ประยุทธ์ ประกาศ สั่งซื้อวัคซีนสูงสุด 200 ล้านโดส รับมือช่วงเลวร้าย

พล.อ.ประยุทธ์ เร่งเจรจาจัดหาวัคซีน 7 บริษัท ปรับแผนฉีดวัคซีน จาก 100 ล้านโดส เป็น 150-200 ล้านโดส ฉีดวัคซีนให้กับคนไทยทุกคน เร่งเครื่องฉีดคนวัยทำงานครึ่งประเทศ

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวผ่านเพจไทยคู่ฟ้า ในรายการฟังนายกรัฐมนตรีเล่าเรื่อง PM Podcast “การเดินหน้าแก้ปัญหาโควิด-19” ว่า ในช่วงเวลาที่เราต้องสู่กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่สามเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งตนคิดว่าการตัดสินใจที่เร็วและการทำงานที่เร็วแบบบูรณาการคืออาวุธที่สำคัญที่สุดของเราในการต่อสู้ภัยโควิด

“ผมขอขอบคุณทุกกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่มาร่วมงานกันเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ขอขอบคุณที่เห็นพ้องต้องกันว่า แนวทางนี้จะทำให้เราสามารถรับมือและผ่านสถานการณ์ในช่วงที่เลวร้ายที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนไปได้”

ตรวจเชิงรุกคลัสเตอร์คลองเตย-ฉีดวัคซีนวันละ 1,000 คน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กรณีคลัสเตอร์คลองเตยตนได้สั่งการให้ระดมสรรพกำลังในการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้เร็วที่สุด โดยได้ประสบการจากการณ์จัดการการแพร่ระบาดในจังหวัดสมุทรสาครได้สำเร็จ มาปรับใช้ โดยใช้โมเดล ตรวจเชื้อ ติดต่อ คัดกรอง แยกตัว ส่งต่อ และรักษา โดยเน้นไปที่การตรวจเชิงรุก เพื่อระดมตรวจกลุ่มเสี่ยงในชุมชนที่ติดเชื้อโควิดให้ได้อย่างน้อย 1,000 คนต่อวัน ตั้งเป้าหมาย 20,000 คน ขณะเดียวกันต้องระดมฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้จัดพื้นที่ตรวจเชิงรุกให้กับประชาชนในชุมชนคลองเตย จำนวน 700 คนต่อวัน ส่วนคลัสเตอร์อื่นก็เช่นเดียวกันต้องเร่งตรวจเชิงรุกให้ได้มากที่สุดควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีน

นอกจากนี้ตนยังได้สั่งการสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักและกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้ เราต้องทำทุกทางเพื่อลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด

ตุนยาฟาวิพิราเวียร์ 4.5 ล้านเม็ด

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ ถึงแม้จะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แต่ได้สำรองยาฟาวิพิราเวียร์ไว้แล้วอย่างเพียงพอที่ยังเหลือในสต๊อกจำนวน 1.5 ล้านเม็ด และยังได้รับเพิ่มเติมอีก จำนวน 3 ล้านเม็ดในเดือนพฤษภาคมนี้ ดังนั้น จึงไม่ต้องกลัวว่าจะมียาไม่เพียงพอ

“และเพื่อให้การจัดการการแพร่ระบาดโควิดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และมีโครงสร้างการบริหารงานจากพื้นที่อื่นให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีศูนย์ในการบูรณาการจัดการทรัพยากรของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การสนับสนุนกรุงเทพมหานครอย่างเต็มที่และควบคุม แก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ผมจึงได้ตั้งศูนย์บริหารการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลขึ้น เพื่อบูรณาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขปัญหาได้อย่างเร่งด่วน โดยผมจะเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และการแก้ไขปัญหาของศูนย์ฯ นี้ ยังเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของจังหวัดอื่น ๆ ต่อไปด้วย”

สำหรับการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดในภาพรวม ให้เป็นไปได้ด้วยดีมากยิ่งขึ้น ตนได้ตั้งคณะกรรมการด้านเฉพาะกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและฝ่ายปกครอง ในการบูรณาการด้านบุคลากรและทรัพยากร เช่น การตั้งโรงพยาบาลสนาม การตรวจคัดกรอง การควบคุมพื้นที่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยมีคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ที่มี นพ.ปิยสกล สกลสัตยาธร เป็นประธานคณะที่ปรึกษา เป็นที่ปรึกษา

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในภาพรวมที่เกิดขึ้นทั่วโลกเตือนให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่หายไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนับตั้งแต่ตอนนี้

ปรับแผนซื้อวัคซีน 150 -200 ล้านโดส

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สิ่งที่เราต้องทำ เรื่องแรก การเพิ่มจำนวนวัคซีนในมือของเราให้ได้มากกว่านี้ ซึ่งตนได้สั่งการไปแล้วว่า ประเทศไทยต้องหาวัคซีนเพิ่มให้ได้อีก 150 ล้านโดส หรือมากกว่านั้น แม้ว่าบางส่วนจะส่งมอบให้เราในปีหน้าก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อเตรียมการรับความเสี่ยงเรื่องวัคซีน

ซึ่งปัจจุบัน เดิมเราตั้งเป้าจัดหาวัคซีนได้ 100 ล้านโดส เพื่อเพียงพอในการฉีดให้กับประชาชน 50 ล้านคน โดยคาดหวังว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศได้ อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่ายังไม่พอ เพราะยังไม่แน่ใจว่าการสร้างภูมิคุ้มกันโรคจะเกิดขึ้นได้จริงและจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ระยะต่อเราจึงต้องมีแผนสำรองตลอดเวลา แต่ฉีดดีกว่าไม่ฉีด

ดังนั้น เราจึงต้องมีวัคซีนให้เพียงพอกับคนไทยทุกคน มีประชากรผู้ใหญ่ 60 ล้านคน แสดงว่าเราต้องมีวัคซีนอย่างน้อย 120 ล้านโดส และต้องคำนึงถึงแรงงานในภาคธุรกิจด้วย

“นอกจากนั้นเราต้องมีวัคซีนเผื่อเอาไว้ให้เพียงพอเพื่อรองรับกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอน อาจจะต้องมีวัคซีนถึง 150 ล้านโดส หรือ 200 ล้านโดสในระยะต่อไป แต่ก็ต้องคำนึงถึงอายุการใช้งานและสถานการณ์ในปีหน้าด้วย”

นอกจากนั้น เราต้องเตรียมความพร้อมสำหรับความเสี่ยงอื่น ๆ อีกด้วย เช่น การส่งมอบวัคซีนที่อาจจะมีความไม่แน่นอนอยู่มาก เช่น การส่งมอบไม่ครบจำนวน การส่งมอบล่าช้าตามที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ดี เรายังโชคดีที่มีการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทย ดังนั้น มีให้เกินไว้ดีกว่าขาด มีแผนหลัก แผนรอง แผนเผชิญเหตุ

เจรจาผู้ผลิตวัคซีนเพิ่ม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานทำงานเชิงรุกมากขึ้น เพื่อให้การเจรจาสั่งซื้อวัคซีนมีความคืบหน้าเร็วกว่านี้ ให้มีการเจรจากับผู้ผลิตหลายรายเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการได้วัคซีนเพิ่มขึ้น โดยให้มีการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนเพิ่มมากขึ้นถึง 7 ราย และยังมีการเจรจาเพิ่มเติมอีก รวมถึงวัคซีนใหม่ ๆ จากผู้ผลิตรายใหม่ ๆ ด้วย โดยให้เป็นไปตามขั้นตอนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อ คือ อย.และองค์การเภสัชกรรม โดยให้พิจารณาให้เร็วขึ้น

ล่าสุด สัปดาห์ที่แล้ว ได้รับการยืนยันว่าได้รับวัคซีนเพิ่มอีก 3.5 ล้านโดส ซึ่งจะส่งมอบให้กับประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมนี้

เร่งฉีดคนวัยทำงานครึ่งประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การตัดสินใจในภาพใหญ่อีกเรื่อง คือ การปรับแนวทางการฉีดวัคซีน โดยเร่งเครื่องการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชาชนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดโอกาสการรับเชื้อ ลดความรุนแรงของอาการ และลดโอกาสการเสียชีวิตไปได้อย่างมาก แม้จะมีผลข้างเคียงอยู่บ้าง แต่ต้องดำเนินการแก้ไขต่อไป

“เราต้องช่วยกันเร่งเครื่อง เดินหน้าให้เร็ว ปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ได้มากที่สุดให้กับประชาชน คาดการณ์ว่าเดือนกรกฎาคมนี้ ควรจะมีประชากรผู้ใหญ่ครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศที่จะได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วในระดับที่มากพอสมควร จากวันนี้เป็นต้นไปจะเร่งรัดการจัดการฉีดวัคซีนให้เพิ่มมากขึ้นในทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มกิจกรรมตามลำดับความเสี่ยง”

พล.อ.ประยุทธ์ ทิ้งท้ายว่า เมื่อครั้งการแพร่ระบาดของโควิด19 ครั้งแรก ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของคนไทยทุกคน ความพร้อมใจในการทำทุกอย่างอย่างเข้มแข็ง ทันที การทำงานและร่วมมือกันทั้งประเทศ ได้ช่วยให้เราหลีกเลี่ยงไม่ให้คนไทยต้องเสียชีวิตเป็นหมื่น เป็นแสน เหมือนประเทศชั้นนำของโรคต้องเจอ ในวันนี้ สถานการณ์ปัจจุบันจึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เด็ดขาด