4 พรรค ปากกล้า ขาสั่น ระทึก ! แพ้ฟาวล์ หลบกฎเหล็ก คสช.

ในวงสนทนาของนักเลือกตั้ง ยังไม่มีใครเชื่ออย่างสนิทใจว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปลายปี 2561 แม้ว่าจะผ่านงานสำคัญในเดือนตุลาคม และวงล้อการเมืองเริ่มกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง

แต่ทว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ควบตำแหน่งหัวหน้า คสช.ยังไม่ยอมคลายล็อกการเมืองให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ตามปกติ

ทั้งที่พรรคการเมืองต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายลูกและยังถูกบีบด้วยเงื่อนเวลาที่ต้องทำตาม

หากฝ่าฝืนจะไม่มีสิทธิส่งผู้สมัครลงสนามเลือกตั้ง ดังนั้น แม้ คสช.ยังไม่ปลดล็อก แต่พรรคการเมืองก็เริ่มขยับไปบ้างแล้ว

ปชป.รอเลือกหัวหน้า-เลขาฯใหม่ความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อก “คำสั่งเหล็ก” ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 57/2557 เรื่อง “ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง”

หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปลดล็อก “แบบมีเงื่อนไข” ภารกิจแรก คือ การจัดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหาร (กก.บห.) ชุดใหม่ ที่จะหมดวาระราว “ต้นปี”61”

ตั้งทีมเฉพาะกิจ ยกเครื่องพรรค

นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกพรรคใหม่ภายใน 90 วัน ซึ่งปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกกว่า 2,896,130 คน

อย่างไรก็ตาม “แกนนำภายในพรรคประชาธิปัตย์” ประเมินว่า “จะทำให้สมาชิกพรรคลดลงแน่นอน เป็นความพยายาม-มีธงต้องการทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะมีการเก็บค่าสมาชิกพรรค”

ขณะที่การจัดประชุมใหญ่ “แก้ไขข้อบังคับ” และจัดทำ “ประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง” ภายใน 180 วัน ต้องรื้อทั้งหมดเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายพรรคการเมือง โดยมี “ถวิล ไพรสณฑ์” อดีต ส.ส.หลายสมัย เป็นคนร่างข้อบังคับพรรค ร่วมกับฝ่ายกฎหมายพรรค

สำหรับจัดตั้ง “สาขาพรรคการเมือง-ตัวแทนพรรคการเมือง” ประจำจังหวัดให้ครบภายใน 180 วัน พรรคประชาธิปัตย์ “ไม่กังวล” เพื่อเตรียมทำไพรมารี่โหวต เนื่องจากขณะนี้พรรคมีสาขามากที่สุดประมาณ 16-20 สาขาทั่วประเทศ

“แต่กติกาการเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วน ทำให้อดีต ส.ส.ในพรรคต้องแข่งขันกันดุเดือด ประกอบกับระบบไพรมารี่โหวตยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกภายในพรรคมากขึ้น เพราะจำนวนที่นั่งในเขตลดลง เช่น จากเดิมสามารถส่งผู้สมัครได้ 5 เขตอาจเหลือแค่ 3 หรือ 4 เขต”

แกนนำประชาธิปัตย์วิเคราะห์ต่อไปว่า การที่จำนวนการส่งผู้รับสมัครเลือกตั้งน้อยลง อาจเกิดปรากฏการณ์พรรคการเมืองแยกตัวไปตั้ง “พรรคสาขา”

เพื่อผ่องถ่ายผู้ลงสมัคร ส.ส.ส่งไปเป็นผู้สมัครในนามพรรคอื่นจนเกิดการฟ้องร้องเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง เกิดความวุ่นวายซ้ำเดิมข้อจำกัดเรื่องการ “ทดลอง” ระบบไพรมารี่โหวตกับการเมืองไทยเป็นครั้งแรกไปอีก

ตั้ง “กรณ์” ขึ้นโครงนโยบาย

อีกกรณี ปลดล็อก “แบบไม่มีเงื่อนไข” พรรคสามารถหารือ-สรุปนโยบายพรรคที่จะใช้หาเสียงในครั้งหน้าได้อย่าง “เต็มรูปแบบ” ถึงแม้จะมี “กฎหมายใหม่” ที่ออกมาใช้ยุค คสช. จนไม่สามารถผลิตนโยบายโดนใจได้ อย่างไรก็ตาม หลักคิดของพรรคประชาธิปัตย์ นโยบายของพรรค คือ นโยบายที่ทำให้เกิดความยั่งยืน-ตอบโจทย์และเป็นทางเลือกให้กับประเทศได้ โดยมี “กรณ์ จาติกวณิช” รองหัวหน้าพรรค เป็นผู้รับผิดชอบ

เมื่อ คสช.ยังยืนยันจะไม่ปลดล็อกพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมพรรคได้ โดยใช้ “ข้ออ้าง” เรื่องความมั่นคง พรรคประชาธิปัตย์ “อ่านเกมออก” จึงไม่เรียกร้องอะไร เพราะรู้ว่าจะทำให้กระแสของประชาชน “เหวี่ยง” กลับมายังพรรคการเมืองว่า “นักการเมืองไม่ดี” ต้องการเลือกตั้งเร็ว ๆ ทั้งที่เพิ่งเสร็จสิ้นพระราชพิธีแห่งความอาลัย

