ชัชชาติ เตือนรัฐใช้เงินกู้อย่างคุ้มค่า เพราะประชาชนต้องจ่ายคืนทุกบาท

ชัชชาติ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เตือนรัฐบาลปมกู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้าน แก้วิกฤตโควิด ต้องใช้เงินอย่างคุ้มค่า เพราะเงินใกล้หมดหน้าตัก เรียกร้องเปิดเผยให้ตรวจสอบ เพราะประชาชนต้องจ่ายคืนทุกบาท 

วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนออก พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มีกรอบวงเงินกู้คงเหลือ 166,525 ล้านบาท ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า การกู้เงินมาใช้ช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤต เป็นเรื่องที่จำเป็นและหลายประเทศก็ทำเช่นกัน แต่ต้องมั่นใจว่าเป็นการใช้เงินอย่างคุ้มค่า เพราะเงินใกล้จะหมดหน้าตักแล้ว

อีกทั้งยังแนะนำให้เข้าไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการที่ ครม. ได้อนุมัติไปแล้วในเว็บไซต์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผ่านวงเงินกู้ก้อนแรก จำนวนกว่า 1 ล้านล้านบาท

นายชัชชาติ ระบุว่า ข้อมูลในเว็บไซต์ดังกล่าว มี 257 โครงการ วงเงิน 797,667 ล้านบาท มีหลายโครงการที่ยังไม่แน่ใจว่า เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโควิด-19 อย่างไร และถ้าเป็นโครงการปกติที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนสำหรับแก้ปัญหาวิกฤติโควิดจริง ๆ ควรจะใช้งบประมาณปกติ เพื่อให้มีการตรวจสอบได้บ้าง

ก่อนจะฝากข้อความปิดท้ายว่า “เงินกู้เหล่านี้สุดท้ายประชาชนต้องเป็นคนจ่ายคืนทุกบาท หวังว่าจะใช้กันอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์กับประชาชนจริง ๆ ครับ”

สำหรับการกู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้านบาท เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่

  1. ให้กระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 30,000 ล้านบาท นำไปใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน ปรับปรุงสถานพยาบาลและการวิจัยพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่
  2. ให้กระทรวงการคลัง วงเงิน 400,000 ล้านบาท นำไปใช้ช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
  3. ให้คลังนำไปใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 270,000 ล้านบาท เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุน และการบริโภคในประเทศ