โควิด 17 เดือน ประยุทธ์ ยึดอำนาจ ตั้งกรรมการระดับชาติแล้วกี่ชุด

มีกรรมการระดับชาติ 13 ชุด ยึดอำนาจกฏหมาย 31 ฉบับ ต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว 11 ครั้ง

นับตั้งแต่ 3 มกราคม 2563 ประเทศไทยได้รับเชื้อโควิด-19 จากหญิงคนหนึ่งถูกสอบสวนโรค มีไทม์ไลน์มาจากอู่ฮั่น ถึงท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ

ประเทศไทยก้าวข้ามการระบาด มาแล้ว 3 ระลอก และเป็นระลอก 3 ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงสุด จำนวนผู้ติดเชื้อหลักพัน และจำนวนคนตายไม่ต่ำกว่าหลักสิบ ต่อวันต่อเนื่อง ตั้งแต่เมษายน-พฤษภาคม 2564

การระดมทุกสรรพกำลังในการแก้ปัญหา มีทั้งการกวาดเงินจากทุกบัญชีของประเทศ และกู้เงินเพิ่ม เพื่อเยียวยาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ควบคู่ปัญหาสาธารณสุข

ภายใต้การบริหารแบบรัฐราชการ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถูกตั้งธงจากการ “ตั้งคณะกรรมการ” ทั้งระดับชาติ และระดับกระทรวงแล้ว 13 ชุด

โดยมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และขยายเวลาบังคับใช้มาแล้ว 11 ครั้ง มีผลจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 และมีการรวบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีบริหารจัดการแต่เพียงผู้เดียว 31 ฉบับ

ระลอก 3 มีตั้งกรรมการ ที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ดังนี้

  1. ตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นผู้อำนวยการศูนย์ มีรองผู้อำนวยการ 4 คน ได้แก่ 1.พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 2.นายฉัตรชัย พรมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย 3.นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข 4.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และกรรมการอีก 31 คน ไม่มีรัฐมนตรี และนักการเมืองอยู่ในคณะกรรมการแม้แต่คนเดียว
  2. คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้การบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินเรื่องทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพ โดยมี “เลขาธิการสมช.” เป็นประธานกรรมการ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ-รมว.สาธารณสุข และ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นที่ปรึกษาส่วน “รองประธานกรรมการ” 2 คน คือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองประธานกรรมการ คนที่ 1 และ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2
  3. คณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และการสาธารณสุขเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตนาทร อดีตรมว.สาธารณสุข ในรัฐบาลคสช. เป็นประธานมีรองประธาน 1 คน คือ “นพ.อุดม คชินทร” อดีตรมช.ศึกษาธิการ ในรัฐบาลคสช. อีกคน และกรรมการอีก 12 คน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ทั้งหมด
  4. คณะกรรมการจัดหาวัคซีนทางเลือก มีนพ.ปิยะสกล สกลสัตนาทร เป็นประธาน และมีคณะกรรมการเอกชนอีก 4 ทีม ในการระดมทำแผนปฏิบัติการฉีดวัคซีน ในนาม “ทีมไทยแลนด์” โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ-รมว.พลังงานเป็นผู้คุมทีมภาครัฐ และ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กำกับทีมจากภาคเอกชน

ในระลอกที่ 1 และระลอกที่ 2 ตั้งกรรมการบริหารโรค ดังนี้

  1. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ “ศบค.”  นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการจาก รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง กำกับศูนย์ปฏิบัติการ ระดับ กทม. และจังหวัด ทั่วประเทศ
  2. คณะกรรกมาที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา เสนอแนะการป้องกัน และแก้ไขปัญหาของภาคธุรกิจเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 โดยมี นายทศพร ศิริสัมพันธ์ (ตำแหน่งขณะนั้น) เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานกรรมการ ร่วมกับ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานสภาเกษตรกร ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
  3. คณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อโควิด 19 โดยมี นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองประธาน 4 คน ได้แก่ 1.เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 2.อธิบดีกรมบัญชีกลาง 3.อธิบดีกรมศุลกากร และ 4.อธิบดีกรมการค้าภายใน
  4. คณะกรรมการเฉพาะกิจด้านกฎหมาย มีปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นรองประธาน
  5. คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม”เพื่อให้ความเห็นทางวิชาการ เสนอแนะแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมี ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน และ ศ.กิตติคุณเทียนฉาย กีระนันท์ อดีตประธานสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นรองประธาน
  6. คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. (ศปก.ศบค.) หรือ ศบค.ชุดเล็ก โดยมี “เลขาฯ สมช.” เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ร่วมด้วย นพ.ปิยะสกล และ นพ.อุดม คชินทร ซึ่งเป็น 2 อดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลคสช.เป็นที่ปรึกษา มีอำนาจหน้าที่เพื่อเสนอแนะแนวทาง-มาตรการต่าง ๆ ในการป้องกัน-ระงับ-ยับยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้ที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาอนุมัติ
  7. คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งโควิด 19 เพื่อออกมาตรการคลายล็อกดาวน์ และไว้ใจ เลขาธิการสมช. เป็นประธานอีก โดยมี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาทหารบก (กรรมการโดยตำแหน่งในปี 2563 และขยับเป็น “เลขาฯสมช.ในปีถัดมา)
  8. คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดกรณีสถานที่เล่นการพนันเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีนายชาญเชาน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน รับมือสอบสวนโรคที่มีการระบาดระลอกที่ 2 ซึ่งมีต้นตอจากแรงงานเมียนมา ในคลัสเตอร์สมุทรสาคร และกลุ่มบ่อนการพนัน
  9. คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดกรณีการเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 โดยมีนายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นประธาน โดยให้รายงานทางลับต่อ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ทุก 30 วัน

ทั้งหมดนี้ สะท้อนวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาแบบ “รัฐราชการ” ที่มีสายบังคับบัญชา ขึ้นตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียว