ซักฟอกงบโควิด-รื้อรัฐธรรมนูญ ขึ้นเทอมใหม่ รัฐสภานั่งร้าน “ประยุทธ์”

รายงานพิเศษ

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2564 ปีที่ 3 เปิดฉากอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ท่ามกลางไวรัสโควิดระบาดทั่วราชอาณาจักร

การขึ้นปีที่ 3 ของฝ่ายนิติบัญญัติ 488 เสียง 26 พรรค จึงมีเรื่องร้อนจ่อคิวให้พิจารณามากมาย

คิวแรกเป็นการอนุมัติ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน (พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2564) ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้

แต่วาระสำคัญที่ต้อนรับการกลับมาประชุมของบรรดา “ผู้ทรงเกียรติ” มีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ

กำหนดปฏิทินไว้ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน โดยมีเงื่อนเวลาบังคับว่ารัฐสภาจะต้องพิจารณาภายใน 105 วัน นับจากวันที่รัฐสภาได้รับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จากรัฐบาล ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

เดดไลน์ไม่เกินกลางเดือนกันยายนต้องเสร็จในชั้น ส.ส.และ ส.ว.

เปิดเทอมใหม่สภา

อย่างไรก็ตาม งานร้อนงานแรก ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล เพื่อชาติ ประชาชาติ เสรีรวมไทย และ พลังปวงชนไทย บวกกับไทยศรีวิไลย์ (ฝ่ายค้านเฉพาะกิจ) และมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ (เสียงเดียวจากเศรษฐกิจใหม่) มาร่วมแจม

ต้องการใช้เวทีสภาอภิปรายงบประมาณ ฉุดความน่าเชื่อถือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ วิจารณ์ความล้มเหลวด้านการแก้วิกฤตโควิด-19 และเศรษฐกิจ เบื้องต้น เบอร์ 1-เบอร์ 2 ฝ่ายค้าน เพื่อไทย ก้าวไกล ติวเข้มลูกทีมอย่างจริงจัง

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ชี้เป้า 3 เรื่องที่จะใช้ซักฟอกงบประมาณว่า

เรื่องแรก จะอภิปรายโครงสร้างการบริหารที่ล้มเหลว ทำให้การจัดทำงบประมาณไม่สอดคล้องกับปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันในหลายกระทรวง เช่น กระทรวงกลาโหม ที่กองทัพเรือยังคงเสนอซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำ ไม่ควรนำเสนอมาแล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน

เรื่องที่สอง มีการจัดงบฯส่อไปในแนวทางทุจริต เอื้อประโยชน์พวกพ้องในหลายประเด็น เช่น การจัดงบประมาณของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม

เรื่องที่สาม คือ จัดงบประมาณโดยไม่ให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“เป็นกรอบการอภิปรายที่เรากำหนดเอาไว้ ชี้ให้ประชาชนได้เห็นการใช้เงินงบประมาณที่บกพร่องของรัฐบาล เป็นการกระตุกรัฐบาลให้ปรับปรุงงบประมาณให้ดีขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน”

ขณะเดียวกันรัฐบาลยังตกเป็น “เป้านิ่ง” ให้ฝ่ายค้านโจมตีรัฐบาล จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการ พ.ร.ก.เงินกู้ 7 แสนล้าน เป็นซีรีส์ “ภาคต่อ” ของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน ซึ่งเอาไว้ใช้เยียวยาบาดแผลประชาชน-ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากพิษไวรัส

แต่ในซีรีส์ภาคแรกการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านของรัฐบาลพลาดเป้า ไม่สามารถฟื้นชีพเศรษฐกิจได้ การเบิกจ่ายที่ล่าช้า ติดกลไกเบิกจ่ายของรัฐราชการ อีกทั้ง เงินกู้ก้อนใหม่ฝ่ายค้าน โดย “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ส.ส.มหาสารคราม เพื่อไทยยังออกมาตีปี๊บว่า มีการซ่อนงบซื้ออาวุธ จนทำให้ภาครัฐต้องออกมาปฏิเสธว่าเป็นความเท็จ

ดังนั้น ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และการอนุมัติหลักการ พ.ร.ก.เงินกู้ 7 แสนล้านบาท ฝ่ายค้านกำลังถอดรหัสงบประมาณ

มีแผนว่า อาจจะขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ดีไม่ดีอาจร่นเวลาการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสมัยประชุมนี้เลยก็อาจเป็นได้

“ประยุทธ์” เสียงท่วมสภา

ดังนั้น จำนวนมือในเวทีสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ ยังต้องใช้เสียงในเวทีรัฐสภา

เปิดเทอมใหม่คราวนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ถือเสียงพรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค 275 เสียง เป็นหางเสือให้กับรัฐบาล โดยมีเสียงท่วมท้น มิใช่เป็นเสียงปริ่มน้ำเหมือนในปีแรก

ปัจจุบันเสียงของรัฐบาลประกอบด้วย 1.พลังประชารัฐ 122 เสียง 2.ภูมิใจไทย 61 เสียง 3.ประชาธิปัตย์ 50 เสียง 4.ชาติไทยพัฒนา 12 เสียง 5.รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง 6.พลังท้องถิ่นไท 5 เสียง 7.ชาติพัฒนา 4 เสียง 8.เศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง 9.รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง

10.พลังชาติไทย 1 เสียง 11.ประชาภิวัฒน์ 1 เสียง 12.พลังไทยรักไทย 1 เสียง 13.ครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง 14.ประชานิยม 1 เสียง

15.พลเมืองไทย 1 เสียง 16.ประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง 17.พลังธรรมใหม่ 1 เสียง 18.ประชาธรรมไทย 1 เสียง และ 19.ไทรักธรรม 1 เสียง

ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค และพรรคเฉพาะกิจ กับอีก 1 เสียง รวม 213 เสียง ประกอบด้วย 1.พรรคเพื่อไทย 134 เสียง 2.ก้าวไกล 54 เสียง 3.เสรีรวมไทย 10 เสียง 4.ประชาชาติ 7 เสียง 5.เพื่อชาติ 5 เสียง 6.พลังปวงชนไทย 1 เสียง 7.ไทยศรีวิไลย์ 1 เสียง ของมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ และ 1 เสียงของ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์”

แม้ว่าในรัฐบาล 19 พรรค จะมีรอยร้าวภายใน กลายเป็นมวยคู่เอกหลายคู่ เช่น พลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ จากปมคำสั่งแบ่งงานของรัฐมนตรี ที่ให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ไปคุมพื้นที่ภาคใต้ในเขตฐานที่มั่นของพรรคประชาธิปัตย์ เกิดเสียงทักท้วงหัวชนฝาจากพรรคค่ายสะตอ จน พล.อ.ประยุทธ์ต้องรื้อคำสั่ง

ภูมิใจไทยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จากปมหักดิบเรื่องฉีดวัคซีนแบบวอล์กอิน อันเป็นแผนของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข จนเกิดสงครามน้ำลายระหว่างลูกพรรคภูมิใจไทย กับลูกหาบพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นฐานสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

สุดท้ายรัฐบาลเรือเหล็กยังถูลู่ถูกังไปได้แบบจำยอม-จำเป็นด้วยจำนวนมือที่มีมากกว่าฝ่ายค้าน

ล้มกระดานแก้รัฐธรรมนูญ

อีกแมตช์ใหญ่ของ “รัฐสภา” คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล้างพิษมรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ตกค้างมาจากการประชุมสมัยที่แล้ว

ขณะนี้มี ไพบูลย์ นิติตะวัน ยื่นร่างแก้ไข
รัฐธรรมนูญในส่วนพรรคพลังประชารัฐ คาไว้อยู่แล้ว จึงรอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล คือ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา

ส่วนฝ่ายค้านก็ยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้เช่นกัน พุ่งเป้าปิดสวิตช์ ส.ว. ยุบทิ้งยุทธศาสตร์ชาติ แก้ไขมาตรา 256 คู่ขนานกับร่างของกลุ่ม Resolutionถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมีคณะก้าวหน้า x ไอติม “พริษฐ์ วัชรสินธุ” และ iLaw เป็นตัวจักรสำคัญ

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติ ซึ่งพิจารณาถึงในมาตรา 50 เรื่องการนับคะแนนเสียงประชามติ แต่ปรากฏว่า ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.หวั่นเกรงโควิด-19 จนทำให้การประชุมล่มลงในวันที่ 8 เมษายน “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ต้องเลื่อนการประชุมมาสมัยประชุมนี้แทน

หาก พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ผ่านรัฐสภา ฝ่ายค้านจะกดปุ่มโหมกระแสแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ด้วยการเสนอให้มีการทำประชามติ ถามประชาชนว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

ทั้งงบประมาณ 65 งบฯเงินกู้ 7 แสนล้าน-แก้รัฐธรรมนูญ ล้วนเป็นงานที่เร่งอุณหภูมิการเมืองให้เดือดปุด ๆ รัฐสภา หางเสือรัฐบาลประยุทธ์ จำเป็นต้องประคองสถานการณ์ให้ตลอดรอดฝั่งในการขึ้นปีที่ 3