วอร์รูมโควิด 6 พรรคการเมือง พลิกวิกฤตไวรัส ทำแต้มสนาม กทม.

คลัสเตอร์คลองเตย กลายเป็น “นาทีทอง” ของ “ผู้เล่น” ในสนามการเมือง ให้ได้โชว์ศักยภาพเพื่อ “กุมหัวใจ” ชาวกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้อยู่หมัด

บรรดาพรรคการเมืองน้อย-ใหญ่ ต่างจัดทัพ-ตั้งกองบัญชาการรบ-สู้ศึกโควิด 19 กันอย่างคึกคัก ชิงพื้นที่ฐานเสียง-แชร์ส่วนแบ่งทางการเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” ในเร็ววันนี้

อัศวิน-บิ๊กแป๊ะ ตัดแต้มกันเอง

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตั้งศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 พปชร. (ศปฉ.พปชร.) เพื่อประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข ผ่าน call center สายด่วน 30 คู่สาย-walk in และ inbox เพจ พรรคพลังประชารัฐ

โดยมี “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” สวมหมวกผู้อำนวยการ ศปฉ.พปชร. คอยสั่งการ “10 หัวหน้าภาค” แทน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ศปฉ.พปชร.ทำหน้าที่ “ประสาน” ส่งตัวผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน-โรงพยาบาลสนาม และ hospitel และประสานหน่วยคัดกรอง-ตรวจหาเชื้อและติดตามผลตรวจเชื้อโควิด-19

นอกจาก “คลัสเตอร์คลองเตย” แล้ว ยังมีอีก 3 คลัสเตอร์ใหญ่ ได้แก่ บ่อนไก่-มหานาค และบางแค ที่มี ส.ส.กทม. 12 ชีวิต ปูพรมลงพื้นที่-เคาะประตูบ้าน

แต่งบประมาณในการลงพื้นที่ของ ส.ส.กทม.บางคนยอมรับว่า ไม่ได้มาจากเงินกองกลางแต่เป็นการ “ควักกระเป๋า” ตัวเอง กับการ “ลงขัน” ของคนที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่

แม้ พล.อ.ประวิตรจะมอบประกาศิต-ให้ ร.อ.ธรรมนัส แต่ใช่ว่าจะเป็น “แต้มต่อ” เปลี่ยนเป็น “คะแนนนิยม” ให้กับ “คนข้างหลัง” บิ๊กป้อม-ร.อ.ธรรมนัส เพื่อใช้เป็นบันไดขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ได้

ยิ่งการเปิดศึก-ซัดกันเอง ระหว่าง “สิระ เจนจาคะ” ส.ส.กทม. กับ “พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ หลังไปสร้างโรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดิน ซอยแจ้งวัฒนะ 14 เขตหลักสี่ ฐานที่มั่นทางการเมืองพลังประชารัฐ จนถึงขั้นฟ้องร้องกันบนโรงพัก

อีกทั้ง “ร.อ.ธรรมนัส” กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” วิบากกรรม “มันคือแป้ง” ฉุดคะแนนนิยม “นอมินีพลังประชารัฐ” ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็น “แบ็กอัพ” ท่ามกลางเสียงลือ-เสียงเล่าอ้างชื่อ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ที่ประกาศลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

ไหนจะมี “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ที่มีกระแสข่าวว่า “ยกหู” ต่อสายตรงถึง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ด้วยตัวเอง

กลายเป็นการ “ตัดแต้มกันเอง” ของ 2 ป. ป้อม-ประยุทธ์

ปชป.เดิมพันสูง-แพ้สูญพันธุ์

ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตั้งศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 (ศปฉ.ปชป.) เพื่อช่วยเหลือ “ปัจจัยสี่” รับเรื่อง-ส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 
ไปโรงพยาบาล-โรงพยาบาลสนาม และ hospitel

และใช้ “มูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช” เป็นศูนย์กระจาย “เวชภัณฑ์” อาทิ หน้ากากอนามัย ตลอดจนถุงยังชีพ ไปยังสาขาพรรค-ตัวแทนพรรค-สมาชิกพรรค เพื่อส่งต่อไปยังกลุ่มเสี่ยง-พื้นที่สีแดงทั่วประเทศ

คู่ขนานไปกับการรุกทางการเมืองส่ง ส.ส.-อดีต ส.ส. ส.ก.-อดีต ส.ข.ของพรรค ตรวจโควิด-19 เชิงรุก และฉีดวัคซีนให้กับคลัสเตอร์คลองเตย-ชุมชน กทม.

โดยมี “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้าพรรค-หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย ที่ลงพื้นที่ “คลัสเตอร์คลองเตย” ร่วมกับ “ปานชัย แก้วอัมพรดี” อดีต ส.ข.เขตคลองเตย ประชาธิปัตย์ สวมหมวกประธานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร (อพม.กทม.) หน่วยขึ้นตรงของ “จุติ ไกรฤกษ์” เจ้ากระทรวง พม.

