แปรรูปการบินไทย “ศิริกัญญา ก้าวไกล” เสนอหาผู้ร่วมทุนใหม่

ศิริกัญญา ก้าวไกล

ศิริกัญญา รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอ 3 ขั้นตอนปลดภาระการบินไทย แนะรัฐบาลเจรจาลดทุน-ลดหนี้ ก่อนเพิ่มทุน เสนอหาผู้ร่วมทุนรายใหม่-แปรรูปเอกชน 100

วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวออนไลน์กรณีที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาแผนฟื้นฟูการบินไทย เพื่อให้เจ้าหนี้โหวตรับแผนฟื้นฟู ในวันอังคารที่ 11 พฤษภาคม นี้

ศิริกัญญากล่าวว่า ที่ผ่านมาสิ่งที่เกิดขึ้นรัฐบาล กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และเจ้าหนี้ คุยข้ามหัวประชาชนไทยไปมา แต่กลับไม่เคยสื่อสารโดยตรงกับประชาชน ทั้งที่การช่วยเหลือการบินไทยต่องใช้ภาษี หรือหากจะค้ำประกันหนี้ เจ้าหนี้ก็จะมาเก็บจากผู้ค้ำซึ่งก็พวกเราประชาชนคนไทยทุกคนป็นหนี้สาธารณะอยู่ดี

“รัฐบาลต้องตอบประชาชนให้ได้ว่า ประชาชนจะได้อะไรจากการเข้าช่วยเหลือการบินไทย หวังผลตอบแทนอย่างไรบ้าง ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่เป็น ทางเลือกไหนดีกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีคำตอบจากรัฐบาล”

น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า แผนฟื้นฟูให้พนักงานเสียสละ แต่นายทุนไม่ลดหนี้ โดยการทำแผนฟื้นฟูที่แผนธุรกิจในส่วนของการลดต้นทุนทำได้ค่อนข้างดี ขอชื่นชมคณะผู้บริหารที่ทำแผนธุรกิจไว้ได้ดี และได้ทำในสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ นั่นก็คือสามารถจำนวนพนักงานลงไปได้ถึง 13,000 คน ลดจำนวนตำแหน่งผู้บริหาร รวมทั้งมีการเซ็นสัญญาใหม่ที่มีการปรับลดค่าตอบแทนลง

“แต่สำหรับแผนการเงินก็ถือว่า ยังไม่น่าพอใจ สิ่งที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังไปเจรจากับเจ้าหนี้มีใจความหลักคือ หนี้ของธนาคารพาณิชย์ไม่มีการลดหนี้ แต่เป็นการยืดหนี้ออกไปอีก 10 ไม่มีการแปลงหนี้เป็นทุนสำหรับเจ้าหนี้เดิม ผู้ถือหุ้นเดิมไม่มีการลดทุน มีแค่การลดหุ้นที่ยังไม่ได้ชำระเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ การขอกู้เพิ่มทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง 5 หมื่นล้านบาท จากธนาคารพาณิชย์ยังต้องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันมากกว่า 25,000 ล้านบาท”

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล วิจารณ์ว่า แผนนี้ประนีประนอมกับทุกฝ่ายมากเกินไป เกรงใจนายทุนมากเกินไป ไม่ยอมเจ็บแต่จบเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงเป็นแนวครึ่งๆ กลางๆ  เพื่อซื้อเวลาเท่านั้น ดังนั้นจึงเสนอ 3 ข้อ ที่เป็นการแก้ปัญหาแบบเจ็บแต่จบ และปลดภาระขาดทุนสะสมการบินไทยล้างขาดทุนสะสม ทำให้ส่วนของทุนกลับมาเป็นบวก และสามารถทำให้การบินไทยอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

ข้อเสนอแรก คือ การลดทุน เราจำเป็นต้องลดทุนเพื่อล้างการขาดทุนสะสม ปัจจุบันการบินไทยขาดทุนสะสม 161,898 ล้านบาท ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ -128,742 ล้านบาท เสนอให้ลดทั้งทุนที่ชำระแล้วและส่วนของทุนอื่น ๆ ซึ่งการลดุนเดิมไม่ใช่อะไรนอกจากเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นต้องร่วมรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

ข้อที่สอง เจ้าหนี้ต้องยอมเจ็บ ต้องมีการลดหนี้หรือแปลงหนี้เป็นทุน เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์หรือผู้ถือหุ้นกู้ต้องร่วมรับผิดชอบอีกส่วนหนึ่ง คิดเป็นตัวเลขกลมๆ หนี้ที่สามารถลดได้อยู่ที่ประมาณ 300,00 ล้านบาท ถ้าขอ haircut หรือลดหนี้ได้ 40% จะสามารถทำกำไรลดขาดทุนสะสมได้ถึง 120,000 ล้านบาท

แต่ข้อควรระวังทุกคนพูดถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของหุ้นกู้  ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องช่วยเหลือเป็นราย ๆ ไป เพราะผู้ถือหุ้นหรือผู้ฝากเงินสหกรณ์ล้วนแต่เป็นประชาชนรายย่อย

ข้อสุดท้าย เมื่อลดหนี้จนผลของการขาดทุนสะสมเหลืออยู่น้อย แล้วการเพิ่มทุนใหม่อาจทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาล ถ้ารัฐบาลต้องแทรกแทรงเสนอให้ต้องกำหนดแผนการขายหุ้นออกที่ชัดเจนใน 3-5 ปี เพื่อไม่ให้เกิด moral hazard

น.ส.ศิริกัญญา ยังเสนอให้พิจารณาการเปิดประมูลผู้ร่วมทุนใหม่ หรือหาสายการบินอื่นควบรวมได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร British airways ของอังกฤษที่ควบรวมกับ Iberia ของสเปน, Air France ของฝรั่งเศสที่ควบรวมกับ KLM ของเนเธอแลนด์ การบินไทยในช่วงเริ่มต้นก็เป็นการร่วมทุนเช่นเดียวกัน

“ดังนั้นดิฉันสรุปว่าแผนการนี้เป็นแผนที่เจ็บแต่จบ คือการลดส่วนของทุน เจรจาลดหนี้ และถ้ามีการเพิ่มทุนโดยรัฐต้องมีแผนการออกใน 3-5 ปี เพื่อทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวก และสามารถรอดพ้นปัญหาถ้าเกิด shock ขึ้นมาในขณะนี้ และจะเป็นการแก้ปัญหาการบินไทยอย่างยั่งยืน”