“ธรรมนัส” ตำบลกระสุนตก รัฐบาลประยุทธ์

ตอนนี้ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรและสหกรณ์ ผู้เปรียบตนเองเป็น “เส้นเลือดใหญ่” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเป็น “ตำบลกระสุนตก”

แม้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันพุธที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จะทำให้ เจ้าของวลี “มันคือแป้ง” รอดพ้นจากการถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ศาลเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษา ของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร แต่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 98(10) สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกต้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10)

ประเด็นที่ 2 ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) หรือไม่ เมื่อวินิจฉัยในประเด็นที่ 1 ไว้แล้ว ว่าผู้ถูกร้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (10) จึงไม่มีเหตุทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 160 (6) ความเป็นรัฐมนตรีผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)

“อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สมาชิกภาพของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10)” คำวินิจฉัยของศาลระบุ

แต่วิบากกรรมของ ร.อ.ธรรมนัส ยังไม่จบสิ้นกระบวนความ เพราะกลายเป็นจุดอ่อนด้าน “จริยธรรม” ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยฉับพลัน

เสียงกดดันไปยัง “พล.อ.ประยุทธ์” ให้ปรับ ร.อ.ธรรมนัส พ้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยิ่งมากขึ้น

“อันวาร์ สาและ” ส.ส.ปัตตานี รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ทำหนังสือถึงกรรมการบริหารพรรค ให้ถอนตัวร่วมรัฐบาล

แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ถูกปฏิเสธทันควันโดย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

“กรณีท่านธรรมนัส (พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ) มาเป็นรัฐมนตรีในโควตาพรรคพลังประชารัฐ เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของพรรคพลังประชารัฐที่จะเป็นผู้ตอบคำถาม (กรณีคำพิพากษาศาลออสเตรเลียให้จำคุกคดียาเสพติด) ประชาธิปัตย์เป็นเพียงพรรคร่วมรัฐบาล จึงเป็นเรื่องของพรรคพลังประชารัฐที่จะเป็นผู้ตอบ”

อีกเสียงในพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาจี้ต่อมจริยธรรมของรัฐบาล คือ พินิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า เคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเข้าใจเป็นอย่างดี สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือจริยธรรมของการทำผิด

“ผมเห็นด้วยกับการให้โอกาสคนกลับตัวแล้วเริ่มต้นใหม่ แต่การมารับใช้ประเทศนั้นมีอะไรมากกว่านั้น ผมอยากฝากให้รัฐบาลคิด ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ประชาชนและสังคมจะเป็นคนให้โอกาสเราเอง”

แม้ “จุรินทร์” บอกว่า “พรรคประชาธิปัตย์” จะย้ำสถานะว่า “พรรคร่วมรัฐบาล” แต่หลายเสียงในพรรคเก่าแก่ แสดงตัวเป็น “ฝ่ายค้านในรัฐบาล” มากขึ้นทุกที

ในฝั่งฝ่ายค้านที่เป็นทางการ “ก้าวไกล” ในฐานะที่เป็นผู้ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้พิสูจน์คุณสมบัติของ ร.อ.ธรรมนัส เตรียมยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิดมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง กับ ร.อ.ธรรมนัส เป็นดาบที่สอง

ฐานขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ที่ระบุว่า คุณสมบัติรัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ระบุว่าไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงใน 4 ประเด็นที่ยังแคลงใจ

1.กรณีการรับรองสถานะตนเองก่อนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มีการปกปิดไม่บอกข้อมูลการต้องคำพิพากษาถูกศาลออสเตรเลียสั่งจำคุกให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) รับทราบหรือไม่

2.การลงสมัครส.ส. มีการปกปิดข้อมูลเรื่องการต้องคำพิพากษาหรือไม่

3.การขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต้องมีการรับรองตัวเองเคยต้องคำพิพากษาหรือไม่

4.กรณีที่ร.อ.ธรรมนัสเคยทำหนังสือแจ้งข้อมูลต่อคณะประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) เมื่อ 12 ธันวาคม 2562 มีข้อมูลใดคลาดเคลื่อนจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

“ธีรัจชัย พันธุมาศ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ. ปปช.) สภาผู้แทนราษฎร ขยายความว่า

1.การที่ร.อ.ธรรมนัส รับรองคุณสมบัติของตัวเอง โดยที่ปกปิดข้อมูลแบบนี้จะถือว่ามีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ หากสุจริตจริงจะต้องไม่ปกปิดว่าตัวเองเคยต้องคำพิพากษาจำคุกในออสเตรเลีย

2.ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต้องกรอกแบบฟอร์มรับรองคุณสมบัติของตัวเอง แบบนี้จะถือว่าฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่

3.ขณะที่ดำรงตำแหน่งส.ส. และรัฐมนตรีได้ชี้แจงต่อ กมธ.ปปช. ในวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ว่า ถูกจำคุกเพียง 8 เดือนถือว่าเป็นการให้การอย่างตรงไปตรงมาและสุจริตหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้รองเลขาฯ ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบหรือยัง

ด้าน “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธาน กมธ.ป.ป.ช. กล่าวว่า ในการตรวจสอบของกมธ.พบว่าร.อ.ธรรมนัสไม่เคยปฏิเสธกรณีตามที่ต้องคำพิพากษา มีเพียงข้อต่อสู้ที่ว่าเป็นเรื่องของศาลต่างประเทศและได้รับการล้างมลทินแล้วเท่านั้น

” หลังจากที่มีคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญ ผมและคณะจะยื่นต่อ ป.ป.ช.ทันที และจะยื่นให้เอาผิดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฐานผิดจริยธรรมและผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่แต่งตั้งบุคคลที่ต้องโทษคดียาเสพติดเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรี ” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ระบุ

แม้ว่า ร.อ.ธรรมนัส ไม่พ้นตำแหน่งตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

แต่แรงเหวี่ยงสำคัญก็มากระทบชิ่ง “ต่อมจริยธรรม” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงที่อยู่ในภาวะเมาหมัดจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 3

เป็น “ตำบลกระสุนตก” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจกับ ร.อ.ธรรมนัส ว่าจะให้ไปต่อ หรือ ให้ไปจาก ครม.