พร้อมเปิดช่องทาง “สายตรง” และสื่อโซเชียล เช่น เฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์เป็นการกรุยทางเลือกตั้ง ส.ก.-ส.ข. และผู้ว่าฯ กทม.ไปในคราวเดียวกัน แต่ยังไม่ใช่เวลาที่จะเปิดหน้า “สองแคนดิเดต”

พรรคประชาธิปัตย์นอกจากจะมีศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เป็นเดิมพันแล้ว ยังเป็นการหยั่งกระแส-เสียงชาว กทม. ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไปด้วย หลังจากการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 แพ้หมดรูป-ส.ส.เขต กทม.ของพรรค “สูญพันธุ์”

พรรคกล้า หวังดอกผลระยะยาว

ส่วนพรรคกล้า ของ “กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรค ทำการเมือง-ลงพื้นที่ต่อเนื่อง เพราะเป็นพรรคการเมือง “น้องใหม่” ต้นทุน-ฐานเสียงทางการเมืองเป็นศูนย์ จึงต้องเริ่มต้นนับ 1 ทำงานหนักกว่าพรรคพวก-เพื่อนการเมือง

กรณ์-จัดตั้งศูนย์ “กล้าสู้โควิด” เพื่อรับเรื่องราวร้องเรียน-ร้องทุกข์ เป็นพรรคแรก ๆ และไม่ใช่เพียงแต่การประสานจัดหาเตียง-โรงพยาบาล และการช่วยเหลือเรื่องปัจจัยสี่เท่านั้น แต่ยังเป็น “กระบอกเสียง” ให้กับประชาชน-ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนให้ไปถึงหูรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อีกด้วย

ดอกผลทางการเมืองของกรณ์-พรรคกล้า อาจจะไม่ได้หวัง “ผลตอบแทนระยะสั้น” อย่างการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่เป็น “การลงทุนระยาว” โดยมีผลตอบแทนสูง “เพื่อเป็นรัฐบาล”

ก่อนหน้านี้ มีชื่อของ “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไทยแอร์เอเชีย เป็น “แคนดิเดตคนกล้า” ทว่า พายุโควิดทำให้อุตสาหกรรมการบินต้องประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก ทำให้ช่วงนี้ “บิ๊กบอสแอร์เอเชีย” ต้องใช้เวลาไปกู้วิกฤตการบินให้เทกออฟก่อน

เพื่อไทย-ก้าวไกล เปิดตัว ส.ก.-ส.ข.

ด้านพรรคฝ่ายค้าน เพื่อไทย-ก้าวไกล ขนลูกพรรคลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากพิษโควิด-19 อย่างถ้วนทั่ว ขณะเดียวกันใช้โอกาสนี้เปิดตัวผู้สมัคร ส.ก. และ ส.ข.เช่นกัน

บนพื้นฐานที่ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับ ส.ก.และ ส.ข. จะคิกออฟก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยถึงคิวผู้ว่าฯ กทม. และยังเร็วเกินไปที่จะเปิดเผย “ตัวผู้สมัคร” ให้คู่แข่งไหวตัวทัน

ดังนั้น การลงพื้นที่ในย่าน กทม. ของเพื่อไทย-ก้าวไกล จึงกลายเป็น “อีเวนต์” เปิดตัว “ว่าที่” ผู้สมัคร ส.ก.หน้าใหม่ ไปโดยปริยาย

ในส่วนของเบอร์ 1 ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ที่ก่อนหน้านี้มีการ “ปรับสูตร” บริหารพื้นที่การเมืองใน กทม.ใหม่เป็น 6 โซน ภายหลังเจ้าอิทธิพลใน กทม.เดิม คือ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ออกไปตั้งพรรค “ไทยสร้างไทย”

พร้อมกันนั้น “เพื่อไทย” ปรับองคาพยพ แก้ไขวิกฤตโควิด-19 ตั้ง 4 ทีม 1.ทีมกองหน้า คือ ทีมพื้นที่ ประกอบด้วย ส.ส. ส.ก. สมาชิกพรรค ทุกพื้นที่ไว้ช่วยประชาชน 2.ทีมกองกลาง เป็นทีมสนับสนุน การระดมทรัพยากรในการทำงาน จัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ สิ่งที่จำเป็น อาทิ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ การพ่นยา น้ำยาพ่นฆ่าเชื้อ เป็นต้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

3.ทีมประชาสัมพันธ์ คือ การ เตรียมการจัดทำคู่มือป้องกันโควิดใช้รถโมบายเพื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อสื่อสารสร้างความรู้ให้กับประชาชน และ 4.ทีมนโยบาย รวบรวมข้อมูลที่ได้รับมาจากทุกภาคส่วน มาวิเคราะห์ เพื่อเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ชงผู้มีอำนาจ

ขณะที่ “ก้าวไกล” เปิดตัวศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center เพื่อรับฟัง คิดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้าง-ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคำสั่งของรัฐบาลในการป้องกันโควิด

คู่ขนานกับการลงพื้นที่ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค ส.ส.ก้าวไกล และว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. ภายใต้ชื่อกลุ่ม “เปลือกส้ม”

ไทยสร้างไทย on tour

ส่วนพรรคที่เพิ่งจุติในกระดานการเมือง แต่คนเบื้องหลังเก๋าเกมในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่าง “ไทยสร้างไทย” ที่มี “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

ยังจัดอีเวนต์ลงพื้นที่แจกสิ่งของ ข้าวของจำเป็น ใช้แบรนดิ้งโฟกัสไปที่กลุ่มรากหญ้าในเมือง และมีกำลังพล อดีต ส.ก. ส.ข. ที่อยู่เบื้องหลังย้ายค่ายตามมาจากเพื่อไทย เป็นกำลังเสริม

เช่นเดียวกับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ที่ประกาศลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ ท่ามกลางข่าวว่ามีดีลเบื้องหลังโดย “วิศวะจุฬาฯ คอนเน็กชั่น” เคลียร์ทางให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ซื้อตัวออก


6 พรรคการเมืองแข่งขันกันสร้างผลงาน-หาเสียงล่วงหน้า ก่อนหมดอายุขัยของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในอีก 1 ปีเป็นอย่างน้อย