ประยุทธ์ ขึ้นปีที่ 8 ใกล้ “ป๋าเปรม” อดีตและอนาคต “นายกทหาร”

รายงานพิเศษ

ขึ้นปีที่ 8 ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 บนหลังเสือ จาก “หัวหน้า คสช.” ที่เคยบอกว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” สู่ “นายกฯทหาร” ในระบอบประชาธิปไตย

การก้าวขึ้นสู่อำนาจของ “พล.อ.ประยุทธ์” จากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557-22 พฤษภาคม 2564 ถูกนำมาเปรียบเทียบกับในยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” สมัย “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” นายกรัฐมนตรี 8 ปี คนที่ 16 ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

8 ปี (2523-2531) 3 สมัย กับการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เฉลี่ยทุก 2 ปีครึ่ง (5 รัฐบาล) ภายใต้การนำของ “ป๋าเปรม” ต้องเผชิญกับภัยคุกคามจาก “ลัทธิคอมมิวนิสต์” ทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

8 ปี (2557-2564) 2 สมัย ในอำนาจของ “พล.อ.ประยุทธ์” รับบท “หัวหน้ารัฐบาล” ในช่วง “เปลี่ยนผ่าน” และวาทกรรม “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่”

“รศ.สุขุม นวลสกุล” อดีตที่ปรึกษา พล.อ.เปรม กล่าวว่า เทียบกันไม่ได้ และไม่ควรเทียบ เพราะคนละยุค คนละสมัย เพราะสถานการณ์ต่างกัน

“ความคิดคนในสังคมขณะนี้ก้าวหน้าไปไกลมาก พล.อ.เปรมกลับมาแล้วทำอย่างคราวที่แล้วคนก็ไม่ยกย่องหรอก ถ้ามาทำในยุคนี้นะ”

“พล.อ.เปรมเข้ามาในยุคหลังจอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) ที่มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด พอมาถึงยุค พล.อ.เปรมก็ถือว่าเบามาก เมตตา ปรานี เรียกป๋า เป็นคนละยุค คนละสมัย”

“เหมือนตอนที่ไล่ (พล.อ.) สุจินดา (คราประยูร อดีต ผบ.ทบ. และหัวหน้า รสช.) สุจินดาเคยถามผม ว่า เอ๊ะ ทำไม พล.อ.เปรมไม่ลาออกจาก ผบ.ทบ. เป็นนายกฯ ทำไมไม่เห็นไล่เลย อุตส่าห์เสียสละลาออกจาก ผบ.ทบ. แล้ว ทำไมถึงไล่”

“อดีตที่ปรึกษา พล.อ.เปรม” ขยายความว่า ยุคนี้ผู้คนต้องการเสรีภาพสูงกว่าเมื่อก่อน มีความเป็นตัวของตัวเองสูงขึ้น จะให้ใครมาบงการเหมือนสมัยก่อนไม่เอาแล้ว

“บริบทมันเปลี่ยน แต่กลับถอยหลังไปอีก ไม่ก้าวตามความเปลี่ยนแปลง พล.อ.เปรมเห็นว่าก้าวต่อไปไม่ไหว ท่านเลยบอกกับผมว่า ‘พอแล้ว’”

รศ.สุขุม วิเคราะห์สาเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ได้ถึง 8 ปี ว่า กลุ่มที่มีอำนาจและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองได้ สนับสนุน เช่น กองทัพ โดยมีกลไกที่ถูกสร้างขึ้น (รัฐธรรมนูญ) ที่มีประชาธิปไตยปะปนช่วยเชื่อมประคองไว้ และการมี “แต้มต่อ” กว่าคนอื่น ซึ่ง “ตั้งใจอยู่นานกว่า 8 ปี”

ส่วนฉากจบของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯทหาร 2021 จะลงจากอำนาจอย่างไร “รศ.สุขุม” ยังนึกไม่ออก-ต้องรอดูต่อไป

กองทัพค้ำยันอำนาจ

8 ปีของ พล.อ.เปรม บนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ การขึ้นปีที่ 8 ของ พล.อ.ประยุทธ์ มีก้าวย่างที่ต่างและเหมือน

“พล.อ.เปรม” เจ้าของสมญานามที่นักการเมืองให้ในภายหลังว่า เป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ด้วยบุคลิก “เด็ดขาด”ไม่กางปีกปกป้องคนผิด-พวกพ้อง จนได้รับการ “เชิดชู” ทั้งในกองทัพ-นักการเมืองว่าเป็น “ทหารการเมือง” ที่ “มือสะอาด-จงรักภักดี”

จุดแข็งของ “พล.อ.ประยุทธ์” คือ ความเป็นปึกแผ่นของ “กองทัพ” เป็น “ฐานอำนาจ” สำคัญของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จากเครือข่าย “3 ป.” และ เครือข่ายนายทหาร “บูรพาพยัคฆ์” หยั่งรากลึกในกองทัพมากกว่า 1 ทศวรรษ

สถานการณ์ภายในกองทัพในช่วงรัฐบาล พล.อ.เปรม เกิดการแบ่งเหล่า-แบ่งรุ่น โดยมีนายทหาร 2 กลุ่มเป็นอย่างน้อย ที่มีบทบาทสำคัญในกองทัพ-การเมืองในยุค “ป๋าเปรม”

อาจจะเรียกว่า “ศึกสามเส้า” โดยมี “พล.อ.เปรม” อยู่ตรงกลางความขัดแย้ง

กลุ่มที่ 1 นายทหาร “จปร. 7” หรือ “ยังเติร์ก” ที่มี “พ.อ.มนูญกฤต รูปขจร” และ “พ.ท.พัลลภ ปิ่นมณี” (ยศในขณะนั้น) เป็นแกนนำกลุ่ม

