วัคซีนแห่งชาติ เดิมพัน ประยุทธ์ ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย รุมชิงคะแนนเสียง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศให้การฉีดวัคซีนแอนตี้ไวรัสโควิด-19 เป็น “วาระแห่งชาติ” ปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ เพื่อกู้วิกฤตศรัทธารัฐบาล เรียกความเชื่อมั่นในตัวผู้นำ และ side effect ของวัคซีน

การจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส สำหรับคนไทย 50 ล้านคน เพื่อฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมจำนวนประชากรร้อยละ 70 ของประเทศ หรือ 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2564 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เป็น “หลักชัย” ก่อน ประกาศ “ชัยชนะ”

ขณะนี้รัฐบาล-อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี-รมว.สาธารณสุข “ปิดจ็อบ” จัดหาวัคซีน จำนวน 63.5 ล้านโดส ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส จัดส่งแล้ว 117,600 โดส และซิโนแวค 2.5 ล้านโดส จัดส่งแล้ว 2 ล้านโดส บรรจุอยู่ในหีบห่อ-รอจัดส่งอีก 5 แสนโดส

ขณะที่แผนจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม 37 ล้านโดส สำหรับประชากร 18,500,000 คน ได้แก่ ซิโนแวค 5-10 ล้านโดส ไฟเซอร์ 10-20 ล้านโดส เริ่มส่งได้ ไตรมาสที่ 3-ไตรมาส 4 สปุตนิก วี 5-10 ล้านโดส จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 5-10 ล้านโดส และยี่ห้ออื่น เช่น โมเดอร์นา และซิโนฟาร์ม

ล่าสุดรัฐบาลปรับแผนจัดหาวัคซีนจาก 100 ล้านโดส เป็น 150-200 ล้านโดส อาทิ ซิโนแวค 3.5 ล้านโดส ส่งแล้ว 2 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ทยอยส่ง พ.ค.- ธ.ค. 64 ไฟเซอร์ 5-10 ล้านโดส ส่ง ก.ค.-ธ.ค. 64 ยี่ห้ออื่น 20 ล้านโดส

การประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” เป็นการ “เดิมพัน” ศรัทธาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ “หมดหน้าตัก” เพราะปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พ.ค. 64) หรือในระยะเวลา 4 เดือน หลังจากวัคซีน “ลอตแรก” จำนวน 2,117,600 โดส (ซิโนแวค 2 ล้านโดส+แอสตร้าเซนเนก้า 117,600 โดส) ถึงไทย เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 63 มีผู้ฉีดวัคซีนแล้ว 2,040,363 โดส แบ่งออกเป็น เข็มแรก 1,395,130 ราย และเข็มสอง 645,233 ราย

นอกจากนี้ยังมีการ “ปรับแผน”ฉีดวัคซีน ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ฉีดวัคซีนเดือนพฤษภาคม 64 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และกลุ่มเฉพาะกิจ-ในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง เช่น คลองเตย สมุทรสาคร

กลุ่มที่ 2 ฉีดวัคซีนเดือนมิถุนายน 64 ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรังและคนทำงานที่มีความเสี่ยง คือ ผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางบ่อย หรือต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก เช่น พนักงานส่งของ ผู้ขับรถสาธารณะ พนักงานขายร้านสะดวกซื้อ ผู้ให้บริการในร้านอาหาร พนักงานในภาคการท่องเที่ยวและโรงแรม เตรียมฉีดให้เร็วขึ้นเพื่อลดการระบาดของโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น โดยจะเปิดให้องค์กรต่าง ๆ จัดสรรกลุ่มคนทำงานที่มีความเสี่ยงทยอยรับบริการ

กลุ่มที่ 3 กลุ่มประชาชนทั่วไป ให้ฉีดวัคซีนทันทีที่กลุ่มที่ 2 เสร็จสิ้นไม่ต้องรอให้ถึงเดือนกรกฎาคม

โดยการจับมือของภาครัฐ-เอกชน เพิ่มจุด-ศูนย์ฉีดวัคซีนเอกชน จำนวน 14 ศูนย์ใน กทม. และขยายไปจังหวัดอื่น ได้แก่ 1.เอสซีจี 2.เซ็นทรัล ลาดพร้าว 3.สามย่าน มิตรทาวน์ 4.ธัญญาพาร์ค 5.ทรู ดิจิทัล พาร์ค 6.เอเชียทีค 7.เดอะมอลล์ บางกะปิ

