กรรมาธิการงบโควิด ประสานเสียง รัฐบาลจำเป็นต้องกู้ 7 แสนล้าน

ไพบูลย์ นิติตะวัน
ไพบูลย์ นิติตะวัน

ไพบูลย์ – อัครเดช เห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรี ที่อนุมัติให้ “คลัง” กู้เงิน 7 แสนล้าน เยียวยาโควิด เชื่อ ไม่ทำโครงการซ้ำรอยของเก่า ที่เบิกจ่ายล่าช้า

วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามตรวจสอบการใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.จำนวน 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขและฟื้นฟูปัญหาโควิด-19 กล่าวถึงการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการกู้เงิน 7 แสนล้านของกระทรวงการคลัง ว่า มีความจำเป็น ในเมื่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังมีผลกระทบอยู่ จำเป็นต้องได้รับมีเงินช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ต้องมีเม็ดเงินที่ไปเยียวยาให้กับประชาชน ซึ่งต่างประเทศในขณะนี้ก็กู้ต้องทำอย่างนี้กัน หลายประเทศทำมากกว่านี้

ส่วนปัญหาการเบิกจ่ายเงินกู้โควิด-19 ล่าช้าใน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เป็นส่วนของงบฟื้นฟู ยังติดปัญหาอยู่อีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งยังต้องติดตามตรวจสอบต่อไป เพราะติดขั้นตอนตามปกติของราชการ การจัดซื้อจัดจ้าง หลายเรื่องเกี่ยวข้องกับระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งโครงการแบบนั้นเรามีประสบการณ์แล้ว เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ใช่ในลักษณะแบบนั้น

“แต่การกู้ 7 แสนล้านไม่ได้ใช้ในส่วนนั้น เป็นการใช้เยียวยาโดยตรงที่ประชาชนได้ประโยชน์ อีกทั้งการระบาดไวรัสรอบนี้รุนแรงด้วยจึงจำเป็นต้องใช้เงิน แต่ไม่อยากให้ไปทำโครงการอะไรที่ไม่ได้ประโยชน์” นายไพบูลย์ กล่าว

ด้าน นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามตรวจสอบการใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.จำนวน 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขและฟื้นฟูปัญหาโควิด-19 หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินก้อนนี้มาใช้ ตนก็เห็นด้วย เพราะการระบาดของโควิด รอบที่ 3 มีผลกระทบไม่ใช่เฉพาะเรื่องความปลอดภัยของประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลกู้รอบแรกมาแล้ว 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในการเยียวยา ฟื้นฟู และด้านสาธารณสุข ตามที่ได้มีการติดตามเงินกู้ก้อนนี้ก็มีการเบิกจ่ายเกือบเต็มวงเงินกู้แล้ว ดังนั้นหากจะต้องกู้มาอีก 7 แสนล้านบาท รัฐบาลจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกลไกในการใช้เงิน

ทั้งเรื่องของหน่วยงานที่จะควบคุมเงินกู้ การตรวจสอบ การเบิกจ่าย ที่จะต้องทำให้การใช้เงินเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไปถึงมือประชาชน และสามารถฟื้นฟู เยียวยาได้อย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นการขับเคลื่อนการแก้ไขทางเศรษฐกิจก็จะไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวังและกำหนดไว้

“ถ้ามีความจำเป็นก็ต้องกู้ แต่ประเด็นสำคัญ คือ กลไกที่รัฐบาลจะต้องทำอย่างไรให้การใช้เงินกู้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ที่ผ่านมาจากที่ผมเป็น กมธ.ฯ ต้องยอมรับว่าการใช้เงินยังล่าช้า เบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และยังไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อประชาชน มีหลายโครงการที่ทำแล้วไม่สำเร็จ”

นายอัครเดช กล่าวว่า หลายโครงการที่จะต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมาย เบิกจ่ายงบล่าช้าเนื่องจากความไม่ชัดเจนของโครงการ เเละที่สำคัญการใช้จ่ายงบเงินกู้ไม่เกิดประสิทธิภาพ ดังนั้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนก็ไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลและพี่น้องประชาชนคาดหวังไว้” นายอัครเดช กล่าว