เบื้องหลัง ประยุทธ์ เบรก วอล์กอิน ฉีดวัคซีน สู่ “On Site registration”

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ-รมว.กลาโหม กำลังจะทำสถิติฉีดวัคซีนมากที่สุด-วางระบบการฉีดวัคซีน “ครั้งประวัติศาสตร์” สาธารณสุขไทย

วัคซีน 100 ล้านโดส สำหรับคนไทย 50 ล้านคน ครอบคลุมจำนวนประชากรร้อยละ 70 ของประเทศ หรือ 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2564 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่กลายเป็น “วาระแห่งชาติ”

•ประยุทธ์ เบรก วอล์กอินฉีดวัคซีน ย้ำรอฟังข่าวจาก ศบค. เท่านั้น

แผนการฉีดวัคซีนจึงถูก “ปรับแล้วปรับอีก” ถึง “สามตลบ” จาก “Walk in” สู่ “On Site registration”

เบื้องหน้าคำสั่ง “ปรับ” ไม่ใช่คำสั่ง “เปลี่ยน” หรือ “ยกเลิก” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” เพราะคาดการณ์-คะเนไว้ล่วงหน้า ว่า “โกลาหลแน่นอน”

1 ใน ทีม “เสธ.ตึกไทย” ไขข้อข้องใจเบื้องลึก-เบื้องหลัง จนเป็น “ข่าวพาดหัวข่าว” ทุกสำนัก ว่า “เบรกวอล์กอิน-หักอนุทิน” ว่า ปัญหา คือ เรื่องการ “สื่อสารไม่ตรงกัน”

“แผนแรก” ถูกเซตไว้ โดยการ “ลงทะเบียน” ผ่านระบบ “หมอพร้อม” ค่อนข้างสมบูรณ์ แม้จะมีอุปสรรค-ขรุขระเล็กน้อย แต่หลักการ คือ “วัคซีนเป็นตัวตั้ง” ในการฉีดให้กับ “ด่านหน้า” และ “กลุ่มเสี่ยง”

“ถ้าปล่อยไปตามหมอพร้อมมันลงตัวแล้ว แต่คราวนี้มีเสียงมาจากหลายคน เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น และเซกชั่นอื่น เช่น ภาคธุรกิจ ภาคกลุ่มเสี่ยง ท่านนายกฯ มองทุก ๆ ภาคส่วน เลยมีคำว่า ‘ปูพรม’ ขึ้นมา”

อย่างไรก็ดีคำว่า “ปูพรม” เป็นการปูพรมแบบมีการ “วางแผน” คือ การแบ่งเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มแท็กซี่-พนักงานขับรถขนส่งสาธารณะ กลุ่มบริษัทเอกชน กลุ่มครู-อาจารย์ เพื่อกระจายให้ครบทุกภาคส่วน

แต่ยังมีอีก “กลุ่มหนึ่ง” ที่ “ตกสำรวจ” เช่น กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน กลุ่มที่ “อยากฉีดวัคซีนเร็ว” จึงเกิดคำว่า “Walk in” ที่หลุดออมาจากปาก “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี-รมว.สาธารณสุข โดย “รู้เท่าไม่ถึงการณ์”

“walk in แผนละเอียดยังไม่มี จึงไม่อยากให้เดินเข้ามาฉีด แต่เมื่อมีเสียงจากประชาชนจำนวนหนึ่งบอกว่า น่าจะทำได้นะ แต่ต้องจัดระเบียบ”

ประจวบกับกรุงเทพมหานคร เปิด “ศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล” 3 แห่งนำร่อง 10 แห่ง-ระยะที่สอง วันที่ 23 พ.ค.64 และ 25 แห่งราวต้นเดือนก.ค.64

จึงเกิดความเข้าใจผิด ว่า ประชาชนสามารถ “walk in” เข้าไปได้และจะได้รับการฉีดวัคซีน แต่ความเป็นจริงเป็นการ “ทดสอบระบบ” ฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ลงทะเบียนจาก “สำนักอนามัย” ไม่ให้เกิดความแออัด

“walk in เมื่อไหร่ คนก็จะมา หน้างานจริงมีคนเดินเข้ามาขอรับการฉีดวัคซีน แต่ไม่ได้ลงทะเบียน จึงไม่ได้ฉีด เพราะข่าวออกไปสับสน โทษใครไม่ได้”

หลังจากคำว่า “walk in” กระจายออกไปเพียง “ข้ามคืน” จินตนาการในหัวของ “ทีมเสธ.ตึกไทย” คือ ความวุ่นวาย-แออัดของประชาชนที่ตั้ง “ความหวัง” ไว้ว่า เมื่อฝ่าห่ากระสุนอาบเชื้อโควิดมาแล้วต้องได้ฉีดวัคซีน-ไม่กลับบ้านมือเปล่า

เมื่อกระแสของคำว่า “walk in” เพิ่มความต้องการฉีดวัคซีนเป็น “เท่าตัว” ทำให้เกิดภาพคนที่ไปรอรับการฉีดวัคซีน ณ จุดต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง-แพร่ระบาดสูง ไม่เว้นแม้กระทั่ง “พื้นที่สีแดง” อย่าง “คลัสเตอร์คลองเตย”

“นายกฯ เห็นตรงนี้แล้ว จึงบอกว่า ทำยังไงก็ได้ดึงคนจากการ walk in ให้ได้มากที่สุด จึงเปลี่ยนคำมาเป็น ‘On Site registration’”

จึงเป็นที่มาของการปรับแผน-เกิดคำว่า “ลงทะเบียน ณ จุดฉีดวัคซีน” หรือ “On Site registration”
“ไม่ได้ต่างจาก walk in มากนัก แต่จะให้รู้ว่าทุกคนอย่างน้อยต้องมีการลงทะเบียน และต้องรู้ล่วงหน้าว่า เมื่อ walk in มาแล้วจะได้ฉีดวัคซีนกี่คน หรือ ไม่ได้ฉีดเลย แต่เมื่อมาแล้วต้องได้ลงทะเบียนที่หน้างานเพื่อรับการจองคิวฉีดในวันถัดไป”

ขณะเดียวกัน กทม.ได้ติดตั้งระบบ “Web based” เพื่อให้ประชาชนที่มีอายุ 18-59 ปี ลงทะเบียนนัดคิวฉีดนอกโรงพยาบาล 25 จุด เพื่อไม่ให้เกิดภาพประชาชนมาต่อแถวยาวเหยียด-แออัด ยัดเยียด หน้า “จุดฉีด”

อย่างไรก็ตามไม่สามารถรับประกันได้ว่า เมื่อถึงเวลานั้นจริง ๆ จะเป็นไปตามแผน-ต้องปรับแผนอีกหรือไม่

เมื่อปัญหาสำคัญของรัฐบาล คือ การสื่อสาร “คนละทิศคนละทาง” แม้จะ “เข็มมุ่ง” เดียวกัน คือ ประชาชนทุกคนได้รับการฉีดวัคซีน แต่ลงรายละเอียดต่างกัน จึงเกิดปัญหา เพราะการสื่อสารคลาดเคลื่อน-ไม่ครบถ้อยกระบวนความ

“พล.อ.ประยุทธ์” จึงต้อง “ทุบโต๊ะ” ให้ “หมอทวีศิลป์” พูดคนเดียวเท่านั้น

ทั้งคำว่า “walk in” และ “On Site registration” จึงเป็นการ “ปรับตามสถานการณ์” เพื่อให้ประชาชน “เข้าถึง” วัคซีนให้ได้มากที่สุด