เรือดำน้ำหลอน “ประยุทธ์” ฝ่ายค้าน จองกฐินอภิปรายงบทหารปี’65

เมื่อถึงคิวพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีทุกครั้ง จุดเปราะบางที่สุดของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งอยู่ในอำนาจมายาวนาน 7 ปีเต็ม คือ งบฯกองทัพ เพราะต้องเจอฝ่ายต้าน-ฝ่ายค้านมอนิเตอร์ทุกปีว่า งบฯความมั่นคงจะเพิ่มหรือลด

เปรียบเทียบย้อนหลัง 9 ปี กระทรวงกลาโหม-กองทัพภายใต้ร่มเงาของ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 1,891,959 ล้านบาท แบ่งออกเป็นปี’65 วงเงิน 203,282 ล้านบาท ปี’64 วงเงิน 214,530 ล้านบาท ปี’63 วงเงิน 231,745 ล้านบาท ปี’62 วงเงิน 227,126 ล้านบาท ปี’61 วงเงิน 218,503 ล้านบาท ปี’60 วงเงิน 213,544 ล้านบาท ปี’59 วงเงิน 206,461 ล้านบาท ปี’58 วงเงิน 192,949 ล้านบาท และปี’57 วงเงิน 183,819 ล้านบาท

แม้ว่างบฯกองทัพรอบปี 2565 “กระทรวงกลาโหม” จะได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 203,282 ล้านบาท อยู่ในลำดับ 5 ของกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรมากไปหาน้อย

เมื่อเทียบกับงบฯกองทัพปี 2564 ซึ่งกระทรวงกลาโหมที่ได้รับการจัดสรรเม็ดเงินสูงเป็นอันดับ 4 วงเงิน 223,463.7 ล้านบาท

สะท้อนว่างบฯกองทัพถูกลดลงกว่าปี 2565 แต่ใช่ว่าจะพ้นข้อครหาในช่วงที่วิกฤตโควิด-19 กำลังระบาดไปทั่วทุกหัวระแหง

หนึ่งในงบฯกองทัพที่จะถูก “ขุด” ขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งในการพิจารณางบประมาณรอบนี้ คือ งบฯเรือดำน้ำ รุ่นหยวนคลาส เอส26ที (Yuan Class S26T) จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท

ย้อนความการจัดซื้อเรือดำน้ำ ใช้งบฯผูกพัน ตามแผนจะมีการจัดซื้อทั้งหมด 3 ลำ รวม 36,000 ล้านบาท ในเวลา 11 ปี ซึ่งคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ อนุมัติไว้ตั้งแต่ 18 เมษายน 2560

ต่อมา 7 ตุลาคม 2562 คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 ได้เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยกองทัพเรือได้ชงคำของบประมาณเพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 วงเงิน 22,500 ล้านบาท

เรื่องผ่านมา 3 ปีเศษ ก็เกิดดราม่าครั้งใหญ่หลังคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ รัฐวิสาหกิจและทุนหมุนเวียนในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 ที่มี “สุพล ฟองงาม” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐเป็นประธาน มีมติเห็นชอบ 5 ต่อ 4 ซื้อเรือดำน้ำ จำนวน 2 ลำ เป็นลำที่ 2 และ 3 จากประเทศจีน วงเงิน 22,500 ล้านบาท

เสียงประท้วงทั้งสังคมก็รุมกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ กองทัพ และ กมธ.งบประมาณต้องกลับมาทบทวน เพราะการอนุมัติงบประมาณกว่า 22,500 ล้านในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด และรัฐบาลต้อง “กู้เงิน” มาบริหารจัดการนั้นสมเหตุสมผลในการซื้อแล้วหรือไม่

ทั้งที่ไม่ใช่การอนุมัติงบฯใหม่ หากเป็นเพียงการอนุมัติการใช้งบฯผูกพันที่มีการตั้งงบประมาณไว้แล้ว ตามแผนที่วางไว้ว่า

ในปี มีการชำระเงินรายปี 2563 วงเงิน 3,375 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 3,925 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 2,640 ล้านบาท ปี 2566 จำนวน 2,500 ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 3,060 ล้านบาท ปี 2568 จำนวน 3,500 ล้านบาท และปี 2569 จำนวน 3,500 ล้านบาท รวม 22,500 ล้านบาท

จ่ายปีละ 2-3 พันล้าน แต่ที่สุดแล้ว “พล.อ.ประยุทธ์” สั่งกองทัพเรือถอยสุดซอย เจรจาผลัดจีนให้ไปซื้อใหม่ปีต่อไป (2564)

31 สิงหาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวสามารถเดินหน้าซื้อเรือดำน้ำต่อได้ เพียงแต่ขณะนี้ชะลอการจ่ายเงินไปปีหน้า (2564) เพราะเป็นแผนการพัฒนาของกองทัพ และที่สำคัญเรามีหลักการและเหตุผลที่ได้ชี้แจงไปแล้ว เนื่องจากเป็นแผนงานการพัฒนาทางเรือ และต้องไปดูว่าขณะนี้สถานการณ์รอบประเทศเป็นอย่างไร

“เรื่องนี้ได้คุยกับผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) แล้ว ได้ให้แนวทางไปว่า ให้ไปคุยเจรจากับจีน ส่วนงบฯกว่า 3,000 ล้านบาทก็ไม่สามารถโยกไปทำอะไรได้ ก็ต้องตีตกกลับมา และเงินตัวนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินและการคลังอยู่แล้วว่าจะนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง”

แม้ในเอกสารงบประมาณเล่มขาวคาดแดงของกลาโหมจะไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดงบฯจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพ เพราะเหตุผล “ด้านความมั่นคง” มีเพียงกรอบตัวเลขแต่ละด้าน

ซึ่งภาพรวมกองทัพบก 39,694,972,200 บาท กองทัพเรือ 18,632,080,800 บาท กองทัพอากาศ 24,932,604,900 บาท กองบัญชาการกองทัพไทย 7,410,600,200 บาท สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 150,000,000 บาท

ขณะที่งบประมาณรายจ่ายบุคลากร 105,034,561,800 บาท แบ่งออกเป็นสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 4,035,147,400 บาท กองทัพบก 58,891,833,600 บาท กองทัพเรือ 21,282,934,400 บาท กองทัพอากาศ 13,457,939,800 บาท กองบัญชาการกองทัพไทย 7,100,988,600 บาท สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 265,718,000 บาท

แต่นักการเมืองฝ่ายค้านทั้งเพื่อไทย-ก้าวไกล ปักใจเชื่อว่ามีงบฯเรือดำน้ำสอดไส้อยู่แน่นอน และกัดไม่ยอมปล่อยปมงบฯทหาร

เมื่อเรื่องเดินทางมาครบ 1 ปี การระบาดของโควิด-19 หนักขึ้นกว่าเก่า

“พล.อ.ประยุทธ์” กับ “กองทัพเรือ” จะทำอย่างไรกับการจัดซื้อเรือดำน้ำที่กำลังจะกลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง