7 ปี ประยุทธ์ กู้ 8.47 ล้านล้าน แก้โควิด-โปะหนี้จำนำข้าว “รัฐบาลยิ่งลักษณ์”

รายงานพิเศษ

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาต้องเผชิญกับ “แรงเหวี่ยง” ทางการเมือง-เศรษฐกิจ ตั้งแต่ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” ต่อเนื่องมาเป็นลูกระนาด มาจนถึง “วิกฤตโรคระบาด”

7 ปี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ “ติดอาวุธ” ทางการเงิน “เสริมเขี้ยวเล็บ” ทางการคลัง เพื่อสมาน “แผลสด” ที่เกิดจากวิกฤตไวรัสมรณะโควิด-19 สามระลอก

ตกสะเก็ดเป็น “แผลเป็น” ทางเศรษฐกิจ โดยการก่อหนี้ใหม่-โปะหนี้เดิม

ส่งผลให้ “หนี้สาธารณะ” แตะใกล้เพดานกรอบวินัยการเงิน-การคลัง ร้อยละ 60 ต่อจีดีพี โดยไปแตะอยู่ที่ร้อยละ 58.56 ต่อจีดีพี

หนี้สาธารณะพุ่ง 8.47 ล้านล้าน

7 ปี หนี้สาธารณะ ณ เดือนมีนาคม 2564 จำนวน 8,472,186 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.28 ต่อจีดีพี แบ่งออกเป็น

หนี้รัฐบาล จำนวน 7,380,114 ล้านบาท

หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 799,090 ล้านบาท

หนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลค้ำประกัน จำนวน 285,357 ล้านบาท

และ หนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 7,624 ล้านบาท
หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง-หนี้ในประเทศส่วนใหญ่มาจาก เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลเงินงบประมาณและการบริหารหนี้

เงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.โควิด-19

เงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ เงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน

เงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน

ย้อนหลังกลับไป “หนี้สาธารณะ” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2558 จำนวน 5,783,323 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.56 ต่อจีดีพี

ปี 2559 จำนวน 5,988,386 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.75 ต่อจีดีพี ปี 2560 จำนวน 6,369,331 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.78 ต่อจีดีพี

ปี 2561 จำนวน 6,780,953 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.95 ต่อจีดีพี ปี 2562 จำนวน 6,901,801 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.04 ต่อจีดีพี ปี 2563 จำนวน 7,848,155 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49.35 ต่อจีดีพี

“พล.อ.ประยุทธ์” ชี้แจงระหว่างการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงขึ้น เกิดจาก “โครงการรับจำนำข้าว” และ “โครงการบ้านเอื้ออาทร”

“ปัญหาหนี้สาธารณะ มีทั้งหนี้ที่เกิดจากโครงการในอดีตที่ล้มเหลว ทำให้รัฐบาลต้องมารับช่วงผ่อนชำระต่อ อาทิ โครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลชดใช้ไปแล้วกว่า 705,018 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2563 เหลือหนี้อยู่ 288,401 ล้านบาท”

“ไม่รวมดอกเบี้ยอีกกว่า 83.08 ล้านบาท รวมถึงต้องตั้งงบประมาณชดใช้อีกปีละ 23,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 12 ปี และหนี้จากโครงการบ้านเอื้ออาทรกว่า 20,000 ล้านบาท โดยการเคหะฯชดเชยไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท”

กู้ฉุกเฉิน 1.5 ล้านล้าน

7 ปี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ออก “กฎหมายกู้เงิน” จำนวน 2 ฉบับ วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ได้แก่

1.พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มแผนงาน

กลุ่มที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท

อนุมัติไปแล้ว 3 ครั้ง จำนวน 25,825 ล้านบาท คงเหลือ 19,174 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างอนุมัติโครงการ

กลุ่มที่ 2 แผนงานหรือโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ วงเงิน 555,000 ล้านบาท

