“ประยุทธ์” สั่งเร่งเปิด รพ.สนาม กทม.-ปริมณฑล รับผู้ป่วยฉุกเฉินโควิด

นายกรัฐมนตรี ระดมตรวจคลัสเตอร์คลองเตย ตั้งเป้าอย่างน้อยวันละ 1 พันคน ใช้สมุทรสาครโมเดล เตรียมใช้ “อิมแพคอารีนา” เป็น รพ.สนาม เร่งหาเตียงสำรองรับผู้ป่วยฉุกเฉินใน กทม.- ปริมณฑล

วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่มีการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างและเกิดกลุ่มก้อนต่างๆในหลายจังหวัด ตนในฐานะนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ ศบค. ได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด และได้สั่งการเพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ดังต่อไปนี้

เผย ไม่มีคนรอเตียงเกิน 48 ชั่วโมง

เรื่องการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วย ได้สั่งการให้มีการจัดระบบการบูรณาการเรื่องเตียงและโรงพยาบาลสนามทั้งหมด แบ่งกลุ่มผู้เข้ารับการรักษาพยาบาลตามระดับอาการ เป็น 3 กลุ่ม คือ ระดับสีเขียว คือ ผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย จัดให้เข้าโรงพยาบาลสนาม, ระดับสีเหลือง คือ ผู้ป่วยอาการปานกลาง จัดให้เข้าโรงพยาบาลทั่วไป, ระดับสีแดง คือ ผู้ป่วยอาการรุนแรง จัดให้เข้าโรงพยาบาลเฉพาะทาง

โดยให้ปรับรูปแบบการคัดกรองผู้ป่วย ให้ไปคัดกรองที่โรงพยาบาลสนามแทนโรงพยาบาลทั่วไป เพื่อลดการแออัดที่โรงพยาบาล และรักษาเตียงว่างไว้ให้ผู้ป่วยที่จำเป็น และให้เพิ่มเติมผู้รับโทรศัพท์สายด่วน 1668 / 1669 / และ 1330 ให้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยด้วย
นอกจากนั้นผมได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งต่อผู้ป่วยโควิด เพื่อช่วยแยกตัวผู้ป่วยออกจากชุมชน เพื่อรอส่งไปรักษาตัวต่อไป พร้อมกันนั้น ได้สั่งการให้ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กทม. กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. และ กระทรวงกลาโหม เร่งดำเนินการเพิ่มจำนวนเตียงทั้งในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามให้มากที่สุด

ผลการดำเนินการคือ เราสามารถติดต่อและจัดการให้ผู้ป่วยรอเตียงตกค้างทั้งหมด เข้าสู่ระบบการรักษาตามที่แบ่งไว้ 3 กลุ่ม โดยปัจจุบันไม่มีผู้ป่วยที่ต้องรอเตียงเกิน 48 ชั่วโมง โดยการจัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งต่อ ที่อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ ทำให้สามารถแยกตัวผู้ป่วยออกมาจากชุมชนได้ทันที และนับจากวันจัดตั้ง สามารถส่งต่อผู้ป่วยที่รับเข้ามาไปแล้วถึง 96%

ใช้อิมแพคอารีนา เป็น รพ.สนาม

จากความพยายามในการเพิ่มเตียงให้พร้อมรองรับผู้ป่วยที่มีมากขึ้น ทั้ง Hospitel และโรงพยาบาลสนาม ทำให้เรามีเตียงเพิ่มขึ้นจากช่วงสงกรานต์เกือบ 10,000 เตียง และมีเตียงว่างรวมทั่วประเทศมากกว่า 30,000 เตียง และรัฐบาลกำลังพิจารณาจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมในกรุงเทพที่อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพ
“ดังนั้นวันนี้เราพูดได้ว่า สามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องของสายด่วนเพื่อรับตัวผู้ป่วย การส่งต่อผู้ป่วยทุกคนเข้ารับการรักษาได้อย่างทันการ และการเตรียมเตียงสำหรับผู้ป่วย ซึ่งผมต้องขอบคุณทุกหน่วยงาน และทุกคน ทุกองค์กรจิตอาสา ที่ได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกันจนสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ตรวจคลัสเตอร์คลองเตย 1 พันคน/วัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในกรณีคลัสเตอร์คลองเตย ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ และได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังในการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยได้ใช้ประสบการณ์จากการจัดการในจังหวัดสมุทรสาครได้สำเร็จมาปรับใช้ โดยใช้โมเดล “ตรวจเชื้อ ติดต่อ คัดกรอง แยกตัว ส่งต่อ และรักษา”

