ธรรมนัสรอด : ฝ่ายค้านจองกฐิน เตรียมยื่น ป.ป.ช. ฟันอีกรอบ

“ฝ่ายค้าน” ไม่ยอม เตรียมยื่น ป.ป.ช. อีกรอบ หลังมติศาลรัฐธรรมนูญ 9:0 ชี้ “ธรรมนัส” ไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. – รัฐมนตรี “วิษณุ” ชี้พ้นโทษเกิน 5 ปี ไม่ถือว่าขาดคุณสมบัติ ส่วนความเหมาะสม “เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน ภายหลังจาก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย กรณีที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของ ส.ส. 51 คน ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากกรณีเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าซึ่งยาเสพติด

ทั้งนี้ มติศาลรัฐธรรมนูญ 9:0 ชี้ไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. และความเป็นรัฐมนตรี เหตุต้องโทษคำพิพากษาต่างประเทศไม่ใช่ศาลไทย

ก้าวไกล : เล็งยื่น ป.ป.ช. -ศาลฎีกา ฟันอีกรอบ

วานนี้ (5 พ.ค.) ทันทีผลศาลการตัดสินออก พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าวว่า ผิดหวังกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างยิ่ง เพราะขัดต่อแนวทางปฏิบัติและแนวทางกฎหมายที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2525 ซึ่งกระทรวงมหาดไทย เคยได้ทำหนังสือขอความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาในครั้งนั้น รัฐธรรมนูญในขณะนั้นคือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งไว้ว่าเรื่องหนึ่งว่าคือ “บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่กระทำผิดโดยได้กระทำโดยประมาท”

นายชัยธวัช กล่าวต่อไปว่า นี่คือแนวทางปฏิบัติที่เคยถูกตีความมาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาจนกระทั่งถูกล้มโดยศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ จึงทำให้ผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้คำวินิจฉัยในวันนี้ยิ่งทำให้ประชาชนตั้งคำถามมากขึ้นต่อองค์กรอิสระว่ายังเป็นองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนบางกลุ่มโดยสมบูรณ์ ซึ่งนี่เป็นคำถามสำคัญมาก

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลจะไม่หยุดตรวจสอบเพียงเท่านี้ แต่จะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลฎีกาต่อไป เนื่องจากกรณีนี้เป็นการทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งในระหว่างการไต่สวนคดี ร.อ.ธรรมนัส ยังได้ยอมรับกับศาลเองว่า เคยต้องคำพิพากษาจากศาลออสเตรเลียว่าเคยทำผิดและเคยถูกจำคุก จึงเท่ากับว่า ร.อ.ธรรมนัส โกหกคำโตในสภา เพราะในการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยพรรคก้าวไกล

ก่อนหน้านี้ ได้กล่าวว่า มันคือแป้งและบอกว่าโดนจำคุกเพียงแค่ 8 เดือน แต่กลับได้ยอมรับกับศาลรัฐธรรมนูญว่ากรณีที่ถูกพรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นเกิดขึ้นจริง

“แม้ว่า ร.อ.ธรรมนัส จะรอด แต่เรายังเห็นว่านายกฯ ยังต้องพิจารณาในเรื่องนี้ เพราะเราจะมีรัฐมนตรีที่ทำผิดและเคยถูกจำคุกในคดีร้ายแรงคือค้าเฮโรอีนในต่างประเทศได้อย่างไร การมีรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายเรื่องนี้มาแล้วเกือบ 2 ปี เขาไม่เพียงไม่ถูกปลดแต่ยังเติบโตในหน้าที่การงาน ทั้งในพรรคและมีตำแหน่งในรัฐบาล แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลโจรอุ้มโจร รัฐบาลแบบนี้ไม่ตอบโจทย์สังคมไทย…” นายชัยธวัช กล่าว

“เสรีพิศุทธ์” เอาด้วย

นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย เปิดเผยว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย จะดำเนินการในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดด้านจริยธรรมกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ และรมช.เกษตรและสหกรณ์

รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้รับผิดชอบต่อการแต่งตั้ง ร.อ.ธรรมนัส ในตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามการดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด กรณีรับโทษตามคำพิพากษาคดียาเสพติดของศาลในประเทศออสเตรเลีย ทั้งนี้ ทราบว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเร่งให้เร็วที่สุด

