นพ.สุรพงษ์ : ชงยุบบอร์ด ศบค. ตั้งวอร์รูมพิเศษ รับวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่

สัมภาษณ์พิเศษ

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แกนนำคนสำคัญกลุ่มแคร์

เป็นคนที่ “หมอหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ยกให้เป็น “คู่คิด” คนสำคัญ ปราบไวรัสโควิด -19 ในฐานะ “ที่ปรึกษาพิเศษ”

จากการระบาดระลอกแรกถึงการระบาดเป็นระลอก 3 การบริหารจัดการของรัฐบาล ภายใต้การนำ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ถูกวิจารณ์อย่างหนักหลายด้าน กว่าจะคลายปัญหาทีละเปลาะทำเอาเลือดตาแทบกระเด็น

ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ “นพ.สุรพงษ์-หมอเลี้ยบ” ถึงการบริหารจัดการโควิด–19 ในมุมมองของเขาอีกครั้ง

เหตุ กทม.ฝีโควิดแตก

นพ.สุรพงษ์สะท้อนปัญหาว่า การจัดการของรัฐบาลผิดทางที่ปล่อยให้มีเวฟ 2 เวฟ 3 ไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่ลำบากจนถึงทุกวันนี้ และไม่ใช่ความผิดของประชาชน เพราะส่วนใหญ่ระมัดระวังตัว

การเข้ามาตรวจคัดกรอง การกักตัว14 วัน ทำได้ตามระบบได้ดี แต่การเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติไม่มีความเข้มข้น จึงผิดพลาดตั้งแต่ตรงนั้น เป็นผลกระทบรุนแรงที่ทำให้เราต้องเร่งทำหลาย ๆ เรื่องไม่ได้มีการเตรียมไว้ล่วงหน้า

งบประมาณ 4.5 หมื่นล้าน ที่จัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาระบบรับรองการระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ถูกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อไม่มีการเตรียมพร้อม รพ.สนามไม่เคยมีการคิดล่วงหน้า จนกระทั่งเกิดคลัสเตอร์สมุทรสาครให้มี รพ.สนาม พอมีคลัสเตอร์ กทม.เกิดขึ้น จึงฉุกละหุกมาก

ถ้าหากเปรียบเทียบในต่างจังหวัด ถ้าพูดในแง่การรักษาพยาบาล มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล อยู่ในทุกตำบล มีโรงพยาบาลอำเภอ ทุกจังหวัด แต่ใน กทม.ไม่มีอย่างนี้ กทม.มี 50 เขต เทียบเท่าอำเภอ แต่ถามว่าเรามีโรงพยาบาลระดับอำเภอ ประมาณ 90-150 เตียงในทุกเขตไหม… ไม่มีเลย

“ถ้าไม่มีโควิด-19 ไม่มีใครรู้”

ยุบทิ้ง ศบค. หมดเวลาประชุม

นพ.สุรพงษ์บอกว่า การบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล ไม่ทันกินเป็นการทำงานแบบปกติของราชการ

ในขณะที่เราเจอภาวะวิกฤต อุตส่าห์ประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่คุณทำงานเหมือนปกติ ไม่ได้ทำงานแบบฉุกเฉิน

เหมือนกับหมอที่รักษาทั่ว ๆ ไปในห้องฉุกเฉิน ที่ผู้ป่วยกำลังช็อก กำลังจะตาย แต่หมอรักษาแบบปกติไม่ได้

กว่า 1 ปีที่โควิด-19 ระบาดในประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาระดับชาติ-ระดับกระทรวงไป 13 ชุด “นพ.สุรพงษ์” มองว่า

“หมดเวลากับการประชุมครับ…”

แนะนำว่า ให้ “ยุบ” ศบค.ทิ้ง และตั้งวอร์รูมที่รับมือกับภาวะวิกฤตโดยเฉพาะ

ถ้าหากผู้นำมีภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง ทำงานอย่างรอบรู้ที่ฉับไวก็ดีไปอย่าง แต่วันนี้ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเอาฝ่ายความมั่นคงมาเป็นผู้นำในการจัดการ ศบค. ตั้งแต่ ศบค.ใหญ่คือนายกฯ ซึ่งไม่ค่อยเข้าใจเรื่องสุขภาพ

“ศบค.ชุดเล็กก็เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่เข้าใจเรื่องโรคระบาด ซึ่งต้องเลิก ศบค.ได้แล้ว”

โมเดลที่ถูกต้องคืออะไร “หมอเลี้ยบ” ดีไซน์ว่า มีต้นแบบอยู่แล้วที่เรารับมือกับไข้หวัดนก ซาร์ส ไข้หวัด 2009 ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการพิเศษ

“สมมุติถ้ารู้ข่าวกันปั๊บ อีก 1 ชั่วโมงเจอกันเชิญรัฐมนตรีสาธารณสุข มากับอธิบดีกรมควบคุมโรค และนักระบาดวิทยาที่เชี่ยวชาญที่สุดมา 1 คน รัฐมนตรีมหาดไทย มาพร้อมกับอธิบดีกรมการปกครอง สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอทั้งหมด ด้านเศรษฐกิจ เอารัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีแรงงานมานั่งคุย”

“คุยกันเสร็จปั๊บได้ข้อมูล หากยังคิดว่าหาข้อมูลเพิ่มเติม คุณไปหาข้อมูลมาคืนนี้ พรุ่งนี้เช้าคุยกันใหม่ ต้องทำแบบนี้”

รื้อยุทธศาสตร์วัคซีน

วัคซีนไม่ได้บอกว่าให้ถึงภูมิคุ้มกันหมู่ จะต้องฉีดให้ได้ 5 แสนโดสต่อวัน 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ ตัวเลขแบบนี้เป็นประเภทที่คิดกันแบบง่าย ๆ ซึ่งประโยชน์ของวัคซีน คือ ลดความเสี่ยงด้านตัวบุคคลลดความเสี่ยงด้านสาธารณสุข เพื่อไม่ให้โรงพยาบาลมีปัญหา เตียงเต็ม ไอซียูเต็ม ลดความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ

ถ้าเราไปตั้งเป้าฉีด 50 ล้านคนทั้งประเทศในบางจังหวัดผู้ป่วยระลอก 3 ยังไม่ถึงร้อยคนเลย หลาย ๆ วันไม่มีผู้ป่วยแล้ว ถ้าจังหวัดนั้นมี 5 แสนคนจะต้องรีบฉีดให้ถึง 4 แสนคนไหม… ไม่จำเป็น ต้องฉีดวัคซีนอย่างมียุทธศาสตร์

ถ้าผมเป็นคนอายุ 60 ปี อยู่ในจังหวัดที่แทบไม่มีการระบาดเลย ถามว่าผมเสี่ยงไหม… ไม่เสี่ยง ถ้าจัดลำดับความสำคัญแบ่งเป็น คนที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ คนทั่วไป อีกด้านหนึ่งจังหวัดที่มีการระบาดมาก กับการระบาดน้อย

ถามว่าเราควรจะฉีดกลุ่มไหนก่อน คือ กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ ในจังหวัดที่มีการระบาดมาก และฉีดกลุ่มคนทั่วไปในจังหวัดที่มีการระบาดมาก ต่อมาจึงคนที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุในจังหวัดที่มีการระบาดน้อย และอันดับสุดท้ายคือ กลุ่มคนทั่วไปในจังหวัดที่มีการระบาดน้อย เราพุ่งเป้าไปตรงนั้น

แต่ถ้ามุ่งเป้าเพื่อเปิดเศรษฐกิจเราต้องให้วัคซีนกับ “ภูเก็ต” เป็นจังหวัดต้น ๆ ให้มีภูมิคุ้มกันหมู่ ผมเห็นด้วย

เศรษฐกิจทรุดหนักกว่าระลอก 3

ชอตต่อไปที่รัฐบาลจะต้องระวังในมุมมอง “นพ.สุรพงษ์” ในฐานะที่เป็นอดีต รมว.คลัง คือ เรื่องเศรษฐกิจ

“โควิดระลอก 3 ยังหนักน้อยกว่าปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรออยู่ข้างหน้า วันนี้เก็บภาษีได้น้อยลงไปมาก แทบไม่มีเงินที่จะสามารถมาทำอะไรได้เยอะแล้ว สุดท้ายแล้วอาจจะต้องกู้ภายนอก คำถาม คือ รัฐบาลพร้อมที่จะตัดสินใจกู้ภายนอกไหม แล้วใช้เงินเป็นหรือเปล่า”

“ถ้าใช้เงินแบบเดิมระลอก 1 ระลอก 2 ใช้เงินไป 6 แสนกว่าล้าน สุดท้ายแล้วไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้แท้จริง เป็นแค่ประคองจีดีพีเท่านั้น ที่บอกว่าจะเยียวยารอบใหม่ 2 แสนล้าน ถามว่าขนาดของปัญหามากกว่าโควิดปีที่แล้วอีก กระทบความรุนแรงมากกว่าปีที่แล้ว”

“ดังนั้น ใช้เงินแค่นี้แก้ปัญหาไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้น เศรษฐกิจกำลังรอที่หนักหนาอยู่ข้างหน้าแน่ ๆ และยังไม่เห็นผู้รับผิดชอบได้พูดถึงวิสัยทัศน์ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ทำให้ประชาชนมั่นใจได้” นพ.สุรพงษ์ปิดท้าย