8.โรบินสัน ลาดกระบัง 9.โลตัส มีนบุรี 10.เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า 11.ไอคอนสยาม 12.ปั๊ม ปตท. พระราม 2 13.เดอะมอลล์ บางแค และ 14.บิ๊กซี บางบอน และจะเพิ่มอีก 25 ศูนย์ ในระยะต่อไป

พร้อมเปิดให้ประชาชนวอล์กอินฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่มิถุนายน ทั้งนี้ ตั้งเป้าฉีด 15 ล้านโดสต่อเดือน

ทว่าการเปิดให้กลุ่มเสี่ยง-กลุ่มแรกมาลงทะเบียนจองคิว 16 ล้านคน ประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุ-60 ปีขึ้นไป 11.7 ล้านคน และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง 4.3 ล้านคน มีผู้มาลงทะเบียนเพียง 3,091,871 ราย (ข้อมูล วันที่ 13 พ.ค. 64) แบ่งออกเป็น กทม. 610,433 ราย และต่างจังหวัด 2,481,438 ราย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศชัยชนะ-เปิดประเทศได้ก่อนถึงปี’65 หรือไม่ ยังต้องลุ้นให้การฉีดวัคซีนในพื้นที่ท่องเที่ยว 10 จังหวัด ประสบความสำเร็จ เพราะถือเป็น ชัยชนะ “ยกแรก” โดยกำหนดเป็น 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 นำร่อง วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.64 เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีน มีใบรับรองการฉีดวัคซีน และกักตัวตามระยะเวลาที่ ศบค.กำหนด

ระยะที่ 2 “Phuket Sandbox” วันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย. 64 เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้ว มีใบรับรองการฉีดวัคซีน เข้ามาในพื้นที่ภูเก็ตโดย “ไม่กักตัว”

ระยะที่ 3 ผ่อนคลายในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 64 เป็นต้นไป รับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนและมีใบรับรองการฉีดวัคซีน ขยายพื้นที่ไปยังกระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ชลบุรี บุรีรัมย์ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กทม. โดยไม่กักตัว

ระยะที่ 4 เข้าสู่ภาวะปกติ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 65 เป็นต้นไป เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้วและมีใบรับรองการฉีดวัคซีนเข้ามายังทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยไม่กักตัว
ทว่าการระบาดระลอกสาม หรือระลอกเมษายน 64 จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยและสะสม ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-13 พ.ค. 64 ในพื้นที่ 6 จังหวัดท่องเที่ยว “นำร่อง” ในการ “เปิดประเทศ” กลับมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมขึ้น-สีแดงเข้ม

โดยเฉพาะภูเก็ต-กระบี่-พังงา ที่เป็นฐานเสียงภาคใต้ของพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคในรัฐบาล คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย “เก็บแต้ม”

ทุกวันหยุด-สุดสัปดาห์ จึงได้เห็น “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวขบวนประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่ภูเก็ต-รับไม้ต่อ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ทันที

ขณะที่ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.การท่องเที่ยวฯ ได้รับประกาศิตจาก “อนุทิน” แห่งภูมิใจไทย ลงไปเข็น-วางโรดแมปกำกับแผนกระจายฉีดวัคซีน 10 พื้นที่ท่องเที่ยวใน “บอร์ดท่องเที่ยว” เพื่อกุมฐานที่มั่นในภูเก็ต-กระบี่

ขณะเดียวกัน ยังเป็นพื้นที่ “เดิมพัน” การ “เปิดประเทศ” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงเห็น “สามสหาย” สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ-มือขวา พล.อ.ประยุทธ์-ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์-เสนาธิการเศรษฐกิจ และทศพร ศิริสัมพันธ์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจ-กุนซือ พล.อ.ประยุทธ์ ลงไปปลุกปั้น


การเปิดภูเก็ตรับต่างชาติตามแผนในวันที่ 1 ก.ค. 64 ถือเป็นเดิมพันเปิดประเทศ ในวันที่ 1 ม.ค. 65