ต่อมาได้โอนวงเงินกู้จากแผนงานกลุ่มที่ 3 เพิ่มเติม ทำให้มีวงเงินเพิ่มขึ้นเป็น 6.85 แสนล้านบาท อนุมัติแล้ว 6.68 แสนล้านบาท คงเหลือ 144,846 ล้านบาท

การเยียวยาแต่ละวงรอบตกถึงมือประชาชน-เกษตรกร-ผู้ประกอบการ 40 กว่าล้านคน ในแต่ละรอบการเยียวยา

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 จะอนุมัติอีก 4 โครงการ เพื่อหมุนเศรษฐกิจในช่วง “ครึ่งปีหลัง” ได้แก่

โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้”

กลุ่มที่ 3 แผนงานหรือโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท

คงเหลือ 2.7 แสนล้านบาท (โยกไปให้กลุ่มที่ 2) อนุมัติไปแล้ว 125,000 ล้านบาท

ถมโควิดรอบสาม 1.25 ล้านล้าน

“ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒน์ ให้เหตุผล-ความจำเป็นต้อง “กู้เพิ่ม” ว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มีแผนการใช้จ่ายครบถ้วนแล้ว และเบิกจ่ายไปแล้วกว่าร้อยละ 79.88%

“ทำให้เกิดการจ้างงาน 163,628 คน ฝึกอบรมทักษะเกษตรกรไปแล้วอย่างน้อย 9 หมื่นราย เบิกจ่ายงบประมาณที่ได้อนุมัติโครงการไปแล้ว 817,000 ล้านบาท ช่วยพยุงเศรษฐกิจและส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 2”

ล่าสุด รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท “ซึ่งยังไม่ยุติ”

แบ่งออกเป็น 3 แผนงานเช่นเดียวกัน แผนงานแรก เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ

รวมทั้งการปรับปรุงสถานพยาบาลสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 30,000 ล้านบาท

แผนงานที่สอง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพ

หรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพ หรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง จำนวน 300,000 ล้านบาท

แผนงานที่สาม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงาน หรือโครงการเพื่อรักษาการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ จำนวน 170,000 ล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ “ขุนคลัง” ดีดลูกคิด-พยากรณ์ว่า “เม็ดเงิน” จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน-พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี’64-65 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5

“พ.ร.ก.กู้เงิน เพิ่มเติมอีก 5 แสนล้าน เป็นกฎหมายคู่แฝดกับ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 พ.ศ. 2564 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท

“และ พ.ร.บ.รักษาเสถียรภาพระบบการเงินและความมั่นคงของเศรษฐกิจของประเทศอีก 4 แสนล้านบาท รวมแล้ว 1.25 ล้านล้านบาท”

“เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของการระบาดในอนาคต หรือการระบาดที่อาจจะทอดยาวออกไปอีกในครั้งนี้” นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ เทหมดหน้าตักสู้โควิดระลอก 3

กู้ขาดดุลทะลุ 3.8 ล้านล้าน

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังกู้เงินเพื่อ “ชดเชยการขาดดุล” งบประมาณ เนื่องจาก “รายจ่ายสูงกว่ารายได้” ติดต่อกัน 8 ปี ทะลุ 3,808,984 ล้านบาท ดังนี้

ปี 2558 จำนวน 250,000 ล้านบาท

ปี 2559 จำนวน 390,000 ล้านบาท

ปี 2560 จำนวน 390,000 ล้านบาท

ปี 2561 จำนวน 450,000 ล้านบาท

ปี 2562 จำนวน 450,000 ล้านบาท

ปี 2563 จำนวน 570,022 ล้านบาท

ปี 2564 จำนวน 608,962 ล้านบาท

และปี 2565 จำนวน 700,000 ล้านบาท

เมื่อต้อง “แบกหนี้” กว่า 8.47 ล้านล้านบาท หากไม่เกิด “อุบัติเหตุ” ภารกิจ “ประยุทธ์ 3” หลังโควิดจาง-ฟ้าหลังฝน


คงได้พิสูจน์ฝีมือ “หารายได้” เพื่อ “ชดใช้หนี้”