โดยเน้นไปที่การตรวจเชิงรุก Active Case Finding ที่ระดมตรวจกลุ่มเสี่ยงในชุมชนที่มีการติดเชื้อให้ได้อย่างน้อย 1,000 คนต่อวัน โดยหน่วยเคลื่อนที่ และรถเก็บตัวอย่างชีวะนิรภัยพระราชทาน โดยจะตรวจเชิงรุกให้ได้อย่างน้อยทั้งหมด 20,000 คน จากนั้นก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปทันที

นั่นคือการแยกผู้ป่วยตามระดับอาการ แล้วส่งตัวเข้าสถานพยาบาลแรกรับ เพื่อส่งไปรักษาตัวต่อ ก็จะเป็นการจำกัดวงการแพร่ระบาดให้วงเล็กที่สุด และในเวลาเดียวกัน ก็จะระดมการฉีดวัคซีนโควิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งแนวทางนี้พิสูจน์ว่าประสบความสำเร็จมาแล้วจากกรณีสมุทรสาคร

ซึ่งล่าสุดได้รับรายงานว่า ทางกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้จัดพื้นที่ตรวจเชิงรุกให้กับพี่น้องชาวชุมชนคลองเตยได้อีกถึง 700 คนต่อวัน

เร่งเปิด รพ.สนาม รับผู้ป่วยอาการหนัก

อีกประเด็นหนึ่งที่ได้สั่งการให้รีบแก้ไขปัญหา นั่นคือการสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งในขณะนี้ยังมีเพียงพอ แต่เราไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ ต้องมีการขยายเพิ่มเพื่อรองรับผู้ป่วยอาการหนักในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเมื่อวานนี้ ได้มีการเปิดโรงพยาบาลสนามที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นอีก 432 เตียง

และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังจะมีแผนการบริหารจัดการการดูแลผู้ป่วยอาการหนักที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในการอำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง โดยหลักการที่ผมเน้นย้ำเป็นหัวใจของการจัดการสถานการณ์ทุกอย่างคือ ต้องทำทุกทางเพื่อลดการสูญเสียให้มากที่สุด

ตั้งเพิ่ม 2 คณะกรรมการโควิด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า และเพื่อให้การจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและมีโครงสร้างการบริหารงานที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นจะมีศูนย์เพื่อบูรณาการการจัดการทรัพยากรของหน่วยงานต่างๆเพื่อสนับสนุนกรุงเทพมหานครอย่างเต็มที่ให้ควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างเร่งด่วน

จึงได้ตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตนจะเป็นผู้อำนวยการศูนย์นี้ และมีหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดในพื้นที่เป็นกรรมการ และนอกจากนั้น การดำเนินการของศูนย์นี้ ยังจะสามารถเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของจังหวัดอื่นๆต่อไปอีกด้วย

นอกจากนั้น เพื่อการจัดการสถานการณ์โควิดในภาพรวมเป็นไปได้อย่างดียิ่งขึ้นได้ตั้ง “คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข” โดยมีรัฐมนตรีว่าการ และช่วยว่าการสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษา และมีเลขาสภาความมั่นคงเป็นประธาน และมีหัวหน้าหน่วยงานด้านสาธารณสุข มหาดไทย และกลาโหม เป็นกรรมการ

เพื่อให้เกิดการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานฝ่ายปกครอง ในการบูรณาการทั้งด้านบุคลากรและทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การตรวจคัดกรอง การควบคุมพื้นที่ และอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

“โดยทั้งสองคณะ และศบค.ทุกชุด จะมี “คณะปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” คอยให้คำปรึกษา ซึ่งมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน รวมทั้งมีอาจารย์แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆเป็นกรรมการ เพื่อให้ข้อเสนอแนะตามหลักวิชาการสาธารณสุข และสามารถเชื่อมประสานกับโรงพยาบาลต่างๆได้อย่างดีอีกด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว