หุ้นสื่อ-บ้านพักบิ๊กตู่-คดีธรรมนัส ผลงาน 1 ปี ศาลรัฐธรรมนูญ “ชุดผลัดใบ”

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยกรณี “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรและสหกรณ์ ไม่ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. และรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม

เกิดเสียงวิจารณ์ต่อคำวินิจฉัยอย่างกว้างขวาง ทั้งนักวิชาการด้านกฎหมาย นักการเมืองฝ่ายค้าน และฝ่ายค้านในพรรคร่วมรัฐบาล ม็อบการเมือง

ทว่า องค์คณะตุลาการ 9 คน ที่เรียกว่าชุด “ผลัดใบ” เพิ่งเดินทางมาครบ 1 ปีเศษเท่านั้น

ตุลาการยุคผลัดใบ

ที่เรียกว่าศาลรัฐธรรมนูญชุด “ผลัดใบ” เพราะเป็นการเปลี่ยนตัว “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ใหม่ 5 จาก 9 คน เนื่องจาก 5 คนที่พ้นวาระ ประกอบด้วย 1.นายนุรักษ์ มาประณีต 2.นายชัช ชลวร 3.นายบุญส่ง กุลบุปผา 4.นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี และ 5.นายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งหมดวาระในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

แต่มีคำสั่ง คสช. ที่ 23/2560 ให้งดเว้นการสรรหาตุลาการชุดใหม่ไปก่อน จนกว่าจะมี พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญใช้บังคับ

ซึ่งทั้ง 5 คนอยู่ในวาระมาถึง 11 ปี ดังนั้น เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มีการใช้บังคับ จึงต้องสรรหาตุลาการแทนคนเก่า

โดยตุลาการ 5 คนใหม่ คือ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ นายนภดล เทพพิทักษ์ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในเดือนเมษายน 2563

ส่วนอีก 4 คนที่เหลือ คือ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ นายปัญญา อุดชาชน และนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ แม้คุณสมบัติไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา 79 ของกฎหมายลูก ให้อยู่จนครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 50 คือ 9 ปี

ย้อนผลงานออกนั่งบัลลังก์

ดังนั้น คดีตุลาการชุดผลัดใบออกนั่งบัลลังก์วินิจฉัย จึงต้องนับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ไฮไลต์ “มติ” สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเมือง อาทิ

28 ตุลาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณี “ถือหุ้นสื่อ” ทั้งนี้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 29 คน มิได้มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ จึงไม่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ส่วนของ ฝ่ายค้าน 29 คน พบว่า 28 คนมิได้มีความเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ มีเพียงแต่ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่มีหุ้นในบริษัท ประกอบกิจการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ ความเป็น ส.ส.จึงสิ้นสุดลง

บิ๊กตู่รอดอยู่บ้านพักทหาร

2 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9 ต่อ 0 กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมพักอาศัยในบ้านพักในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นบ้านพักของข้าราชการทหาร

ทั้งนี้ ศาลวินิจฉัยว่า มีระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548 รับรองไว้ เนื่องจากผู้ถูกร้องทำคุณประโยชน์ให้กองทัพบกและประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มาแล้วตามข้อ 5.2 หาใช่อาศัยในบ้านพักรับรองในฐานะตำแหน่งนายกฯ เพียงสถานะเดียวไม่

6 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องกรณี นายสนธิญา สวัสดี อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวหากลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free-YOUTH) ที่ชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 และเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ศาลเห็นว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง จึงไม่รับคำร้อง

11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมโดยให้มี ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้หรือไม่ ทั้งนี้ ศาลเห็นว่า

รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

“ธรรมนัส” ไม่หล่นเก้าอี้

5 พฤษภาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9 ต่อ 0 ให้ความเป็น ส.ส. และรัฐมนตรี ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ จากกรณีเคยต้องคำพิพากษาในศาลออสเตรเลีย ว่าได้กระทำความผิดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออกหรือผู้ค้าซึ่งยาเสพติด

ทั้งนี้ ศาลเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร แต่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (10) ให้ความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง และไม่มีเหตุทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง

จากคำวินิจฉัยกรณี “ร.อ.ธรรมนัส” นอกจากรัฐบาลกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” โดยฉับพลันแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังถูกดึงมาอยู่ในใจกลางความขัดแย้ง-ไม่ยอมรับคำวินิจฉัย

ปัจจัยคำวินิจฉัยถูกตั้งคำถาม

“ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย” นักกฎหมายมหาชน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมักถูกตั้งคำถาม ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในสภาวการณ์ที่เกิดวิกฤตทางการเมืองสูง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยิ่งต้องระมัดระวัง และยิ่งต้องอธิบายขยายความให้ลงในรายละเอียด ปราศจากข้อสงสัยว่า ทำไมผู้ร้อง-ผู้ถูกร้อง ขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

นักวิชาการสายกฎหมายรัฐธรรมนูญ เราตั้งคำถามเยอะเพราะคำวินิจฉัยของศาลไม่ได้ละเอียดมากจนถึงขนาดว่า นักวิชาการเข้าใจ หรือเห็นคล้อยตาม ดังนั้น ศาลต้องให้ความสำคัญ และระมัดระวังอย่างมาก หากตัดสินไปแล้วไม่ได้ทำให้คู่ความเขาเข้าใจอย่างชัดเจนว่าผิดหรือถูกอย่างไร ต่อไปรัฐจะมีปัญหา ปกครองกันไม่ได้

“ดังนั้น กรณีที่ศาลรับวินิจฉัยและพิจารณาในประเด็นที่เข้าไปเกี่ยวพันในทางการเมือง หรือเป็นผลสืบเนื่องจากการเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ศาลเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองเยอะ จะทำให้ศาลถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลง จึงเกิดเป็นวิกฤตความชอบธรรมในเรื่องการยอมรับนับถือของศาลรัฐธรรมนูญ”

รัฐธรรมนูญ 60 ตัวต้นเหตุ

“พรสันต์” อธิบายหลักการว่า โดยหลักศาลรัฐธรรมนูญมีเขตอำนาจเฉพาะ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคดีที่รัฐธรรมนูญอนุญาตให้วินิจฉัยเท่านั้น

“ดังนั้น 1.อะไรที่มีการเขียนคลุมเครือ ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถวินิจฉัยและรับพิจารณาได้ 2.การดีไซน์รัฐธรรมนูญ คนเขียนต้องเข้าใจว่า เรื่องไหนควรให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัย และเรื่องแบบไหนไม่ควร”

เช่น ถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องการเมือง ก็ไม่ควรให้ศาลวินิจฉัย หรือร่างเอาไว้ให้เกิดประเด็นในการถกเถียง คือ เรื่องกำหนดคุณสมบัติ จริยธรรม-คุณธรรม เป็นนามธรรมที่วัดลำบาก ไม่มีมาตรวัดทางกฎหมายมาอธิบายว่า คนนี้ผิด คนนี้ถูก เมื่อเขียนผูกโยงกับคุณสมบัติต้องห้ามของนักการเมือง แล้วส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

“ไม่ว่าศาลวินิจฉัยออกมา ด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม คนจึงมองว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องอคติส่วนตัว”

“ผศ.ดร.พรสันต์” เทียบตัวอย่างรัฐธรรมนูญ 2540-2550 กับรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกดีไซนต์ต่างกัน

รัฐธรรมนูญ 2540-2550 กำหนดให้ ส.ว.ถอดถอนนักการเมือง แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งจะทำให้เกิดการสุ่มเสี่ยง และเกิดการตั้งคำถามต่อคำวินิจฉัย เพราะมาตรวัดไม่ชัด

ส่วนองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มาขององค์คณะก็มีปัญหา หรือต่อให้ที่มาไม่โอเค แต่ถ้าตัวรัฐธรรมนูญมาจากประชาชน ซึ่งประชาชนเป็นผู้ออกเสียงประชามติตามครรลองประชาธิปไตยจริง ไม่มีการจับกุม สองมาตรฐานในการโหวต ตัวรัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็นสัญญาประชาคม ประชาชนก็พร้อมยอมรับได้

“แต่กรณีปัจจุบัน ทั้งในแง่รัฐธรรมนูญที่มาก็มีปัญหา ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญก็มีปัญหา และคำวินิจฉัยก็มีปัญหา จึงมีปัญหาทั้งหมด”

โดยศาลต้องมี 2 หลัก คือ หลักความเป็นกลาง และหลักความเป็นอิสระ ย่อมเชื่อมโยงถึงที่มาโครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญ และตัวรัฐธรรมนูญ เมื่อถูกตั้งคำถามตั้งแต่รัฐธรรมนูญจึงไล่มาเป็นลูกระนาด”

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถูกพูดถึง-ถกเถียง ทั้งแง่วิชาการ-การเมือง

ที่สุดแล้ว ปัญหา-จุดเริ่มต้นทั้งปวง ก็มาจากรัฐธรรมนูญ 2560