บิ๊กป้อม : เป็นเรื่องของศาล รัฐบาลไม่เกี่ยว

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ (คปช.) ครั้งที่ 2/2564 ว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องของศาลพิจารณา ส่วนที่พรรคก้าวไกล จะไปยื่นสอบจริยธรรม ต่อก็เป็นเรื่องของพรรคก้าวไกล” ส่วนเรื่องนี้จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “เป็นเรื่องของศาล ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล”

วิษณุ : พ้นโทษเกิน 5 ปี ไม่ขาดคุณสมบัติ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ว่า เคยมีความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกามีคำสั่งว่า หากถูกพิพากษาจำคุกในหรือต่างประเทศ ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมาแล้วไม่ถึง 5 ปี ถือว่าเป็นบุคคลต้องห้าม ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. แต่กรณี ร.อ.ธรรมนัส ถูกตัดสินลงโทษจำคุกคดียาเสพติด ตั้งแต่ ปี 2536 และพ้นโทษ เมื่อปี 2540 ถือว่าพ้นโทษมาแล้วเกิน 5 ปี จึงถือว่าไม่ขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย

นายวิษณุ กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์ ความเหมาะสม จริยธรรม ว่า ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วแต่จะวิจารณ์กัน ส่วนจะยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. วินิจฉัยในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมหรือไม่ นั้นตนไม่ทราบ แต่ในข้อกฎหมาย ถือว่าสิ้นสุดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า จากที่เป็นประเด็นถกเถียงข้อกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญควรจะทำคำชี้แจงกับสังคมหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องชี้แจงหรือพูดอะไรเพิ่มเติม เพราะได้วินิจฉัยจบแล้ว ส่วนผลทางวิชาการ ทางการเมือง แล้วแต่จะวิจารณ์กันไป ขณะเดียวกันคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีนี้ ถือเป็นบรรทัดฐานที่ใช้ได้กับทุกคน เพราะไม่เคยมีคำวินิจฉัยมาก่อน และใช้ได้กับความผิดทุกกรณี ไม่เฉพาะแต่ความผิดคดียาเสพติดอย่างเดียว แต่ไม่ใช่การล้างมลทิน เพราะเป็นเรื่องคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ซึ่งอาจจะมีมลทินก็ได้

ธนาธร จะปล่อยให้ประเทศเป็นแบบนี้เหรอ ?

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เขียนข้อความแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ศาลรัฐธรรมนูญสร้างบรรทัดฐานใหม่ เป็นอดีตนักโทษในต่างแดนก็เป็นรมว.ไทยได้ ผมรับฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยความประหลาดใจ

แม้จะไม่ผิดความคาดหมายที่ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ มือประสานสิบทิศของรัฐนาวาประยุทธ์ จันทร์โอชา รอดจากการพ้นสภาพรัฐมนตรี แต่คำวินิจฉัยของศาลวันนี้เกินความคาดหมายของผมไปมาก เพราะระบุว่าแม้ศาลออสเตรเลียจะมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกธรรมนัสในคดียาเสพติดจริง แต่เป็นศาลออสเตรเลีย ไม่ใช่ศาลไทย จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรี

พร้อมตั้งขอตั้งข้อสังเกต 2 ข้อ

1. ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยชัด ๆ ว่า “ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ก่อนลงสมัครส.ส. ร.อ.ธรรมนัส ยอมรับว่าเคยกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย” และ “เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงนิวเซาท์เวล เครือรัฐออสเตรเลีย”

หมายความว่าที่ธรรมนัสกล่าวอ้าง ทั้งในสภา กับวาทะ “มันคือแป้ง” และนอกสภา ที่เขายืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าว่าไม่เคยติดคุก ไม่ได้ค้ายาเสพติด เป็นเรื่องไม่จริง เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่ธรรมนัสจะขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีจะมีความสง่างามได้อย่างไร จะได้รับความเชื่อถือจากประชาชนได้อย่างไร หากมีรัฐมนตรีที่โกหกซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเรื่องคอขาดบาดตายอย่างการพัวพันกับการค้ายาเสพติด