“ความพยายามของ คสช.ไม่ต้องการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ ย้อนแย้งกับคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมทั้งพรรคขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองที่ต้องการตั้งพรรคการเมืองใหม่” แกนนำ ปชป.วิเคราะห์

ก่อนจะตั้งข้อสังเกตว่า หรือต้องการให้ “พรรคเกิดใหม่”-นอมินีทหาร ได้ระดมสรรพกำลัง-เสบียง ทั้งการหาสมาชิกพรรค-ทุนประเดิม (1 ล้านบาท) ให้ครบตามหลักเกณฑ์กฎหมายพรรคการเมืองภายในระยะเวลาที่กฎหมายบังคับ

พท.คาดปาร์ตี้ลิสต์ได้ไม่ถึง 20 

ฟากพรรคเพื่อไทย นอกจากจะต้องคิดค้นวิธีสู้ศึกเลือกตั้งตาม “กติกา” ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งพรรคประเมินว่า กติกาของรัฐธรรมนูญใหม่ จะทำให้พรรคได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ถึง 20 ที่นั่ง จึงต้องเน้น-เฟ้นหาผู้สมัคร ส.ส.เขตเป็นพิเศษ

นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค กล่าวว่า “ไม่เฉพาะที่ทางพรรคหาบุคลากรที่มีคุณภาพมาเป็นผู้สมัคร ส.ส.เท่านั้น ยังเฝ้าหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมงานกับพรรคด้วย และเมื่อมีการผ่อนคลายทางการเมือง จะได้ปรับโครงสร้างพรรคใหม่ทั้งหมด ตามกฎหมายใหม่ มีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่”

หวั่นเข้าข่ายเคลื่อนไหวการเมือง

ทว่าเมื่อการเมืองยังไม่ถูกปลดล็อก การปฏิบัติตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2560 ก็ยังเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก

ตั้งแต่การแจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกพรรคต่อ กกต. แม้ฝ่ายธุรการและฝ่ายกฎหมายจะช่วยกันดูช่วยกันเช็กชื่อจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ 134,896 คน ขั้นตอนสุดท้ายยังต้องส่งรายชื่อสมาชิกพรรคในแต่ละจังหวัด ไปให้อดีต ส.ส.ในจังหวัดนั้น ๆ ยืนยันตัวตนกันอีกชั้นหนึ่ง

“แต่ตอนนี้ ส.ส.ลงไปปฏิบัติยาก เพราะไม่ปลดล็อก เนื่องจากการเช็กสถานะของสมาชิกพรรคก็ต้องลงไปถึงชาวบ้าน ซึ่ง ส.ส.ก็ยังถูกทหารดูพฤติกรรมอยู่” แหล่งข่าวกล่าว

เมื่อการเช็กจำนวนสมาชิกที่แท้จริงยังทำไม่ได้ การจัดตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำไพรมารี่โหวตก็ยังทำไม่ได้ แหล่งข่าวระดับแกนนำพรรคชี้แจงว่า “พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่ จะขยับแต่ละครั้งก็ต้องมีการประชุม อดีต ส.ส.จะทำจากส่วนกลางอย่างเดียวก็เป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างมันเกี่ยวเนื่องกันไปหมด หากปลดล็อกช้า และพรรคทำไม่ทันก็จะไม่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้”

เวลานี้ความพร้อมของพรรคเพื่อไทยจึงอยู่ในขั้น “เตรียมเอกสาร” เท่านั้น เพราะเกรงว่าจะเข้าข่าย “ทำกิจกรรมทางการเมือง”

ภท.กร้าว พรุ่งนี้เลือกตั้งก็พร้อม

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ที่มีสมาชิก 135,095 คน เตรียมความพร้อมทางธุรการอย่างเงียบ ๆ ซึ่ง “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรค ประกาศต่อสาธารณะ ไม่ว่างานเสวนาการเมืองหรือในวันคล้ายวันเกิด ใจความที่สื่อออกมาตรงกันทุกครั้ง คือ “พรรคการเมืองพร้อมเลือกตั้งตลอดเวลา พูดมาหลายครั้ง ให้เลือกพรุ่งนี้ก็พร้อม”

“สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล” อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ทุกพรรคคงเริ่มเตรียมตัวรีเซ็ตสมาชิกพรรคและเตรียมจัดทำไพรมารี่โหวตทันทีที่มีการปลดล็อก “สำหรับพรรคชาติไทยพัฒนาไม่มีปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคเพราะเป็นพรรคเล็ก จึงจัดผู้ลงสมัครลงเลือกตั้งได้ครบทั้งหมดแล้ว”

ถึงแม้จะเป็นพรรคเล็ก-มีสมาชิกพรรคหลัก 2 หมื่นคน แต่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเพราะเขายังคิดไม่ออกว่า จะทำอย่างไรในการตรวจสอบ-อัพเดตสถานะสมาชิกพรรคได้ครบทั้ง 2 หมื่นคน เพราะสมาชิกบางคนอาจเสียชีวิต-ย้ายที่อยู่ ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย กกต.และพรรคการเมืองต้องร่วมมือกัน ลำพังพรรคการเมืองเท่านั้นคงยาก