กลุ่มนายทหาร “ยังเติร์ก” พยายามก่อการรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.เปรม ถึง “สองครั้ง” แต่ต้องคว้าน้ำเหลว ครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2524 ที่ถูกเรียกว่า “กบฏเมษาฮาวาย” และครั้งที่สอง ในปี 2528

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่ม “ทหารประชาธิปไตย” ที่มี “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” เป็น “นายทหารคู่บุญ” “เกื้อหนุน” รัฐบาล พล.อ.เปรม เปิดเจรจาประนีประนอมกับปัญญาชนฝ่ายซ้าย และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการออก “คำสั่ง 66/23” และ “คำสั่ง 66/25” เอา “คนออกจากป่า”

อีกกลุ่มคือ นายทหาร “จปร.5” ที่มี “บิ๊กสุ” พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็น “ประธานรุ่น” ซึ่งกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในช่วงการเมืองยุคหลังรัฐบาลพล.อ.เปรม-เหตุการณ์ “พฤษภา 35”

กลายเป็นความขัดแย้ง “สามเส้า” ภายในกองทัพ ที่มี “พล.อ.เปรม” อยู่ตรงกลางความขัดแย้ง แต่สามารถ “เอาอยู่”

รัฐมนตรีโควตากลาง-สายตรง

แต่สิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เทียบได้กับ “ยุคป๋าเปรม” คือ การ “จัดสรรอำนาจ” โควตารัฐมนตรีตำแหน่งหลักในรัฐบาลตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่ พล.อ.เปรม นั่งควบกระทรวงกลาโหม แต่กันกระทรวงมหาดไทย คลัง ต่างประเทศ คมนาคม ไว้ให้นายทหาร-อดีตข้าราชการ-นักวิชาการที่ “ไว้ใจ”

ไม่ต่างไปจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แม้เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ตำแหน่งรัฐมนตรี กระทรวงด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง อาทิ กระทรวงกลาโหม (พล.อ.ประยุทธ์ ควบ) รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ รองนายกรัฐมนตรฝ่ายกฎหมาย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน ถูกรวบไว้เป็น “โควตากลาง” สายและเครือข่ายของ พล.อ.ประยุทธ์

พปชร. ฐานที่มั่น พล.อ.ประยุทธ์

ปีกนักการเมือง ในระบบรัฐสภายุคป๋า-พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและซีกฝ่ายค้าน ด้วยบารมีให้การยอมรับในตัวของ “ผู้นำรัฐบาล” การสนับสนุนให้พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปก็เพื่อป้องกันการรัฐประหาร

ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ประหนึ่งยังคงได้รับการสนับสนุนจาก “พรรคร่วมรัฐบาล” โดยเฉพาะประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย

แม้ พล.อ.เปรม-พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้เป็น “หัวหน้าพรรคการเมือง” เหมือนกันแต่ “พล.อ.ประยุทธ์” มีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นฐานที่มั่น โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ กุมบังเหียนหัวหน้าพรรค-ผู้จัดการรัฐบาล

และสิ่งที่เหมือนกันอีกประการคือ กติกาการเข้าสู่อำนาจให้วุฒิสภา (ส.ว.) ส่วนใหญ่เป็นนายทหารในกองทัพ (รัฐธรรมนูญ ปี 2521) และ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์-หัวหน้า คสช. (รัฐธรรมนูญ ปี 2560)

ทว่าในยุค พล.อ.เปรม 3 ปีแรก ส.ว.มาร่วมโหวตด้วย แต่ ส.ว. 250 คน ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจเลือกนายกฯได้ 5 ปี หรืออย่างน้อย พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ 2 วาระ 8 ปี

สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัด คือ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีโครงสร้างอำนาจพิเศษ ที่ส่วนใหญ่ถูกสรรหามาในยุค “แม่น้ำ 5 สาย”

อีสเทิร์นซีบอร์ด vs อีอีซี

ด้านเศรษฐกิจในยุค พล.อ.เปรม ภายใต้ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5” หรือ ปี 2524-2529 งบประมาณส่วนใหญ่มุ่งเน้น “ขจัดความยากจน” ในชนบท เกิดเป็นโครงการ “อีสานเขียว” เพื่อแก้ปัญหาภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ตลอดจนโครงการ “อีสเทิร์น ซีบอร์ด”

ขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจในสมัย “พล.อ.ประยุทธ์” เน้นความเป็นรัฐสวัสดิการเมื่อวิกฤติโควิดตลอด 17 เดือน มีมาตรการแจกเงิน และให้ประชาชน “ร่วมจ่าย” กับรัฐบาล ส่วนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ เป็นการต่อยอด จากรัฐบาล คสช. เช่น โครงการ “อีอีซี” และนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”

โดยมี “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” และ “แผนปฏิรูปประเทศ” เป็น “ลายแทง” นำทาง

ฉากจบของ “นายกฯเปรม” ปรากฏในวันที่ 27 ก.ค.2531 ที่ “บ้านสี่เสาเทเวศร์” ต่อหน้าตัวแทนพรรคการเมือง ที่เดินทางไป “เทียบเชิญ” พล.อ.เปรมให้กลับมาเป็น “นายกฯ สมัยที่ 4” ด้วยวลีอมตะตลอดกาลว่า “ผมพอแล้ว”

ท่ามกลางกระแสกดดัน “ไม่เอาเปรม” และ “นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง” และการ “ถวายฎีกา” ของ “กลุ่ม 99 คน”

ก้าวย่างของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในปีที่ 8 ขยับขึ้นใกล้ พล.อ.เปรมได้มากที่สุด คือวาระนายกรัฐมนตรี ส่วนตำแหน่งต่อจากนี้คนคำนวณย่อมมิสู้ฟ้าลิขิต