2. คำวินิจฉัยในวันนี้จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ในสังคมไทยใช่หรือไม่ ว่าไม่ว่าจะเป็นอาชญากรหรือนักโทษมาจากไหน แต่ประเทศไทยจะเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เป็นรัฐมนตรีได้เสมอ ตราบใดที่ไม่ได้ต้องคดีในไทย ถ้าเป็นแบบนี้ ต่อไปพ่อค้ายา พ่อค้าอาวุธทั่วโลกก็คงสามารถเอาเงินจากการก่ออาชญากรรม มาซื้อตำแหน่งรัฐมนตรี กลายเป็นผู้บริหารประเทศไทยได้ใช่หรือไม่

“เราจะปล่อยให้ประเทศเป็นแบบนี้จริง ๆ หรือ หากเป็นแบบนี้ต่อไป อย่าแปลกใจเลยครับที่คนไทยจำนวนมากจะอยากย้ายประเทศ เพราะไม่มีใครหรอก ที่อยากอยู่ในบ้านเมืองที่ไม่มีที่อยู่ให้กับคนมีความสามารถ แต่กลับมีที่ยืนให้กับบุคคลเช่นนี้”

[ ศาลรัฐธรรมนูญสร้างบรรทัดฐานใหม่ เป็นอดีตนักโทษในต่างแดนก็เป็นรมว.ไทยได้?…

โพสต์โดย Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อ วันพุธที่ 5 พฤษภาคม 2021

 

ไอติม พริษฐ์ : ผิดหวังแต่ไม่ผิดคาด

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม อดีตผู้สมัครส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า เขียนข้อความแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ผิดหวัง แต่ไม่ผิดคาด – ข้อกังขาของกรณี ธรรมนัส และความจำเป็นในการร่วมลงชื่อ แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อปฏิรูปที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อวานเป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่เราเห็นประชาชนจำนวนมาก ออกมาแสดงความผิดหวัง (แต่อาจไม่ผิดคาด) กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตีความให้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รอดจากการหลุดพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. และรัฐมนตรี โดยอ้างว่าการกระทำผิดของคุณธรรมนัสเกี่ยวกับคดียาเสพติด เกิดขึ้นนอกประเทศ เลยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) และ 160 (6)

ถึงแม้เราจะตัดสามัญสำนึกพื้นฐานของเราออกไป และตีความจากแแค่บทกฎหมาย ก็เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่หลายคนรู้สึกไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาล

1. เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) และ 160 (6) มีความชัดเจนว่าต้องการให้ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เป็นบุคคลที่ปราศจากการกระทำความผิดร้ายแรง (รวมถึงการ ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือค้าขาย ยาเสพติด) – การตีความกฎหมาย จึงควรเป็นไปเพื่อปกป้องหลักการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ ถึงแม้จะไม่ได้ถูกเขียนอย่างชัดเจนว่าครอบคลุมการกระทำผิดตามกฎหมายของประเทศใด

2. ความผิดด้านการค้าขายยาเสพติด เป็นความผิดสากลทั้งในประเทศไทยและในประเทศออสเตรเลีย (หรือที่นักกฎหมายเรียกว่า double criminality) – การเปรียบเทียบความผิดที่เกิดขึ้นและถูกตัดสินในประเทศออสเตรเลีย ว่าจะตรงกับความผิดตามกกฎหมายไทยหรือไม่ หากเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่ไม่ยาก

แต่ถึงแม้เรายอมจำใจยึดตามคำวินิจฉัยของศาลในส่วนนี้ ก็ยังมีอีก 2 เหตุผลว่าทำไมคุณธรรมนัส ถึงควรหลุดออกจากตำแหน่ง (อย่างน้อยที่สุด คือตำแหน่งรัฐมนตรี)

1. ในกฎหมายส่วนอื่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ระบุว่า รัฐมนตรีต้อง “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” – ไม่ว่าใครจะกระทำความผิดค้าขายยาเสพติดในมุมไหนของโลก คงยากที่จะบอกว่าคนๆนั้นผ่านคุณสมบัติข้อนี้ (และ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับมาตรานี้)

