเลือก ที่มี “นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร” อดีต รมว.สาธารณสุข ยุครัฐบาล คสช.-ประยุทธ์ 1 เป็นประธาน

เป็นสัญญาณเตือนการ “ยึดอำนาจอนุทิน” หัวหน้าภูมิใจไทย รองนายกฯ-หัวหน้ากระทรวงสาธารณสุขไปโดยปริยาย

และเป็นที่มา-ที่ไปของการตั้ง 4 ทีมผสมรัฐ-ภาคเอกชน ที่มี “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี-มือขวาประยุทธ์ เป็น “แม่งาน” ภาครัฐ และ “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็น “หัวเรือใหญ่” ภาคเอกชน

รวมศูนย์อำนาจแก้เศรษฐกิจ

การตบเท้าเข้าทำเนียบรัฐบาลของภาคเอกชน-3 คีย์แมน ในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้า-สภาอุตฯ-สมาคมธนาคารไทย ที่มีความเห็นแนบท้ายจาก 40 ซีอีโอระดับชั้นยอดพีระมิดธุรกิจไทย

จะไม่ใช่เป็นครั้งเดียว-ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

ขณะที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังได้ยึดอำนาจ “รองนายกฯเศรษฐกิจ” โดยการออกคำสั่งตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ “ศบศ.” ขึ้น

ภายหลังทีมเศรษฐกิจสมคิด จาตุศรีพิทักษ์-รัฐมนตรีสี่กุมาร ถูกออกไปจากทำเนียบรัฐบาล-พรรคพลังประชารัฐ

รวมถึงก่อนหน้านี้ได้แต่งตั้ง “คณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ-สังคม” จำนวนหลายคณะ ไม่นับรวมถึง “กุนซือเศรษฐกิจ” บนหอคอยไทยคู่ฟ้า-รอบตัว “พล.อ.ประยุทธ์”

อาทิ คณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งขึ้นไม่นานหลังการเลือกตั้ง-ยุค คสช. ซึ่งต่อมาภายหลังก็มีตำแหน่งแห่งที่ในทำเนียบรัฐบาล-ศูนย์กลางอำนาจ และทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจที่มีนายทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาฯสภาพัฒน์เป็นประธาน

“พล.อ.ประยุทธ์” ถูกโควิด-19 ระลอกสาม ต้อนเข้ามุมอับ-เข้าตาจน ต้องงัดท่าไม้ตาย-ยึดอำนาจนักการเมืองไว้ “แต่เพียงผู้เดียว” (อีกครั้ง) ตามเกมที่ถนัด

เพื่อกอบกู้ทั้งวิกฤตโควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตศรัทธาจากประชาชน


“พล.อ.ประยุทธ์” จะรอดพ้นจากวงล้อม-วิกฤตการเมืองและโรคระบาดครั้งใหญในประวัติศาสตร์ได้หรือไม่ เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์