2. ถึงแม้จะถูกบิดทุกวิถีทางให้ไม่ผิดทางกฎหมาย แต่ในเชิงความรับผิดชอบทางการเมือง คงไม่เป็นการเรียกร้องมากจนเกินไป ที่จะคาดหวังให้นายกรัฐมนตรีไม่เลือกบุคคลที่มีประวัติความผิดเช่นนี้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี – ถ้าย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2535 นายณรงค์ วงศ์วรรณ ยังต้องถอนตัวออกจากการท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังเพียงถูกข้อกล่าวหาเรื่องคดียาเสพติด การที่คุณธรรมนัสยังเลือกที่จะไม่แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกด้วยตัวเอง แสดงให้เห็นชัดว่าระบอบประยุทธ์ได้ทำให้วัฒนธรรมการเมืองของประเทศถดถอยและย้อนเวลาไปมากกว่า 30 ปี

หากเราถอยจากคดีของคุณธรรมนัสเพื่อมามองที่ภาพรวม เหตุการณ์นี้ตอกย้ำถึงความเสียหายที่ระบอบประยุทธ์ได้สร้างต่อ ความศรัทธาของประชาชนต่อความเป็นกลางของระบบตรวจสอบถ่วงดุล และ ความเที่ยงธรรมของกระบวนการยุติธรรม

องค์ประกอบสำคัญของกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ คือความเป็นกลางทางการเมืองหรือความพร้อมที่จะตรวจสอบผู้มีอำนาจทุกคนทุกฝ่ายอย่างเข้มข้น แต่ระบอบประยุทธ์กลับวางกติกาในรัฐธรรมนูญที่ทำให้สามารถควบคุมกลไกเหล่านี้ได้ ผ่านการแต่งตั้งคนของตนเองเข้ามาดำรงตำแหน่ง

ถึงแม้จะไม่มีคำวินิจฉัยที่น่าชวนตั้งคำถามอย่างเช่นกรณีเรื่องคุณธรรมนัสออกมา ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ประชาชนจะตั้งคำถามถึงความเป็นกลางของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ในเมื่อ คสช. มีส่วนร่วมโดยตรงในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งชุดปัจจุบัน โดยการกำหนดให้ สนช. ที่ตนเองแต่งตั้ง (ในช่วงก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2560) และ ส.ว.ที่ตนเองแต่งตั้ง (หลังมีรัฐธรรมนูญ 2560) มีอำนาจชี้ขาดในการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระทุกคน

ที่ผ่านมา กฎหมายและมาตรการต่างๆ ของรัฐ ที่ควรถูกบังคับใช้กับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน จึงกลับถูกบังคับใช้ด้วยสองมาตรฐาน มาตรฐานหนึ่งสำหรับพรรคพวกตนเอง ที่ระบอบประยุทธ์พร้อมใช้ประโยชน์จากทุกช่องโหว่หรือสรรหาสารพัดข้อยกเว้น เพื่อยกเว้นความผิดหรือแม้กระทั่งนิรโทษกรรมการกระทำของตนเองในอดีต อีกมาตรฐานหนึ่งสำหรับคนที่เห็นต่าง ที่ระบอบประยุทธ์พร้อมบิดทุกการตีความหรือสรรหาสารพัดเงื่อนไข เพื่อสกัดกั้นหรือเอาผิดกับประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จนนำมาสู่คำถามแทงใจประชาชนทุกคน ว่า

“อะไรจะถูกตัดสินว่าถูกหรือผิด ยังคงขึ้นอยู่กับการกระทำของคน หรือได้กลายมาขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นคนของใคร”

การหลุดออกจากความวิปริตนี้ จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อรื้อกติกาที่บิดเบี้ยวและสร้างระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง ผ่านการปฏิรูปที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระทุกคน ให้มีที่มาที่เป็นกลางทางการเมือง (ถูกเสนอจากหลายฝ่าย) เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย (ได้รับเสียงข้างมากของทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน เช่น 2 ใน 3 ของ ส.ส.) และพร้อมตรวจสอบผู้มีอำนาจทุกคน เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่ริบหรี่ลงในทุกวัน

การทวงคืนความยุติธรรม เริ่มต้นได้จากการลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรื้อระบอบประยุทธ์และปฏิรูปที่มาของศาลรัฐธรรมนูญที่ https://resolutioncon.com/

[ ผิดหวัง แต่ไม่ผิดคาด – ข้อกังขาของกรณี #ธรรมนัส และความจำเป็นในการร่วมลงชื่อ #แก้รัฐธรรมนูญ…

โพสต์โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu เมื่อ วันพุธที่ 5 พฤษภาคม 2021